วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำนานเทพพราหมณ์ ฮินดู

พระธรณี เทพีแห่งการให้กำเนิดและค้ำชูมนุษย์


พระธรณี  แม่พระธรณี หรือ พระศรีวสุนธรา ถือเป็นเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ที่ปรากฏในหลายตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์ ฮินดู หรือแม้กระทั่งพุทธศาสนา

ตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู พวกเขาจะให้ความเคารพแผ่นดินซึ่งเป็นสิ่งค้ำจุนสรรพสิ่งทั้งปวงบนโลกมนุษย์ แผ่นดินจึงเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดทุกสิ่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพสตรีจากธรรมชาติ โดยมีนามว่า “ธรณิธริตริ” ซึ่งแปลว่า “ผู้ค้ำจุนพระธรณี”

แม้พระธรณีจะไม่ค่อยมีรูปเคารพอย่างเช่นเทพองค์อื่น แต่ก็เป็นเทพเจ้าที่มีผู้ให้ความเคารพนับถือกันอย่างมากมาย เนื่องจากพระธรณีเป็นเทพที่สถิตย์อยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยส่วนใหญจะทำการบูชาพระธรณีด้วยการวางข้าว ผลไม้ และนมไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนพื้นดิน หรือบางแห่งอาจใช้เหล้าเป็นเครื่องสังเวยก็มี นอกจากนี้ ในทุกเช้าชาวฮินดูจะต้องทำการขอขมาพื้นดินโดยการวางเท้าลงบนพื้นดินก่อนจะลุกขึ้นยืน ส่วนวัวหรือควายที่ออกลูก ก็จะต้องปล่อยน้ำนมแม่วัวลงบนพื้นดินก่อนให้ลูกดื่มกินในครั้งแรกด้วย ในขณะที่ พวกชาวนาก็จะมีการขอให้พระธรณีคุ้มครองผืนนาและวัวควายของตน ส่วนในพระเวทก็มีการร้องขอให้พระธรณีช่วยคุ้มครองวิญญาณของคนตาย มีความเชื่อที่เล่าขานมาจากแคว้นปัญจาบว่า พระธรณีจะต้องนอนหลับเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในทุกเดือน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ชาวไร่ชาวนาจะหยุดทำงานในระยะเวลานี้ด้วย

หากพูดถึงตำนานที่เล่าถึงความเป็นมาของพระธรณี หรือ เทพแห่งแผ่นดิน อาจไม่ค่อยพบมีเรื่องราวปรากฏเหมือนดังเช่นเทพองค์อื่น หรือถ้ามีมีก็เป็นเรื่องราวที่ไม่ชัดเจน เช่น บางแห่งกล่าวว่าพระธรณีมีโอรสกับพระนารายณ์องค์หนึ่ง ชื่อว่า พระอังคาร หรือบางแห่งก็ว่าพระอังคารเป็นโอรสของพระศิวะกับพระธรณี ส่วนในคติพราหมณ์พบเพียงว่า พระธรณีเป็นชายาของพระธุรวะหรือดาวเหนือ

ในด้านของพุทธศาสนา พระแม่ธรณีเข้ามามีบทบาทโดยปรากฏกายขึ้นมาบีบน้ำจากมวยผมให้ท่วมพญามาร ที่เข้ามาขีดขวางการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามรายละเอียดที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้พระนิพนธ์ไว้ว่า

“แต่ในชาติอาตมะเป็นพระยาเวสสันดรชาติเดียวนั้น ก็ได้บำเพ็ญทานบารมีถึงบริจาคนางมัทรีเป็นอวสาน พื้นพสุธาก็กัมปนาการถึง 7 ครั้ง แลกาลบัดนี้ อาตมะนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์อาสน์ หมู่มารอริราชมาแวดล้อมยุทธการเป็นไฉนแผ่นพสุธาธารจึงดุษณีภาพอยู่ฉะนี้ แลพระยามารอ้างบริษัทแห่งตนให้เป็นกฏสักขีขานคำมุสา แลพื้นปฐพีอันปราศจากเจตนาได้สดับคำอาตมะในครั้งนี้จงรับเป็นสักขีพยานแห่งข้า แล้วเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาอันประดับด้วยจักรลักษณะอันงามดุจงวงไอยรารุ่งเรืองด้วยพระนขามีพรรณอันแดงดุจแก้วประพาฬออกจากห้องแห่งจีวร ครุวนาดุจวิชุลดาในอัมพรอันออกจากระหว่างห้องแห่งรัตวลาหก ยกพระดัชนีชี้เฉพาะพื้นมหินทรา จึงออกพระวาจาประกาศแก่นางพระธรณีว่า ดูก่อนวนิดาดลนารี ตั้งแต่อาตมะบำเพ็ญพระสมภารบารมีมาตราบเท่าถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดรราช ได้เสียสละบุตรทานบริจาคแลสัตตสดกมหาทานสมณะพราหมณาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะกระทำเป็นสักขีพยานในที่นี้ก็มิได้ มีแต่พสุนธารนารีนี้แลรู้เห็นเป็นพยานอันใหญ่ยิ่ง เป็นไฉนท่านจึงนิ่งมิได้เป็นพยานอาตมาในกาลบัดนี้ ในขณะนั้น นางพสุนธรีวนิดาก็มิอาจดำรงกายาอยู่ได้ ด้วยโพธิสมภารานุภาพยิ่งใหญ่แห่งพระมหาสัตว์ ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพียืนประดิษฐานเฉพาะพระพุทธังกุรราช เหมือนดุจร้องประกาศกราบทูลพระกรุณาว่าข้าแต่พระมหาบุรุษราช ข้าพระบาททราบซึ่งสมภารบารมีที่พระองค์สั่งสมอบรมบำเพ็ญมา แต่น้ำทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาข้าพระพุทธเจ้านี้ ก็มากกว่ามากประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะบิดกระแสใสสินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ แลนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตน อันว่ากระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศโมลีแห่งนางพสุนธรีเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศที่ทั้งปวงประดุจห้องมหาสาครสมุทร พระผู้เป็นเจ้ารักขิตาจารย์จึงกล่าวสารพระคาถาอรรถาธิบายความก็เหมือนนัยกล่าวแล้วแต่หลัง

ครั้งนั้น หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาตนาการไปสิ้น ส่วนคิรีเมขลคชินทรที่นั่งทรงองค์พระยาวัสวดีก็มีบาทาอันพลาดมิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร อันว่าระเบียบแห่งฉัตรธวัชจามรทั้งหลาย ก็ทักทบท่าวทำลายล้มลงเกลื่อนกลาดและพระยามาราธิราชได้ทัศนาการเห็นมหัศจรรย์ ดังนั้น ก็บันดาลจิตพิศวงครั่นคร้ามขามพระเดชพระคุณเป็นอันมาก พระคันถรจนาจารย์จึงกล่าวพระคาถาสรรเสริญคุณานุภาพโพธิสัตว์อรรถาธิบายความก็ซ้ำหนหลัง

ครั้งนั้นมหาปฐพีก็ป่วนปั่นปานประหนึ่งว่าจักรแห่งนายช่างหม้อบันลือศัพท์นฤนาทหวาดไหวสะเทือนสะท้าน เบื้องบนอากาศก็นฤโฆษนาการ เสียงมหาเมฆครืนครั่นปิ่มปานจะทำลายภูผาทั้งหลาย มีสัตตภัณฑ์บรรพต เป็นต้น ก็วิจลจลาการขานทรัพย์สำเนียงกึกก้องทั่วทั้งท้องจักรวาล ก็บันดาลโกลาหลทั่วสกลดังสะท้าน ปานดุจเสียงป่าไผ่อันไหม้ด้วยเปลวอัคคี ทั้งเทวทุนทุภีกลองสวรรค์ก็บันลือลั่นไปเอง เสียงครืนเครงดุจวีหิลาชอันสาดทิ้ง ถูกกระเบื้องอันเรืองโรจน์ร้อนในกองอัคนี การอัสนีบาตก็ประหารลงเปรี้ยง ๆ เพียงพื้นแผ่นปฐพีจะพังภาคดังห่าฝน ถ่านเพลิงตกต้องพสุธาดลดำเกิงแสงสว่างหมู่มารทั้งหลายต่าง ๆ ตระหนกตกประหม่า กลัวพระเดชานุภาพแพ้พ่าย แตกขจัดขจายหนีไปในทิศานุทิศทั้งปวงมิได้เศษ แลพระยามาราธิราชก็กลัวพระเดชบารมี ปราศจากที่พึ่งที่พำนักซ่อนเร้นให้พ้นภัยหฤทัย ท้อระทดสลดสังเวชจึงออกพระโอษฐ์สรรเสริญพระเดชพระคุณพระมหาบุรุษราชว่า ดังอาตมาจินตนาการอันว่าผลทานศีลสรรพบารมีแห่งพระสิทธัตถกุมารนี้ ปรากฏอาจให้บังเกิดมหิทธฤทธิ์สำเร็จกิจมโนรถปรารถนาทุกประการ มีพระกมลเบิกบานแผ่ไปด้วยประสาทโสมนัส จึงทิ้งเสียซึ่งสรรพาวุธประนมหัตถ์ทั้ง 2,000 อัญชลีกรนมัสการ ก็กล่าวสารพระคาถาว่า นโม เต ปุริสาชญญ เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ปุริสาชาไนยชาติเป็นอุดมบุรุษราชในโลกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายวันทนาการชุลีพร้อมด้วยทวารทั้ง 3 คือกายวจีมโนประณามประณตในบทบงกชยุคลบาท บุคคลผู้ใดในมนุษย์โลกธาตุกับทั้งเทวโลก ที่จะปูนเปรียบประเสริฐเสมอพระองค์คงเทียมเทียบนั้นมิได้มี พระองค์ได้ตรัสเป็นพระศรีสรรเพชญ์เสร็จแจ้งจตุราริยสัจจ์ศาสดาจารย์มีพระเดชครอบงำชำนะหมู่มาร เป็นปิ่นปราชญ์ฉลาดในอนุสัยแห่งสรรพสัตวโลกจะข้ามขนนิกรเวไนย์ให้พ้นจตุรโอฆกันดารบรรลุฝั่งฟากอมฤตมหานฤพานอันเกษมสุขปราศจากสังสารทุกข์ในครั้งนี้ แลพระยาวัสวดีมารโถมนาการพระคุณพระมหาบุรุษราชด้วยจิตประสาทเลื่อมใส ผลกุศลนั้นจะตกแต่งให้ได้ตรัสแก่พระปัจเจกโพธิญาณในอนาคตกาลภายหน้า เมื่อพระยามารกล่าวสัมภาวนากถาสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ แล้วก็นิวัตตนาการสู่สกลฐานเทวพิภพ”

