วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การตกเลือด (Hemorrhage)



การตกเลือด (Hemorrhage)    หมายถึงการที่เลือดไหลออกมาจากเส้นเลือดจำนวนมาก  เนื่องจากเส้นเลือดนั้นถูกทำลายฉีกขาด    หรือถูกตัดขาดโดยสาเหตุใด ๆ   ก็ตาม   ทำให้มีเลือดไหลออกจากเส้นเลือด   ถ้าเลือดไหลออกมาก  ๆ ทำให้ความดันเลือดต่ำ  ชีพจรเบา  เร็ว  ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดจากอาการช็อคและตายได้ 

โดยปกติคนเราจะมีเลือดในร่างกายทั้งหมดจำนวนประมาณ 5 ลิตร   หรือประมาณ 1 /13  ของน้ำหนักตัว  จำนวนเลือดอาจเพิ่มมากขึ้นได้  เมื่ออยู่บนที่สูง   ขณะออกกำลังกาย เมื่อรู้สึกตื่นเต้นหรือเมื่อตั้งครรภ์  และจำนวนเลือดจะลดน้อยลงได้  เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก    ในคนปกติถ้าเสียเลือดเพียงเล็กน้อยประมาณ 200-300 ซี.ซี  ร่างกายสามารถจะสร้างขึ้นมาทดแทนได้    แต่ถ้าเสียถึง 1.2 –1.5 ลิตร  ร่างกายจำเป็นต้องได้รับเลือดเข้ามาแทนที่   และจะมีอาการเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัดเจน  คือ  ซีดลง   มือเย็น  ชีพจรเบา  เป็นลมหน้ามืด   และช็อคได้ถ้าไม่ได้แก้ไข   พร้อมกับร่างกายมีการเลียเลือดต่อไปอีกถึง 1.5- 2.5 ลิตร    ก็อาจตายได้   ฉะนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่มีการตกเลือด    สิ่งสำคัญสิ่งแรกคือการทำให้เลือดหยุดไหล   ด้วยวิธีต่าง  ๆ  เรียกว่า  การห้ามเลือด 

ชนิดของการตกเลือดการตกเลือดของร่างกายมนุษย์นั้น   อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่  คือ1.   การตกเลือดตามระยะเวลาที่มีการตกเลือด2.  การตกเลือดตามตำแหน่งที่มีเลือดออก 

การตกเลือดตามระยะเวลาที่มีการตกเลือด
การตกเลือดชนิดนี้อาจแบ่งออกเป็น 3 ชนิด   ตามระยะดังนี้ 

1.1  ตกเลือดระยะแรก (Primary hemorrhage)   คือ  การที่มีเลือดออกทันทีในขณะที่เส้นเลือดถูกตัดหรือถูกทำลาย 

1.2  ตกเลือดระยะหลัง  (Reactionary hemorrhage) คือระยะที่เลือดออกมาภายนอกหลังจากเส้นเลือดถูกตัดหรือถูกทำลายเป็นเวลานานเช่น   การผ่าตัด   ในระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการช็อค   ความดันเลือดต่ำ    ทำให้เลือดไม่ออก   ผู้ผ่าตัดจึงมิได้จับผูกเส้นเลือด   เมื่อผู้ป่วยฟื้นขึ้น  ความดันเลือดสูงขึ้น   เลือดไหลเวียนดี  อาจทำให้มีการตกเลือดระยะหลังได้ 

1.3  ตกเลือดระยะที่สอง  (Secondary hemorrhage)   คือการที่มีเลือดออกจากเส้นเลือดที่ถูกทำลายโดยมีสาเหตุหรือโรคแทรกอื่น   ในระยะแรกเลือดไม่ออก เช่น    บาดแผลสกปรกมีเชื้อแบคทีเรีย   เชื้อแบคทีเรียนี้อาจทำให้แผลลุกลามและทำลายเส้นเลือดทำให้มีเลือดออกภายหลังได้ 

