วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis)



 หลายๆ ท่าน คงรู้จักโรคไข้กาฬหลังแอ่น กันมากขึ้น จากการเสียชีวิตของตลกชื่อดัง คุณสายันต์ ดอกสะเดา เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ กันให้มากขึ้น เพื่อสามารถป้องกันและรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis)
       ที่มาของชื่อไข้กาฬหลังแอ่น (มีความหมายตามพจนานุกรมว่า “ไข้ติดเชื้อเฉีบบพลันของเยื่อหุ้มสมอง”)  เข้าใจว่าเรียกตามลักษณะอาการความรุนแรงของโรค  คือ  มีไข้และมีผื่นเป็นจุดแดง  จ้ำเขียว  หรือดำคล้ำตามผิวหนัง  ผู้ป่วยจะมีอาการคอแข็ง  หลังแอ่น  อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งชื่อโรคนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด..

       ไข้กาฬหลังแอ่น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ ไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria meningitides) มีรายงานพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่ที่สามารถก่อโรคในคน ได้แก่ ชนิด A,B,C,Y และ W135 ซึ่งอยู่ในลำคอของคนเรา คนที่แข็งแรงเชื้อจะอาศัยอยู่ในช่องปากและจมูก แต่ไม่แสดงอาการ เรียกว่า เป็นพาหะ (Carrier) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

การติดต่อของโรค
       ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ เชื้อโรคจะอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย เมื่อผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ ไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้ของร่วมกัน เช่น ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 

       ระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 2-10 วัน พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีสุขภาพอ่อนแอ

อาการและอาการแสดง
       ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด โดยเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อย เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า

       ทางระบบประสาท คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะปวดศรีษะมาก อาเจียน คอแข็ง หลังแอ่น อาจไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือสับสน อาจส่งผลกระทบไปถึงระบบการหายใจได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก ช็อค ความดันโลหิตต่ำร่วมด้วย และอาจเสียชีวืตได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการ

ภาวะโรคแทรกซ้อน
       ที่สำคัญคือ ภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อเข้ากระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย) ภาวะตกเลือด ในรายที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก ช็อค ความดันโลหิตต่ำร่วมด้วย และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการ ซึ่งอัตราตายสูงถึง 70-80% ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรง โรคลมชัก ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)

การวินิจฉัย
• ตรวจเลือด (CBC) จะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง
• ตรวจน้ำไขสันหลัง จะพบเซลล์ในน้ำไขสันหลังสูง
• ตรวจหาเชื้อจากเลือด เช่น การเพาะเชื้อ หรือการย้อมเชื้อจากตุ่มน้ำหรือเลือด

การรักษา
       เมื่อป่วยและสงสัยเป็นโรคนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกัน
1. สร้างภูมิต้านทานของร่างกาย โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
2. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน
3. หลีกเลี่ยงการติดต่อโรคจากการสัมผัสทางตรง ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ร่วมกับผู้อื่น และไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ หากไม่สามารถหลีก
    เลี่ยงได้ควรสวมผ้าปิดปาก -ปิดจมูก
4. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย
5. ผู้ที่ต้องเดินทางไปในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยแผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ (IC) โรงพยาบาลพญาไท 2 ติดต่อ 1975

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น