พระแม่คงคา เทพผู้รักษาสายน้ำ


พระแม่คงคา

พระแม่คงคาจะลักษณะโดยทั่วไปก็คือ มีสี่กร มีพาหนะเป็นจระเข้ มีอาวุธเป็นตรีศูลย์ และมีหม้อกลาฮัมและหม้อน้ำ แต่บางครั้งก็มีสองกรและทรงอาวุธเป็นตรีศูลย์ โดยส่วนมากจะเห็นพระแม่คงคาเป็นองค์เป็นสตรีที่ยื่นหน้าออกมาจากมวยพระเกศของพระศิวะเจ้า และที่ปากมีสายน้ำพ่นออกมา

พระแม่คงคาเป็นราชธิดาของพระหิมวัตและนางเมนกา หรือพระนางนั่นเป็นพี่สาวของพระแม่อุมาเทวี พระแม่คงคามีหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาสายน้ำคงคา อันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากสรวงสวรรค์ ซึ่งในอินเดียก็มีแม่น้ำหลายสายที่เชื่อว่ามีประวัติความเป็นมามีซับซ้อน เช่น

แม่น้ำสรัสวตี (ถูกเชื่อกันว่าไหลมาจากพรหมโลก)

แม่น้ำซันโตชี(มีผู้ดูแลเป็นพระแม่ซันโตชีธิดาของพระพิฆเนศ)

แม่น้ำคงคา(มีผู้ดูแลเป็นพระแม่คงคา)

แม่น้ำยมุนาหรือยมนา(ถูกเชื่อกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์โดยมีเจ้าของคือพระวิษณุเทพ)

นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า น้ำจากแม่น้ำคงคาถือเป็นน้ำที่วิเศษที่สามารถชำระล้างบาปของมนุษย์ทั้งหลายได้ โดยแม่น้ำที่ใช้ในการชำระบาปของมนุษย์ได้จะมีอยู่ด้วยกันสองสายคือ แม่น้ำคงคา และ แม่น้ำยมนา



กล่าวถึงบริเวณต้นน้ำแห่งเขายาดาคีรีของท่านฤาษียาดาชี ซึ่งองค์ลักษมีนาราซิมฮาประทับบริเวณนี้ เมื่อ จะประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะต้องนำน้ำจากแม่น้ำคงคาแห่งนี้เข้าไปร่วมในพิธีด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วบรรดาฤาษีในประเทศอินเดียจะมีหม้อน้ำเป็นเครื่องมือคู่กายอยู่เสมอ ซึ่งภายในหม้อน้ำจะบรรจุน้ำจากแม่น้ำคงคาเอาไว้

บริเวณที่แม่น้ำคงคาและยมนาไหลมาบรรจบกัน ถือว่าเป็นบริเวณที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด ที่แห่งนี้มีชื่อว่า “ตริเวนี” หรือที่คนไทยมักชอบเรียกกันว่า “จุฬาตรีคูณ” โดยมีความเชื่อเพิ่มเติมอีกด้วยว่า แม่น้ำสรัสวตีที่ไหลมาจากใต้พื้นดินก็ไหลมารวมกันที่นี่ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวฮินดูจึงนิยมใช้น้ำจากแม่น้ำคงคาเพื่อนำไปสรงน้ำพระพุทธรูป หรือใช้อาบกินเพื่อความเป็นมงคล

ตำนานกล่าวไว้ว่า เดิมทีนั้นแม่คงคาไหลเวียนไม่ไปไหนจากนิ้วเท้าของพระวิษณุ แต่สาเหตุที่พระคงคาเปลี่ยนทิศทางไหลลงมาที่โลกมนุษย์ก็เพราะว่า พระแม่คงคาถูกท้าวสักราชอัญเชิญลงมาสู่โลกมนุษย์มานานแล้วหลายชั่วคน จนสำเร็จในสมัยของท้าวภคีรถ แต่ด้วยอิทธิฤทธิความแรงของพระแม่คงคา ซึ่งมีผลให้โลกอาจกล่มสลายได้เลย พระศิวะเจ้าจึงได้รองรับพระแม่คงคาด้วยมวยพระเกศก่อนที่จะปล่อยลงสู่โลกมนุษย์

ส่วนอีกตำนานหนึ่งกล่าวไว้ว่า ด้วยความที่เดิมทีโลกมนุษย์มีความแห้งแล้งอย่างหนัก ยังผลให้มนุษย์และสัตว์ล้มตายจำนวนมากมาย เนื่องจากพระแม่คงคาไม่ยอมให้น้ำไหลลงมาสู่โลกมนุษย์ เมื่อบรรดาเทวดาเห็นดังนั้น จึงไปทูลเชิญให้พระศิวะเจ้ามาทรงจัดการเรื่องนี้ พระองค์จึงทรงไปคิดตามให้พระแม่คงคากลับมา แล้วบังคับให้พระแม่คงคาให้สายน้ำคืนแก่มนุษย์ แต่พระแม่ไม่ยอมทำตาม พระองค์จึงทรงใช้พระเกศของตนรัดพระแม่คงคา จนในมี่สุด พระนางก็ยอมปล่อยสายน้ำออกมาคืนสู่โลกมนุษย์

ในขณะที่บางตำนานกล่าวไว้ว่า พระศิวะเจ้าและพระแม่คงคาแอบเป็นสามีภรรยากันแบบลับๆ ด้วยความกลัวว่าพระแม่อุมาจะทรงพิโรธหารู้ความ พระศิวะเจ้าจึงซ่อนพระแม่เอาไว้ในมวยพระเกศ และให้พระแม่ปล่อยน้ำออกมาจากพระเกศของพระองค์ เพื่อเป็นการล้างบาปที่ทั้งสองได้ทรงทำร่วมกัน

พระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์


พระอินทร์ หรือที่รู้จักกันอีกหลายๆชื่อ เช่น ท้าวสหัสมนัยน์ ท้าวโกสีย์ ท้าวสักกะ เทวราช อมรินทร์ ศักรินทร์ มัฆวาน หรือเพรชรปาณี เป็นต้น

พระอินทร์มีลักษณะคล้ายพระนารายณ์ มีรูปกายที่สวยงาม และมีผิวสีเขียว แต่ในบางครั้งจะเปลี่ยนเป็นสีทองจนถึงขาวนวล ตามแต่โอกาส พระหัตถ์ของพระอินทร์จะถือวัชระเพื่อใช้ปราบ พฤตาสูร หรือ ผีร้ายแห่งความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังมีศาสตราวุธอื่นๆอีก เช่น ศรศักรธนู พระขรรค์ ปรัญชะ ขอ และร่างแห

พาหนะของพระอินทร์ คือ รถเทียมม้าสีแดง และม้าแก้วทรงสีขาว ชื่อว่า อุจไฉศรพ  ซึ่งเกิดจากเกษียรสมุทร อีกทั้งยังมีช้างทรง 3 เศียร (แต่เดิมมีถึง 33 เศียร) นามว่า คชาเอราวัณ หรือซึ่งปกติจะเป็นเทพบุตรผู้หล่อเหลา และชอบดื่มเหล้า และจะแปลงกายเป็นช้างเอราวัณเมื่อพระอินทร์จะไปไหน

พระอินทร์ มีมเหสีหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นางสุธรรมา สุชาดา สุนันทา สุจิตรา และยังมีนางฟ้าเป็นชายาอีกเก้าสิบสองนาง รวมถึงมีนางบำเรออีกยี่สิบสี่ล้านนาง โดยในสมัยพระพุทธเจ้าพระอินทร์ได้ทรงดีดพิณสามสายถวายพระสติพระโพธิสัตว์ในการทำทุกขกิริยา