การตกเลือดตามตำแหน่งที่มีเลือดออก
การตกเลือดชนิดนี้แบ่งออกได้เป็น 2  ชนิด  คือ 
2.1   การตกเลือดภายใน  (Internal hemorrhage)   หรืออาจเรียกว่า  “เลือดตกใน”   คือ  เลือดออกจากเส้นเลือดภายในร่างกาย   ไม่ไหลออกมาภายนอกให้เห็นชัดเจน  ดังนั้น   การตกเลือดภายในบางครั้งจึงไม่ทราบว่ามีเลือดออก  หรือเลือดออกมากน้อยแค่ไหน   แต่สามารถทราบจากอาการแสดงและตรวจดูสัญญาณชีพ (Vital sign)  สาเหตุการตกเลือดภายใน   อาจเกิดจากอันตรายจากภายนอก  ทำให้การฉีกขาดของอวัยวะและเส้นเลือดภายใน  เช่น ถูกแทง  ถูกยิง   รถชน   เป็นเหตุให้อวัยวะภายในฉีกขาด    ตับแตก   ม้ามแตกหรืออาจเกิดจากพยาธิสภาพภายใน    ทำให้มีการตกเลือด  เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร   แผลที่ปอด  ลำไส้  หัวใจ  แผลในช่องท้อง   เป็นต้น   ในผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยหลายราย  แม้ว่าการตกเลือดไม่สามารถมองเห็นได้   ก็อาจมีอาการซึ่งตรวจทราบได้   เช่น   เลือดออกในกระเพาะอาหารผู้ป่วยจะอาเจียนออกเป็นเลือด  ถ้าเลือดเพิ่งออกใหม่ ๆ   เลือดที่ออกสีจะสด   เลือดออกในปอดจะเป็นผลทำให้เกิดการไอออกมาเป็นเลือดสีแดงสดและมีลักษณะเป็นฟอง    หรือเลือดออกในลำไส้จะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีดำ  เป็นต้น 

การตกเลือดภายในนั้น    โดยทั่วไปอาการมักรุนแรง  ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที   ซึ่งจำเป็นต้องนำผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด  เพราะการรักษาที่ได้ผลมีเพียงอย่างเดียวคือการผ่าตัด    ฉะนั้นการนำผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลควรให้การปฐมพยาบาลในระหว่างทางด้วย  ดังนี้ 

1.ให้ผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ  ทันทีบนเตียง   แคร่  หรือนอนเปล 

2.จัดท่านอน (Position)     ให้ผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยนอนศีรษะต่ำ    โดยยกปลายเท้าให้สูงเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองและ
ป้องกันอาการช็อค 

3.ห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย   หรือให้กระเป๋าน้ำร้อน 

4.ห้ามให้น้ำ   อาหาร  ยา   หรือเครื่องดื่มใด ๆ   แก่ผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วย   เพราะอาจต้องได้รับการผ่าตัดทำให้ไม่สะดวกในการดมยาสลบ  ถ้าหากจำเป็นให้อมก้อนน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ได้บ้างเล็กน้อย 

5.คอยสังเกตชีพจร  การหายใจตลอดเวลา  ถ้าหยุดหายใจ  รีบทำการช่วยหายใจ 

2.2 การตกเลือดภายนอก (External hemorrhage) คือการที่มีเลือดไหลออกมาภายนอกให้เห็นได้ชัดเจน  ซึ่งออกจากบาดแผลทางผิวหนัง  เช่น  บาดแผลที่แขน  ขา  ลำตัว   ศีรษะ  เป็นต้น การตกเลือดภายนอก   อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด   โดยเรียกชื่อตามเส้นเลือดที่ถูกทำลาย และเลือดที่ไหลออกมาคือ

1  เลือดออกจากเส้นเลือดแดง (Arterial hemorrhage)   คือ  เลือดที่ออกมาจากเส้นเลือดแดง  สังเกตได้จากลักษณะเลือดที่ออกจะมีสีแดงสด  พุ่งออกมาแรง  และพุ่งตามจังหวะการเต้นของหัวใจ   ซึ่งเป็นอันตรายมาก  เพราะถ้าเลือดไม่หยุดหรือไม่ได้รับการห้ามเลือดอย่างรวดเร็วแล้วผู้ป่วยอาจตายได้ภายในเวลา 3-4   นาที 