ตั้งแต่ในสมัยโบราณ ศาสนาพราหมณ์ หรือ ศาสนาฮินดู จะนับถือให้พระอินทร์เป็นใหญ่สูงสุด โดยศาสนาพราหมณ์ฮินดูถือว่าพระอินทร์ถือเป็นเทพเจ้าองค์แรกสุดของจวบจนถึงปัจจุบัน การบูชาพระอินทร์ก็ยังคงมีอยู่ในหมู่ผู้ศรัทธาทั่วไป เพียงแต่ในศาสนาฮินดูอาจถูกลดบทบาทลง และยกย่องพระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และ พระศิวะ (พระอิศวร) ขึ้นมาเป็นใหญ่แทน

เมื่อครั้งสมัยโบราณ พระอินทร์ถือเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่มีอานุภาพสูงที่สุดในเหล่าบรรดาเทพ พระองค์สามารถดลบันดาลให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล บันดาลให้พืชพรรณงดงาม และบันดาลให้เกิดภัยทางธรรมชาติที่เป็นภัยอันร้ายแรงได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพายุ ฝนตก น้ำท่วม ฟ้าร้อง หรือฟ้าผ่า เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะพระอินทร์มีวัชระหรือสายฟ้าเป็นศาสตราวุธคู่กาย ซึ่งอาวุธนี้สามารถสร้างสายฝน ฟ้าผ่า หรือฟ้าร้องตามที่ต้องการได้ วัชระเป็นศาสตราวุธที่มีอำนาจทรงพลังเป็นอย่างมาก สามารถผ่ามหาสมุทร ผ่าภูเขาได้ หรือผ่าท้องฟ้าได้ดั่งใจนึก

เมื่อกล่าวถึงพระวรกายของพระอินทร์ ก็มีตำรากล่าวว่าพระอินทร์มีกายสีเหลืองทองสดใส ส่วนอีกตำรากล่าวว่าพระอินทร์มีผิวสีแดงเข้ม สวมอาภรณ์สะอาดสะอ้าน สวยสดงดงาม  มีเครื่องประดับเป็นเพชรนิลจินดามากมาย เช่น สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน มงกุฎอันตระการตา เป็นต้น และมีสร้อยเป็นงู  เชื่อกันว่าศิลปินผู้ใดที่วาดรูปพระอินทร์ได้งดงามจะถือกันว่าเป็นมหากุศลอย่างยิ่งของบุคคลคนนั้น

พระอินทร์มีความสามารถในการแปลงกายได้สารพัด อีกทั้งยังล่องหนไปไหนมาไหนก็ได้ พระอินทร์สามารถเนรมิตให้ร่างกายเล็กเท่ามด หรือเนรมิตให้ร่างกายยิ่งใหญ่มโหฬารดั่งภูเขาก็ได้ตามที่ใจปรารถนา

พระอินทร์จึงถือเป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือชีวิตของสรรพสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย พระอินทร์จึงเป็นเทพที่จิตใจประเสริฐ พระองค์มีหน้าที่คอยคุ้มครองผู้ที่กระทำความดีอยู่เสมอ ปกป้องดูแลโลกให้พ้นจากสิ่งอันตรายเลวร้ายต่างๆ  และยังเป็นผู้นำเหล่าเทพเจ้าให้ไปกำจัดอสูรร้ายที่ตั้งใจเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่โลกมนุษย์

นอกเหนือจากศาสนาพราหมณ์แล้ว ศาสนาพุทธก็นับถือให้พระอินทร์เป็นเทพผู้รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ยงถึง 5,000 ปี เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากพระอินทร์เป็นถือเทวกษัตริย์ ซึ่งหมายความว่า เป็นราชาแห่งเหล่าทวยเทพ ผู้มีอำนาจในการทำลายมารที่คอยนำพาพระพุทธศาสนาไปในทางเสื่อมเสีย

เมื่อพระอินทร์ได้ทรงสร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่บนสรวงสวรรค์แล้ว พระองค์ก็ทรงเนรมิตให้เกิดเป็นเหล่าเทวดาที่อยู่บนสรวงสวรรค์อย่างมีความสุข และปราศจากความทุกข์เศร้าใดๆ

อย่างไรก็ตาม พระอินทร์มีศัตรูคู่อาฆาตที่สำคัญที่สุดคือ งูยักษ์วริตรา ทั้งสองได้ทำสงครามกันหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็กินระยะเวลาอันแสนยาวนาน แต่ในทุกๆครั้ง พระอินทร์ก็จะเป็นฝ่ายได้รับชนะเสมอ ทำให้พระอินทร์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ธรรมะ” ส่วนงูยักษ์เป็นสัญลักษณ์ของ “อธรรม” ซึ่งอยู่คู่กันอย่างไม่มีวันดับสูญได้เลย

ตำรากล่าวถึงท้าวสักกะเทวราช ซึ่งเป็นอีกพระนามหนึ่งของพระอินทร์ ไว้ว่า พระอินทร์เป็นผู้ที่เกิดมาจากผู้มีจิตใจเมตตาที่ได้ร่วมกันสร้างเส้นทางและศาลาเพื่อถวายเป็นทานจำนวน 33 คน  เมื่อผู้ใจเมตตาเหล่านั้นเสียชีวิตไปก็ไปเกิดเป็นเทวดา พระอินทร์จึงเกิดจากการที่เทวดาเหล่านี้ได้รวมร่างกัน ในขณะที่ ช้างทรง 33 เศียรของพระอินทร์ ก็ใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงผู้กระทำคุณความดีทั้ง 33 คนนั่นเอง

กล่าวกันว่าพระอาสน์ หรือพระที่นั่งของพระอินทร์จะมีคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง กล่าวคือ เมื่อใดที่พระอาสน์ร้อนขึ้นมา แสดงว่า ขณะนั้นโลกมนุษย์กำลังเกิดเหตุร้าย หรือมีอสูรออกอาละวาด เมื่อนั้น พระอินทร์ก็จะเสร็จออกจากสรวงสวรรค์ และแปลงกายเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงกำยำ เพื่อลงมาปราบอสูรให้หมดสิ้นไป

เชื่อว่าผู้ใดที่ได้เคยประกอบความดีบนโลกมนุษย์ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว ก็จะไปเกิดเป็นเทวดา และประทับอยู่บนสรวงสวรรค์อันเป็นวิมานของพระอินทร์

พระขันทกุมาร มหาเทพแห่งนักรบแห่งสวรรค์


พระขันทกุมาร เป็นมหาเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศ โดยในประเทศอินเดียจะเรียกพระขันทกุมารว่า ‘สกันทะ’ หรือแปลว่า ผู้ทำลาย  หรือผู้โลดเต้น  บางครั้ง อาจเรียกว่า ‘กรรตติเกยะ(บางแห่งเขียนว่า การัตติเกยะ)’ ส่วนทางอินเดียตอนใต้ จะเรียกกันว่า ‘สุพราหมัณเย’
ตามหมู่บ้านต่างๆในประเทศอินเดีย พระขันทกุมารจะเป็นที่เคารพนับถือมาก โดยมักจะเห็นได้ว่า แทบทุกหมู่บ้านจะนิยมตั้งศาลเพื่อสักการะบูชาพระขันธกุมาร
รูปนี้แสดงถึง 2 พี่น้อง อันได้แก่ พระพิฆเนศ และ พระขันทกุมาร บางตำรากล่าวไว้ว่า พระพิฆเนศเป็นน้องชาย ในขณะที่บางตำราก็ว่าพระพิฆเนศเป็นพี่ชาย
ตำนานกล่าวไว้ว่า พระขันธกุมาร (ขันทกุมาร) เป็นโอรสระหว่าง พระศิวะเทพ และ พระนางปราวตี (พระแม่อุมา) พระองค์ประสูติจากน้ำเชื้อของพระศิวะมหาเทพที่ร่วงหล่นลงมาสู่พื้นธรณี ทำให้ยากที่จะพิสูจน์ว่า ระหว่างพระพิฆเนศและพระขันธกุมาร ใครเป็นพี่หรือใครเป็นน้อง
สำหรับประวัติเทวกำเนิดของ พระขันทกุมาร นั้น ไม่ซับซ้อนเหมือนเทพเจ้าองค์อื่นๆ กล่าวกันไว้ว่า พระขันทกุมารเป็นหนุ่มรูปงามที่มี 6 พักตร์ (แม้ว่าบางแห่งวาดเป็นพระพักตร์เดียว) และมี 12 กร ส่วนผิวพรรณนั้นงดงามราวกับดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ แต่รูปร่างสง่างามดุจพระสุริยะเทพ
พระขันทกุมารเกิดมาเพื่อปราบอสูรที่ชื่อ ตาระกาสูร ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นตรีปุระ อสูรตนนี้มีความร้ายกาจเนื่องจากมีตบะที่แรงกล้า เพราะได้ทำสมาธิอย่างเข้มงวดมาเป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปีสวรรค์ และสามารถบำเพ็ญฌานบารมีจนร้อนไปถึงพรหมโลก อีกทั้งยังไม่เกรงกลัวพระบารมีของพระพรหม เพราะคิดว่าตนเองก็เป็นหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุให้จักรวาลโกลาหลอลหม่านไปทั่ว
การบำเพ็ญฌานบารมีของตาระกาสูรนั้น ทำให้พระพรหมอดทนไม่ได้ จึงต้องรีบเสด็จมาหาอสูรเพื่อประทานพรตามขอ พรที่อสูรตนนี้ขอแก่พระพรหม ก็คือ ขอให้ตนมีชีวิตเป็นอมตะ แข็งแกร่งจนไม่มีผู้ใดในตรีภพต้านทานได้ อีกทั้งต้องไม่มีใครสามารถสังหารเขาได้ นอกเสียจากโอรสของพระศิวะเทพ ซึ่งเหตุผลที่ขอพรไปเช่นนี้ก็เพราะล่วงรู้ความลับมาว่า พระศิวะกับพระแม่อุมาเทวียังไม่มีโอรสด้วยกัน
หลังจากที่ตาระกาสูรได้รับพรจากพระพรหมแล้ว ก็เริ่มทำตัวอันธพาลโดยการออกอาละวาดไปทั่วจักรวาลทันที  เริ่มต้นจากการยึดวิมาน และกวาดทรัพย์สินของพระอินทร์ไปเสียจนหมด อีกทั้งยังบังคับให้พระฤาษีมอบโคกามเกนุ ซึ่งเป็นโคที่สามารถบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างแก่เจ้าของได้ทั้งหมด รวมไปถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ  เช่น บังคับให้พระอาทิตย์ไร้แสงและไร้ความร้อน บังคับให้พระจันทร์ไม่มีวันหายไป หรือบังคับให้เกิดพายุพัดโหมกระหน่ำและเปลี่ยนทิศตามคำสั่งของตน ซึ่งทุกๆการกระทำยังผลให้โลกเกิดความวุ่นวายเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
กล่าวถึงฝ่ายเทวดาทั้งหลายอันมี พระวิษณุเทพ เป็นใหญ่ เหล่าเทวดาได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระศิวะเทพที่พระทวารประทับชั้นใน และพร้อมกันเปล่งเสียงเพื่อสรรเสริญในพระบารมีแห่งมหาเทวะ คราวนั้นถึงกับทำให้พระศิวะต้องทรงผละพระวรกายปรากฎกายต่อเบื้องหน้าเทพทั้งหลาย เมื่อพระองค์ทรงเห็นใบหน้าอันแสนเศร้าหมองของเทวดา จึงได้ไต่ถามว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น
ฝ่ายวิษณุเทพผู้เป็นใหญ่ที่สุดจึงได้เล่าเรื่องราวของอสูรตาระกาที่ได้รับพรจากพระพรหมให้มีชีวิตอมตะ และมีอำนาจเหนือใคร มีเพียงโอรสของพระศิวะเท่านั้นที่จะสามารถสังหารอสูรตัวนี้ได้  ฝ่ายเทพทั้งหลายจึงตั้งหน้าตั้งตารอการประสูติของโอรสแห่งพระศิวะอยู่นานนับพันปี และได้มาเข้าเฝ้าเพื่อขอพึ่งบารมีของพระศิวะเทพ
เมื่อได้ฟังดังนั้น พระศิวะมหาเทพ ก็ได้ทรงแบ่งน้ำเชื้อที่มีความร้อนเหมือนไฟแห่งการทำลายล้างออกมาหนึ่งหยด และปล่อยร่วงลงสู่พื้นดิน แต่ด้วยความรีบร้อน พระอัคนีจึงได้รีบแปลงกายเป็นนกเขา แล้วกลืนเอาน้ำเชื้อนั้นเข้าไป ด้วยความร้อนแรงแห่งน้ำเชื้อจนแทบทนไม่ได้ ทำให้พระอัคนีเกิดอาการร้อนรน พระศิวะจึงบอกให้ปล่อยน้ำเชื้อไปฝากไว้ในครรภ์ของผู้หญิง แต่ต้องใส่ในครรภ์ของผู้หญิงที่ได้อาบน้ำในวันแรกของเช้าตรู่เดือนมาฆะเท่านั้น
ในวันนั้น ได้มีภริยาของฤาษีทั้ง 7 ตนมาอาบน้ำพอดี ปรากฎว่าภริยาทั้ง 6 คนของฤาษีที่ลงอาบน้ำ ได้ถูกน้ำเชื้อที่นกเขาคายไว้ แทรกซึมเข้าสู่ร่างกายไปตามรูขุมขน จนทำให้นางทั้งหกรู้สึกร้อนรนและทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก  และได้ถูกเหล่าฤาษีขับไล่ออกไปจากอาศรม จากนั้นจึงทำลายน้ำเชื้อตัวอ่อนทิ้ง แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งโยคะที่เทือกเขาหิมาลัย เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทรมาน โดยการเหวี่ยงตัวอ่อนลงไปที่แม่น้ำคงคา เช่นเดียวกันกับ พระแม่คงคา ที่ได้เหวี่ยงเอาตัวอ่อนนี้ขึ้นไปที่พงหญ้า การกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการชุบตัวจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ปรากฎเป็นเด็กทารกน้อยขึ้นมาที่พงหญ้านั้น
เมื่อโอรสแห่งพระศิวะเทพได้ถือกำเนิด พระพรหมก็ทรงรับรู้ได้ด้วยญาณ และให้พระฤาษีวิศวามิตรเดินทางไปประกอบพิธีให้แก่โอรสน้อยแห่งศิวะเทพ ทารกคนนี้มีความพิเศษ สามารถพูดได้ตั้งแต่ยังแบเบาะว่า “ด้วยประสงค์ของพระศิวะเทพที่ส่งท่านมายังที่นี้ ขอให้ท่านฤาษีจงประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อชำระร่างกายของข้า ให้บริสุทธิ์ตามกฎแห่งพระเวทที่วางไว้เถิด”
กล่าวถึงฝ่ายพระอัคนีที่สมัยเคยจำแลงกายเป็นนกเขาและอุ้มน้ำเชื้อไว้ ก็ได้เดินทางตามมาด้วย และได้ถวายคฑาศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระองค์ เมื่อทารกได้รับอาวุธ พระขันทกุมารก็เหาะขึ้นไปบนยอดเขาแห่งหนึ่งทันที เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงพลังอำนาจแห่งตน จากนั้นก็ใช้คฑาฟาดฟันจนภูเขาถล่มทลายลงในทันตา และเมื่อยอดเขาแยกออก ก็ได้ปรากฎกายปีศาจ 10 โกฏิตนออกจำนวนมาก แต่พระองค์ก็สังหารจนหมดสิ้น
เมื่อ นางกฤตติกา (กลุ่มดาวทั้ง 6 ดวง) ได้ลงมาอาบน้ำ แล้วแลเห็นกอหญ้ามีกุมารน้อยนอนอยู่ จึงนำเอากุมารไปเลี้ยงดูด้วยความรักใคร่ และเมื่อกลับมาถึงดินแดนของนางทั้งหก กุมารจึงได้แยกร่างออกเป็น 6 พระองค์ เพื่อไม่ให้แม่นมทั้ง 6 เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ  ซึ่งบางตำนานอาจบอกว่ามีถึง 6 พระพักตร์ในร่างเดียว แต่ด้วยเหตุที่เป็นลูกที่รักยิ่งของนางการัตตี พระองค์จึงได้รับนามว่า พระการัตตีเกยะ (Kaitikeya)
ในขณะเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดเหตุแปลกประหลาดขึ้นกับพระนางปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) กล่าวคือ ต้านมทั้งสองข้างมีน้ำนมไหลออกมา นางจึงได้ถามความกับพระศิวะ และทราบเรื่องน้ำเชื้อที่หล่นบนผืนดิน ซึ่งส่งผลให้นางมีน้ำนมไหลอยู่เช่นนี้ เมื่อรับรู้แล้วว่าโอรสถือกำเนิดแล้ว แต่กลับไม่ว่าอยู่แห่งหนใด พระศิวะจึงมีคำสั่งให้ผู้ใดที่ครอบครองกุมารอยู่ รีบเอามาคืนโดยด่วน มิฉะนั้นจะได้รับโทษอย่างหนัก
พระศิวะเทพและพระอุมาเทวี เริ่มไต่ถามความจริงจากหมู่เทพ โดยเริ่มถามจากพระพรหม และไล่เรียงไปจนมาถึงกลุ่มดาวทั้งหก ซึ่งในที่สุดก็ได้รู้ความจริง พระศิวะเทพยินดีเป็นอย่างมาก ที่นางทั้งหกได้รับโอรสของพระองค์ไปดูแลเป็นอย่างดี จึงได้ส่งคณะเทพบริวารไปทูลเชิญกุมารให้กลับยังเขาไกรลาส
ในวันเสด็จกลับนั้น พระนางปราวตีได้จัดส่งราชรถที่สร้างโดยพระวิศวกรรมไปรับ พระโอรสจึงเสด็จกลับมาพร้อมกับพระแม่กฤตติกาและ นนทิเกศวร และเมื่อราชรถมาถึงเขา ณ เขาไกรลาส เทพเทวดาทุกชั้นฟ้าก็เสด็จมาอำนวยชัย ต้อนรับกันอย่างเอิกเกริก ด้วยการประโคมดนตรีเป่าสังข์ และมีการนำเอาหม้อน้ำหลายร้อยใบที่บรรจุแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ มาชำระล้างร่างกายให้แก่กับกุมาร
หมุมาน เทพลิงแห่งความซื่อสัตย์