2  เลือดออกจากเส้นเลือดดำ (Venous hemorrhage)    คือ  เลือดที่ออกมาจากเส้นเลือดดำซึ่งมีผนังบางกว่าเส้นเลือดแดง  สังเกตได้จากลักษณะเลือดที่ออกจะมีสีแดงคล้ำ   ไหลช้า ๆ ไหลติดต่อกัน   ถ้าเป็นเส้นเลือดดำใหญ่    อาจพบว่ามีเลือดไหลพุ่ง    อันตรายที่พบขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดที่เสียไป

3   เลือดออกจากเส้นเลือดฝอย (Capillary hemorrhage)     คือเลือดที่ออกมาซึม ๆ ทางเส้นเลือดฝอย   ซึ่งเส้นเลือดขนาดเล็ก    คล้ายเส้นด้ายแผ่กระจายออกไปใต้ผิวหนังทั่วร่างกายจะเห็นได้จากบาดแผลผิวหนังถลอกตื้น ๆ   และเลือดมักจะหยุดไปเองได้ง่าย 
เส้นเลือดแดง (Arteries)
เส้นเลือดดำ (Veins)
เส้นเลือดฝอย (Capillaries)
เลือดพุ่งแรงเลือดไหลช้า ๆ ติดต่อกันเลือดไหลช้า ๆ ซึม ๆ
พุ่งตามจังหวะหัวใจเต้นเลือดมีสีแดงคล้ำหยุดไปเอง
เลือดมีสีแดงสด  
อาการของการตกเลือด  แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท    คือ
1.  อาการเฉพาะที่ 
คือ    การที่เลือดไหลออกมาให้เห็นภายนอกตำแหน่งของบาดแผลนั้นชัดเจน   ทำให้ทราบจำนวนเลือดที่ออกมา   ส่วนการตกเลือดภายในอาการเฉพาะที่อาจเห็นได้ไม่ชัดเจนต้องอาศัยอาการทั่ว ๆ  ไปเป็นสำคัญ

2.  อาการทั่วๆ ไป     
อาการตกเลือดจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการที่ร่างกายเสียเลือดไปมากหรือน้อยเพียงใด   ถ้าเลือดออกเร็วอาการก็ยิ่งมากขึ้น    เพราะร่างกายไม่อาจจะแก้ไขได้ทัน    แต่ถ้าเลือดออกช้า  ร่างกายอาจจะมีการปรับตัวเองให้เหมาะสมต่อการเสียเลือดได้  ซึ่งอาการโดยทั่วๆไป   ที่สังเกตเห็นได้มีดังต่อไปนี้คือ
2.1 มีอาการซีด  อาการซีดนี้สังเกตได้จากผิวหนังบริเวณริมฝีปาก   กระพุ้งแก้มในปากเล็บ  ที่เห็นได้ชัดเจนที่เปลือกตาด้านใน    โดยการเลิกเปลือกตาล่างดูจะเห็นมีสีซีด
2.2 เหงื่อออก มือเท้าเย็น  ซีด  กระหายน้ำมาก  บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น
2.3 มีอาการหน้ามืด  ตามัว  หูอื้อ   อ่อนเพลีย เป็นลม
2.4 ถ้าปอดเป็นแผลหรือกระเพาะอาหารมีแผล ผู้บาดเจ็บ/ผู้ป่วยไอหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด
2.5 มีการหายใจเร็วถี่ และหอบตื้น ๆ
2.6 หัวใจเต้นเร็ว  ชีพจรเร็วแต่แผ่วเบา  ถ้าตกเลือดมาก  ๆ  ชีพจรจะเบาลงมาก   และระยะการเต้นของชีพจรไม่สม่ำเสมอ  ในที่สุดจะคลำหาชีพจรไม่พบ
2.7 ม่านตาขยาย
2.8 มีอาการหมดสติ  และถ้าเลือดไหลไม่หยุดในที่สุดก็ถึงแก่ความตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น