หนุมาน เป็นลิงเผือกที่มีกายเป็นสีขาว และมีลักษณะพิเศษตรงที่มีกุณฑลขนเพชร มีเขี้ยวอยู่กลางเพดานปาก  สามารถแผลงฤทธิ์ให้มี ๔ หน้า ๘ มือได้ อีกทั้งยังสามารถหาวเป็นดาวเป็นเดือนได้ด้วย หนุมานมีตรีเพชร หรือสามง่ามเป็นอาวุธประจำตัว และจะมีไว้เพื่อใช้รบกับยักษ์ตัวสำคัญๆ
หนุมานเป็นทหารที่มีความเก่งกล้ามาก มีความสามารถในการเรียนรู้ ว่องไว ทั้งยังแปลงกาย หายตัว และไม่มีวันตาย แม้ว่าจะถูกอาวุธของศัตรูทำร้าย แต่หากมีอากาศพัดผ่านมาก็จะฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง
หนุมาน เป็นเทพลิงที่ถือกำเนิดจากนางอัญจนา ผู้เป็นราชินีลิง และมีพระบิดาคือ พระวายุ เทพแห่งลม ทำให้หนุมานสามารถเหาะได้
หนุมานเป็นผู้ช่วยของพระวิษณุเมื่อครั้งที่พระองค์อวตารเป็นพระราม ต้นกำเนิดของหนุมานนั้นถือว่ามีหลายเรื่อง ว่ากันว่าพระบิดาของพระรามได้จัดพิธีขอโอรส โดยให้พระมเหสีทั้งสามเสวยขนมองค์ละ ๑ ชิ้น นางไกษเกษีได้รับขนมเป็นองค์สุดท้ายเนื่องจากมีชันษาอ่อนที่สุด  แต่เนื่องจากพระนางไม่ชื่นชอบขนมนี้ จึงเมินพระพักตร์หนี พอดีกับที่มีนกเหยี่ยวตัวเล็กมาบินโฉบไปพอดี
นกเหยี่ยวบินเข้าไปในป่า และพบกับนางอัญจนาซึ่งขณะนั้นถูกสาปให้เป็นลิง ขณะนั้นนางอัญจนากำลังสวดวิงวอนขอบุตรอยู่ นกเหยี่ยวจึงได้ปล่อยขนมลงไป โดยมีพระวายุช่วยพัดพาขนมให้ไปตกที่มือของนาง จากนั้น พระศิวะจึงปรากฎร่างขึ้นมา พร้อมบอกให้นางเสวยขนมเข้าไป หลังจากเสวยแล้ว นางอัญจนาจึงตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมาเป็นหนุมาน และทันทีที่หนุมานกำเนิดขึ้นมาก็เกิดอาการหิวทันที ทำให้มารดารู้สึกไม่พอใจในหนุมานนัก
ครั้นเมื่อหนุมานเห็นดวงอาทิตย์ ก็คิดว่าเป็นผลไม้ จึงได้กระโดดตามไปกิน แต่ดวงอาทิตย์ก็เคลื่อนที่หนีไป หนุมาน ยังคงไล่ตามดวงอาทิตย์ต่อไปจนไกลขึ้นไปถึงสวรรค์ของพระอินทร์ พระอินทร์จึงทรงขว้างวัชระใส่ขากรรไกรหนุมาน ทำให้หนุมานล่วงหล่นลงมาบนโลกอีกครั้ง พระวายุผู้เป็นบิดารู้สึกโกรธ จึงคิดจะแก้แค้นให้หนุมาน โดยการเข้าไปสิงอยู่ในร่างของเหล่าเทพเจ้า และทำให้เกิดอาการจุกเสียด สุดท้าย พระอินทร์ก็ต้องขอขมากับพระวายุ พร้อมพรความเป็นอมตะแก่หนุมาน(บางคัมภีร์บอกว่าพระรามเป็นผู้ให้พรนี้แก่หนุมาน)
หนุมานถือเป็นลิงที่มีความว่องไวล้ำเลิศ เหาะเร็วดังลม และมีพลังมาก หนุมานสามารถอุ้มภูเขาทั้งลูกได้ สามารถล่องหนได้ อีกทั้งยังขยายและหดร่างกายได้ดั่งใจปรารถนา และเมื่อครั้งที่หนุมานต้องอยู่ในสงคราม หนุมานจะมีลักษณะที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก กล่าวคือ มีร่างกายใหญ่เท่าภูเขา ผิวกายเป็นสีเหลืองดั่งทองหลอม ผิวหน้าเป็นสีแดงดั่งทับทิม มีหางยาวมาก และเสียงคำรามของหนุมานสามารถทำให้ศัตรูกระจัดกระจายไปทั่วได้
ภาพนี้เป็นภาพหนุมานในเรื่องรามเกียรติ์ของไทย
ครั้งเมื่อหนุมานได้เป็นทหารเอกของพระราม หนุมานถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้พระรามเอาชนะทศกัณฐ์ได้ วีรกรรมที่สำคัญของหนุมานก็คือ การเหาะไปยังเทือกเขาหิมาลัยเพื่อนำเอาสมุนไพรมารักษาบาดแผลให้แก่พระลักษณ์ แม้ว่าพวกยักษ์จะขัดขวางหนุมานทุกทาง แต่หนุมานก็มีชัยเหนือศัตรู ทศกัณฐ์ได้ส่งบริวารยักษ์มากมายมาฆ่าหนุมาน โดยตั้งรางวัลไว้ว่า หากผู้ใดสามารถฆ่าหนุมานได้สำเร็จ อาณาจักรให้ครึ่งหนึ่งก็จะเป็นของผู้นั้น แต่ก็ไม่มียักษ์ตัวใดกำจัดหนุมานได้เลย ยักษ์ส่วนใหญ่มักถูกนุมานจับขาเหวี่ยงกลับไปกรุงลงกา จนตกลงมาตายต่อหน้าบัลลังก์ของอสูรราพณ์ทั้งสิ้น แต่หนุมานก็ยังไม่สามารถหาสมุนไพรพบ หนุมานจึงยกแบกภูเขาไปทั้งลูก แล้วเหาะกลับไปหาพระราม จนทำให้เกิดเป็นลมวน เมื่อเหาะผ่านกรุงอโยธยา พระภรตคิดว่าอสูรเป็นผู้กระทำ จึงแผลงศรใส่ ให้ทำให้หนุมานร่วงหล่นลงมา เมื่อพบว่าเป็นหนุมาน พระภรตจึงขอไถ่โทษ โดยการยิงลูกศรเพื่อส่งหนุมานกลับไปยังกรุงลงกา แต่หนุมานก็ขอเหาะกลับไปเอง เมื่อสงครามที่กรุงลงกาสงบลง พระรามจึงพระราชทานรางวัลให้แก่หนุมาน โดยการให้พรความเป็นอมตะแก่หนุมาน

พระราม (รามาวตาร) เทพแห่งความถูกต้องสันติ


พระราม หรือ รามาวตาร หรือ รามจันทราวตาร  ตัวละครเอกจากมหากาพย์ เรื่อง รามายณะ ที่คนไทยรู้จักกันมากในชื่อ รามเกียรติ์ (ภาพระหว่างพระรามกับนางสีดา)
การที่พระรามอวตารลงมาก็มีจุดประสงค์เพื่อกำจัด ทศกัณฐ์ หรือ ท้าวราพณ์  ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา ทศกัณฐ์ เป็นยักษ์ที่มี ๑๐ เศียร และบำเพ็ญตบะเพื่อให้เกิดความอมตะเช่นเดียวกับเหรันตยักษ์ และ เหรัณยกศิปุ อีกทั้งยังประจบประแจงพระศิวะ จนท่านเกิดความเมตตา ทศกัณฐ์เริ่มเข่นฆ่าเทพเจ้าและมนุษย์มากมาย จนในที่สุด พระวิษณุจึงต้องอวตารลงมาเป็นโอรสองค์แรกของมหากษัตริย์ทศรถแห่งกรุงอโยธยา  และได้ทรงพระนามว่า พระราม พระรามมีพระอนุชาต่างมาดาคือ พระภรต พระลักษมณ์ และ พระศัตรุต ซึ่งกล่าวกันว่าพระอนุชาของพระองค์ก็ทรงแบ่งรูปลักษณ์มาจากพระวิษณุด้วย
พระราม และ พระลักษณ์ สนิทสนมกันมาก และได้ร่วมมือกันฆ่าอสูรที่สังหารพราหมณ์ไปเป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง ขณะที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ทั้งสองพระองค์ได้ยินข่าวว่า ธิดาแสนสวยของ กษัตริย์ชนก ที่มีนามว่า นางสีดา จะอภิเษกกับผู้ที่สามารถโก่งคันศรของพระศิวะได้ และเป็นพระรามที่สามารถโก่งคันศรได้ พระรามจึงได้อภิเษกกับนางสีดา หรือก็คือ พระลักษมี ที่อวตารลงมานั่นเอง
หลังจากทรงอภิเษกได้ไม่นาน พระทศรถก็ประกาศสละราชบังลังก์ และได้ประกาศนามของผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนตน ในเวลาเดียวกันนั้น ขณะที่พระภรตไม่อยู่นั้น บริวารของพระมเหสีไกยเกษี ผู้เป็นพระมารดาของภรตก็พยายามกล่าวให้ร้ายพระราม จนทำให้พระนางเกิดความไม่พอพระทัยพระราม และทรงยุยงแกมบังคับให้พระทศรถยกราชสมบัติทั้งหมดให้ภรต อีกทั้งยังเนรเทศพระรามให้ออกไปอยู่ป่านานถึง ๑๔ ปี โดยมีพระลักษณ์และนางสีดา ขอตามไปดูแลพระรามด้วย พระภรตและประชาชนต่างเสียใจกับการจากไปของพระรามเป็นอย่างมาก จนสุดท้าย พระทศรถก็ทรงเสด็จสวรรคตในอีก ๑ สัปดาห์ต่อมา
เมื่อพระภรตทราบข่าว พระองค์ก็ทรงพิโรธพระมารดาเป็นอย่างมาก พระพรตทรงเสด็จออกตามหาพระรามเพื่อจะเชิญกลับวัง แต่พระรามไม่ยอม พระภรตจึงต้องจำใจเสด็จกลับเข้าเมืองอโยธยาดังเดิม และขึ้นครองราชสมบัติแทน แต่ก็ยังมีพระบาทของพระรามอยู่บนราชบัลลังก์ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงกษัตริย์ที่มีสิทธิ์อันชอบธรรม
ในช่วงที่พระรามอยู่ในป่า นางยักษีผู้เป็นขนิษฐาของท้าวราพณ์ได้เกิดหลงรักพระราม แต่เนื่องจากพระรามทรงอภิเษกแล้ว จึงบอกให้นางเปลี่ยนใจไปชอบพระลักษมณ์แทน แต่พระลักษมณ์ก็ทรงปฏิเสธนางเช่นกัน นางยักษีเกิดความสงสัยว่าพระลักษณ์น่าจะแอบชอบพอนางสีดาอยู่เช่นกัน จึงคิดทำร้ายและกินนางสีดา แต่พระลักษมณ์ก็เข้ามาช่วยไว้ได้ทัน และโดยทรงตัดจมูก หู และอกของนางยักษีออก
นางยักษีจึงส่งอนุชาตามมาล้างแค้นพร้อมกองทัพยักษีขนาใหญ่ถึง  ๑๔,๐๐๐ ตน แต่สุดท้ายพระรามก็เป็นฝ่ายได้ชัยชนะ นางยักษีจึงไปยุยงให้ท้าวราพณ์ให้มาลักพาตัวนางสีดา โดยไปบอกท้าวราพณ์ว่า นางสีดามีรูปโฉมงดงามมาก ท้าวราพณ์จึงส่งกวางไปล่อ เมื่อนางสีดาเห็นก็เกิดความอยากได้ พระรามและพระลักษณ์จึงออกไปจับกวางมาให้ ท้าวราพณ์จึงช่วงชิงจังหวะโดยการแปลงกายเป็นฤาษีแล้วจับนางขึ้นรถเหาะกลับไปยังกรุงลงกา ระหว่างทาง นกชฎายุ หรือร่างอวตารของพญาครุฑ ผู้เป็นพาหนะของพระวิษณุ ได้ผ่านมาพบและเกิดการต่อสู้กัน ชฎายุไม่สามารถเอาชนะท้าวราพณ์ได้ จึงพาร่างอันจวนเจียนจะสิ้นใจกลับไปส่งข่าวแก่พระราม
เมื่อกลับมาถึงกรุงลงกา ท้าวราพณ์พยายามเกี้ยวพาราสีนางสีดา แต่นางก็ยังใจแข็ง ท้าวราพณ์จึงต้องขู่บังคับให้นางยอมอภิเษกด้วย และบอกว่าหากนางไม่ยอมจะฆ่าและกินนางเสีย แต่สุดท้ายนางสีดาก็รอดมาได้ เนื่องจากเคยมีหนึ่งในบรรดาชายาของท้าวราพณ์สาปแช่งไว้ว่า หากท้าวราพณ์ฉุดคร่าหญิงอื่นอีกจะต้องตาย
หลังจากที่พระรามทราบข่าวจากนกชฎายุ ก็ทำการปลงศพให้นกชฎายุ แล้วรีบออกตามหานางสีดา ระหว่างทางได้พบอรสของพระอินทร์ที่ชื่อว่าสุครีพ ผู้ถูกพาลีพระเชษฐาร่วมพระมารดาขับไล่ออกมาจากเมืองของตน สุครีพจึงส่งกองทัพลิงและหมีไปช่วยพระรามรบเพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือ โดยมีหนุมานเป็นแม่ทัพเดินทางไปยังกรุงลงกา
หนุมานเหาะข้ามน้ำข้ามทะเล และลอบเข้าไปในกรุงลงกาได้สำเร็จ เมื่อหนุมานพบเจอกับนางสีดาที่กำลังนั่งอยู่ในสวนตามลำพัง หนุมานก็ได้แสดงแหวนจารึกพระนามของพระรามเพื่อเป็นหลักฐาน และบอกแผนการหนีออกจากกรุงลงกาแก่นาง แต่ด้วยความลิงโลดที่แอบลอบเข้ามาได้ หนุมานจึงไปดึงต้นไม้ในสวนเล่น และทำให้ถูกจับได้ในที่สุด หนุมานถูกส่งไปให้ท้าวราพณ์เพื่อสังหารโดยการนำผ้าชุบน้ำมันผูกที่หางของหนุมาน แต่หนุมานก็ใช้กระโดดหนีออกมาได้โดยอาศัยจังหวะที่หางถูกเผาหางอยู่นี้ และไฟจากหางนี่เองที่ทำให้กรุงลงกาเกิดไฟไหม้ไปทั่วทั้งเมือง
เมื่อหนีออกมาได้ หนุมานจึงกลับมาส่งข่าวแก่พระรามถึงลักษณะของกรุงลงกาว่า มีป้อมปราการอันแสนยิ่งใหญ่ ซึ่งสร้างโดยพระวิศวกรรมให้แก่กุเวร เจ้าแห่งความมั่นคง อีกทั้งเมืองก็มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนมากสร้างด้วยทองคำ ล้อมรอบด้วยคูเมืองกว้าง และมีกำแพงสร้างด้วยหินและโลหะ ซึ่งนำมาจากยอดเขาพระสุเมรุ
ระหว่างที่หนุมานลอบเข้าไปในกรุงลงกา พรรคพวกของพระรามก็ได้ช่วยกันสร้างสะพานเพื่อข้ามไปยังกรุงลงกา ที่มีชื่อว่า สะพานของพระราม  แต่แม้จะมีอสูรจากใต้ทะเลมาก่อกวนขณะสร้าง ก็สามารถสร้างได้สำเร็จ หัวหน้าช่างที่สร้างสะพานคือหัวหน้าลิงที่ชื่อว่า นล ผู้เป็นโอรสของพระวิศวกรรม ซึ่งมีพลังทำให้ก้อนหินลอยบนน้ำได้ บางครั้งสะพานนี้จึงได้รับการเรียกชื่อว่า นลเสตุ (สะพานของนล)
หลังจากสร้างสะพานสำเร็จ พระรามก็สามารถยกกองทัพข้ามไปได้ ศึกครั้งยิ่งใหญ่เริ่มดำเนินขึ้นตั้งแต่ตรงทางเข้าเมือง พระลักษณ์ถูกโอรสของท้าวราพณ์ที่มีนามว่า อินทรชิต ทำร้าย แต่หนุมานก็ใช้สมุนไพรที่หามาได้จาก เทือกเขาหิมาลัย มารักษาได้สำเร็จ ในระหว่างนั้นพระอนุชาของท้าวราพณ์ก็ได้กินลิงเข้าไปเป็นร้อยตัว แต่สุดท้าย  พวกยักษ์ก็ถูกฆ่าจนหมด พระรามยิงศรใส่ท้าวราพณ์ในครั้งแรก แต่ยิงไม่เข้า แต่สุดท้ายการต่อสู้ของพระรามและอสูรราพณ์ก็จบลงตรงที่พระรามใช้อาวุธวิเศษที่กล่าวกันว่าเป็นอาวุธที่รวมพลังของบรรดาเทพเจ้าไว้ และรู้จักกันดีในฐานะที่เป็นอาวุธของพระพรหม อาวุธนี้ได้รับมาจากฤาษีอกัสยตะ ซึ่งเป็นนักพรตที่มีชื่อเสียง และเป็นศัตรูของพวกยักษ์ เมื่อขว้างอาวุธออกไปตัดอกของท้าวราพณ์ หลังได้รับชัยชนะ เหล่าเทวดาทั้งหลายก็ลงมาอวยพร และพากันโปรยมาลัยดอกไม้ในชัยชนะของพระราม และกองทัพลิงก็กลับมาฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้ง
หลังจากศึกสงบ พระรามก็ได้พบนางสีดาอีกครั้ง แต่พระองค์ก็รู้สึกเย็นชาต่อนาง เนื่องจากยังไม่ทรงปักใจเชื่อว่านางสีดาจะยังคงภักดีต่อพระองค์อยู่หรือไม่ นางสีดาจึงจัดพิธีลุยไฟ เพื่อเป็นพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ เมื่อนางลุยไฟได้สำเร็จ ท้องฟ้าก็ได้ประกาศว่านางบริสุทธิ์ และพระอัคนีเทพแห่งไฟก็ได้นำนางไปประทับต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราม ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว พระรามไม่เคยระแวงในตัวนางเลย เพียงแต่ต้องการจะให้นางทดสอบต่อหน้าธารกำนัลเพียงเท่านั้น
พระกฤษณะ เทพแห่งความหลุดพ้น




















พระกฤษณะ เป็นองค์อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์
กล่าวถึงคัมภีร์ปุราณะ มหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ (หนังสือที่ยาวที่สุดในโลกมีมหากาพย์เรื่อง “มหาภารตะ” ) และตำนานเก่าต่างๆของอินเดีย รวมไปถึงคัมภีร์ทางศาสนาฮินดูอื่นๆ ได้มีการบันทึกเรื่องราวที่กล่าวถึงพระวิษณุเทพที่ได้อวตารลงมาเพื่อกำจัดยุคเข็ญให้แก่เหล่ามวลมนุษย์ ในช่วงที่โลกเกิดเหตุการณ์โกลาหลและไร้ความสงบสุขเนื่องจากเหล่าอสูร พระองค์จึงทรงอวตาลลงมาในปางต่างๆ ซึ่งปางพระกฤษณะเทพ ถือเป็นปางที่ 8 จากการอวตาร 10 ปาง
ลัทธิไวษณพนิกาย กล่าวไว้ว่า พระกฤษณะเกิดมาเพื่อทำลายอสูรที่ชื่อกังสะ ผู้ซึ่งเป็นลุงของพระกฤษณะเอง อสูรกังสะตนนี้แปลงกายมาเป็นกษัตริย์ อุคราเสน ครองเมืองมถุรา และใช้อำนาจอันมิชอบแย่งชิงมเหสีมาจากกษัตริย์องค์จริงอย่างไรก็ตาม พระมเหสีทรงไม่ทราบว่าความจริงว่าสวามีของตนคืออสูรกังสะ เมื่ออสูรขึ้นครองเมืองก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อความไปถึงพระวิษณุเทพ พระองค์จึงต้องอวตารลงมาในปางพระกฤษณะเพื่อปราบอสูรกังสะตนนี้
พระกฤษณะเป็นบุตรของ พระวสุเทพ(โอรสท้าวศูรราช) กับ นางเทวกี (บุตรีท้าวอุคระเสน) แห่งนครมถุรา เมื่อสิ้นสุดสมัยของท้าวศูรราช ท้าวอุคระเสนก็ขึ้นปกครองเมืองมถุราต่อ แต่พญากงส์ ผู้เป็นบุตรของท้าวอุคระเสนได้ก่อการกบฏ โดยถอดท้าวอุคระเสนออก แล้วขึ้นปกครองเมืองเสียเอง
ครั้งเมื่อนางเทวกีตั้งครรภ์ ได้มีโหรทำนายว่าทารกที่อยู่ในครรภ์นี้ คือผู้วิเศษมาเกิด เมื่อพญากงส์ทราบเรื่อง จึงจับขังพระวสุเทพและนางเทวกีเอาไว้ และหากครบกำหนดคลอด ก็ให้ฆ่าทารกคนนั้นเสีย เหตุการณ์ปรากฎเช่นนี้อยู่ 6 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 8 เทวดาจึงได้ย้ายทารกไปไว้ในครรภ์ของนางโหริณี ผู้เป็นมเหสีฝ่ายซ้ายของพระวสุเทพแทน ทำให้สามารถคลอดทารกออกมาได้
ทารกนี้มีนามว่า พระกฤษณะ ผู้มีกายสีดำ และมีลักษณะของมหาบุรุษเพียบพร้อม พระวสุเทพจึงนำกุมารผู้นี้ไปฝากไว้กับโคบาลที่ชื่อว่า นันทะ และนางยโศธา แล้วสลับเอาทารกของนางยโศธามาแทน แต่เมื่อพญากงส์ทราบเข้า ก็สั่งให้ฆ่าทารกเสียทั้งหมด แล้วไปจับตัวพระกฤษณะมาให้ได้
นันทะและนางยโศธาได้พาพระกฤษณะหนีไปอยู่ที่ตำบลพฤนทาพน พระกฤษณะจึงเติบโตขึ้นร่วมกับหมู่โคบาล ระหว่างที่พระองค์เติบโตขึ้น ก็ได้ทรงแสดงปาฏิหารย์เหนือมนุษย์มากมาย เช่น สามารถยกภูเขาโควรรธนะจนมีชัยเหนือพระอินทร์ และได้ชื่อว่า อุเปนทร ที่มีความหมายว่า ‘ดีกว่าพระอินทร์’ รวมถึงได้ทรงปราบพญานาคกาลียะ ฯลฯ
ด้วยความพยาบาท ญากงส์จึงพยายามที่จะสังหารพระกฤษณะหลายครั้ง ในที่สุดพญากงส์ก็ออกอุบายเชิญให้พระกฤษณะไปเล่นสรรพกีฬาในเมืองมถุรา พญากงส์ได้แอบวางตัวมวยปล้ำที่เก่งที่สุดเอาไว้ เพื่อหวังจะให้กำจัดพระกฤษณะ แต่สุดท้าย พระกฤษณะก็สามารถเอาชนะได้ และได้ฆ่าพญากงส์จนตาย หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระเจ้าอุคระเสนก็ขึ้นครองเมืองอย่างเป็นสุขตลอดไป

พระแม่กาลี (มหากาลีเทวี) เทพีแห่งการทำลายอุปสรรค ขจัดศัตรู

พระแม่กาลี  คือร่างที่แบ่งภาคมาจาก พระอุมาเทวี (พระแม่อุมา) โดยทรงมีจุดประสงค์เพื่อลงมาปราบอสูรที่มีนามว่า อสูรทารุณ
กล่าวกันว่า อสูรทารุณ เป็นอสูรที่ฆ่าไม่ตาย และหากเมื่อใดที่เลือดหยดลงถึงพื้น เลือดนั้นก็จะทวีขึ้นเรื่อยไปไม่หมดสิ้น ด้วยความคิดที่ว่าตนเองมีอิทธิฤทธิ์มากมายเหนือใคร และไม่มีใครสามารถฆ่าได้ จึงทำให้อสูรทารุณเกิดฮึกเหิมลำพองในความเก่งกาจของตน และได้นำอิทธิฤทธิ์ความเก่งกาจมาใช้กลั่นแกล้งผู้คน และเทวดาทั่วไป จนในวันหนึ่งก็เกิดความคิดที่จะครอบครองโลกทั้งสาม
เมื่อเหล่าเทวดา นางฟ้า และผู้ทรงศีลทั้งมวล ทราบเรื่อง ก็นำเรื่องไปกราบทูลเข้าเฝ้าพระอิศวร เพื่อให้ช่วยหาทางปราบอสูรตนนี้ แต่เมื่อได้ฟังความอันตรายของอสูร ก็ไม่มีเหล่าเทวดาองค์ใดกล้าอาสาออกไปสู้รบเลย
ในที่สุด เทพสตรีแห่งสวรรค์ หรือองค์พระศรีมหาอุมาเทวี ก็ตั้งใจจะอาสาออกไปปราบศัตรูร้าย พระองค์ได้ขอพรต่อพระศิวะผู้เป็นเจ้า เพื่อให้ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ ก่อนจะเสด็จไปบำเพ็ญตบะเพื่อทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ให้มีฤทธิ์มากจนมีอำนาจปราบศัตรูร้ายได้
พระองค์ได้เข้าไปทำพิธี ณ อุทยานในแนวเขตแดนป่าหิมพานต์ โดยพระศรีมหาอุมาเทวีได้ให้องค์ขันทกุมารผู้เป็นโอรส ช่วยทำหน้าที่ดูแลปกป้องตน และห้ามไม่ให้ใครย่างกรายเข้าไปในพิธีได้เป็นอันขาด หลังจากเสร็จพิธีแล้ว พระแม่กาลีจึงรีบเสด็จออกไปตามล่าหาอสูรทารุณ ซึ่งเพียงไม่นาน ทั้งคู่ก็ได้พบเจอกัน พระแม่กาลีได้ต่อสู้เผชิญหน้ากับอสูรทารุณอย่างยาวนาน เนื่องจากทั้งคู่มีฤทธิ์อำนาจสูงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ในจังหวะหนึ่งที่พระแม่กาลีทรงใช้ดาบฟันคออสูรจนขาด เลือดของอสูรจึงหยดลงบนพื้น ทำให้อสูรจำนวนมากทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และผุดขึ้นมาจากหยดเลือดเหล่านั้น เมื่อพระแม่กาลีเห็นดังนั้น ก็คิดว่าคงไม่มีวันฆ่าอสูรตนนี้ให้ตายได้เป็นแน่
ด้วยเหตุนี้เอง พระแม่กาลีจึงคิดกลอุบายขึ้นมาเพื่อหวังจะเอาชัยชนะในครั้งนี้ พระองค์ตั้งใจที่จะตัดหัวของอสูรพร้อมทั้งดูดกินเลือดทั้งหมดของอสูรก่อนที่เลือดจะตกลงถึงพื้น และเมื่อกินจนหมดสิ้นแล้ว รูปกายของพระแม่กาลีจึงอ้วนใหญ่มากขึ้น ในมือของพระแม่กาลีนั้นถือหัวของอสูรที่ตัดร้อยเอาไว้เป็นพวง อสูรทารุณจึงสิ้นฤทธิ์ลงในที่สุด
ด้วยความดีพระทัยที่ทรงได้รับชัยชนะ พระแม่กาลีจึงทรงเต้นระบำอย่างสำราญหทัย จนลืมไปว่าพระองค์มีร่างกายที่ใหญ่โต พระแม่กาลีทรงยกพระบาทขึ้นโดยหวังจะกระทืบเท้าลงพื้นโลกอย่างเต็มที่ ในเวลานั้นเอง เหล่าเทวดาทั้งหลายก็เกรงว่าพื้นโลกจะแตกสลายหากพระแม่กาลีกระทืบพระบาทลงบนพื้น จึงรีบพากันไปเข้าเฝ้าพระศิวะอย่างเร่งด่วน
เมื่อพระศิวะได้ฟังคำจากเหล่าเทวดา ก็ได้ตะหนักในความจริงว่า ที่พระแม่กาลีทรงมีรูปกายใหญ่โตน่ารังเกลียดเช่นนี้ก็เพราะปราบยักษ์มา พระแม่กาลีน่าจะจดจำพระองค์ได้บ้าง พระศิวะจึงรีบเสด็จไปนอนขวางพื้นโลกไว้อย่างรวดเร็วก่อนที่พระแม่กาลีจะกระทืบเท้าลง เมื่อพระแม่กาลีก้มลงเห็นพระศิวะนอนขวางอยู่ ก็ชะงักด้วยความเกรงอกเกรงใจพระสวามี นางจึงหยุดการกระทำดังกล่าวลง เหล่าเทวดาทั้งหลายต่างพากันโล่งอกโล่งใจเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป จากนั้น พระแม่กาลีก็กลับร่างคืนสู่ปกติ เหตุการณ์ทั้งหมดจึงก็กลับมาสงบดังเดิม

เทพีทุรคา (ทุรกาเทวี) เทพีแห่งพละกำลังและการสู้รบ

วิธีแยกความแตกต่างระหว่าง ‘พระแม่อุมา’ กับ ‘พระแม่ทุรคา’
เนื่องจาก พระแม่อุมาเทวี และ พระแม่ทุรคาเทวี มีลักษณะใบหน้าที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมาสับสนในเทพทั้งสององค์นี้
ในงานภาพเขียนรูปบูชาของอินเดีย มักจะมีการวาดพระแม่อุมา กับ พระแม่ทุรคาให้คล้ายคลึงกัน แต่จะมีข้อสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- พระแม่อุมา ส่วนใหญ่รูปภาพจะวาดให้ทรงพาหนะเป็น เสือ (ส่วนน้อยจะเป็นสิงโต)
- พระแม่ทุรคา ส่วนใหญ่รูปภาพจะวาดให้ทรงพาหนะเป็น สิงโต (ส่วนน้อยจะเป็นเสือ)

แต่ถ้าหากรูปภาพนั้นไม่ได้ทรงพาหนะใดๆ ให้สังเกตที่ พระกร และ พระหัตถ์ (แขนและมือ) ว่าทรง ศาสตราวุธ (อาวุธ) แบบใด ดังต่อไปนี้
- พระแม่อุมา มักจะมีพระกร  4-8 พระกร หากปรากฎคู่กับพระศิวะไม่ค่อยมีศาสตราวุธ และจะเป็นลักษณะประทานพร หรืออุ้มพระพิฆเนศและพระขันทกุมารเออาไว้
- พระแม่ทุรคา มักจะมีพระกรมากกว่า 8,10,12,16 ขึ้นไป และทรงศาสตราวุธครบถ้วน นอกจากนี้ มักจะมีอสูรที่ชื่อว่า มหิษาสูร อยู่ในรูปวาดด้วย โดยมหิษาสูรจะถูกพระแม่ทุรคาใช้ ตรีศูล (อาวุธสามง่าม) หรือ ดาบ แทง อีกทั้ง จิตรกรจะไม่นิยมวาดให้พระทุรคาปรากฎคู่กับพระศิวะ

พระแม่อุมาเทวี (ปารวตี) เทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมี

พระแม่อุมาเทวี หรือ เจ้าแม่อุมา หรือ ปารวตี คือ พระแม่ผู้เป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด  และเป็นเทวีแห่งอำนาจบารมีและวาสนาอันสูงสุด หากใครหมั่นบูชาพระองค์อย่างสม่ำเสมอ พระองค์จะทรงประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่ให้แก่ผู้นั้น
อำนาจแห่งพระแม่อุมาเทวียิ่งใหญ่เกินกว่าจะหาสิ่งใดเทียบได้ พระองค์ทรงประทานกำลังวังชาแห่งความเป็นหญิง ประทานชัยชนะเหนือผู้ร้าย ทำลายสิ่งชั่วช้าเลวทราม อีกทั้งยังช่วยประทานบริวารมากมายและอำนาจในการปกครองได้ด้วย สำหรับผู้ครองเรือน พระองค์ทรงประทานพรด้านความสมบูรณ์ หรือความผาสุขในการครองเรือน ทำให้ครอบครัวเปี่ยมสุข และปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
พระแม่อุมาเทวี ทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ และเป็นชายาแห่งพระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่ง พระแม่อุมาจึงนับว่าเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ ซึ่งหมายถึงพระแม่ทั้งสาม (ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี) ด้วย
พระแม่อุมาเทวีสถิตอยู่เช่นเดียวกับพระศิวะเทพ บนวิมาน ณ เขาไกรลาส  พระองค์มีสัญลักษณ์ประจำกาย คือ โยนี (ฐานรองศิวลึงก์) มีศาสตราวุธเป็นตรีศูล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และมีดาบเป็นสัญลักษณ์แห่งความเฉียบขาด หรือการเป็นผู้ตัดสินผู้อื่น พระองค์มีทิพยรูปเป็นหญิงงดงาม ฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์หลากสี และประดับด้วยทองคำวิจิตรงดงาม ทั้งยังเปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา และถือเป็นมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง
พระแม่อุมาเทวี มีร่างอวตารอยู่หลายปาง โดยปางที่สำคัญที่สุดมี 2 ปาง คือ ปางพระแม่ทุรคา (ทุรกา) และ ปางพระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี) ซึ่งสามารถหาอ่านได้จากบทความตำนานพระแม่ทุรคาและพระแม่กาลี ในบทต่อๆไป
ส่วนอีกปางหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทย ก็คือ ปางพระแม่อุมาตากี ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระแม่อุมาเทวี ที่รวมเอาพระแม่หลายพระองค์ ได้แก่ พระแม่อุมา  พระแม่ลักษมี และ พระแม่สรัสวดี เข้าไว้ในร่างเดียวกัน  และเป็นที่นิยมนับถือกันมากในหมู่ผู้นับถือนิกายศักติ หรือนิกายที่นับถือว่าเทพสตรีทั้ง 3 พระองค์ นี้ยิ่งใหญ่เหนือกว่า พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ
ตำนานพระแม่อุมาเทวี
ตำนานโบราณกล่าวถึงต้นกำเนิดของ “พระแม่อุมาเทวี ” ว่า เกิดมาจากการที่พระศิวะใช้พระหัตถ์ข้างขวาลูบกลางพระอุระเบาๆ พระแม่อุมาก็มาจุติขึ้นที่กลางทรวงอกของพระศิวะ แต่บ้างก็กล่าวไว้ว่า พระแม่อุมาเทวีเป็นธิดาระหว่างท้าวหิมวัต และ พระนางเมนกา ผู้เป็นเทพยิ่งใหญ่แห่งภูเขาหิมาลัย ส่วนในบางคัมภีร์กลับกล่าวเอาไว้ว่า พระอุมาเทวีเป็นธิดาของ พระทักษะประชาบดี และเป็นพี่น้องกับพระแม่คงคา (พระแม่อุมาเป็นน้องสาว) พระอุมาในภาคนั้นจึงมีพระนามว่า พระสตี ผู้เป็นชายาของ พระมุนีภพ หรือพระศิวะ
เรื่องราวเล่าขานที่ปรากฏในตอนนี้เป็นตอนก่อนจะกำเนิดเป็นพระแม่อุมาเทวี กล่าวถึง พระศิวะ ที่ทรงอวตารลงมาในภาคของ มุนีภพ มีแตกต่างจากการแบ่งภาคอื่นๆเป็นอย่างมาก มุนีภพมีลักษณะไม่งดงาม ผมเพ้าหนวดเครายาวรกรุงรัง แต่งตัวนุ่มห่มด้วยอาภรณ์แบบปอนๆ มอซอ มีสังวาลสวมคอเป็นประคำและนำกระดูกมาร้อยต่อกันคล้องคอ มุนีภพชอบหลบนอนตามป่าช้า ทำให้มีร่างกายที่มีกลิ่นตัวเหม็นสาบตลอดเวลา แต่ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อเสริมสร้างบารมีด้วยการบำเพ็ญตน บำเพ็ญตบะ และด้วยบุญกรรมที่สร้างสมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทำให้พระนางสตีทรงมองเห็นรูปกายภายในว่า พระมุนีภพคือองค์อวตารหนึ่งแห่งองค์พระศิวะผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสามโลก ด้วยเหตุนี้ พระนางสตีจึงตกลงใจอยู่คอยปรนนิบัติรับใช้ดูแลมุนีภพในฐานะชายา
ฝ่ายพระทักษะประชาบดี ผู้เป็นบิดาของพระนางสตี ก็มิได้เห็นด้วยกับความคิดของพระนางสตีเท่าไรนัก ถึงกระนั้น ก็มิได้คิดจะต่อต้านแต่ประการใด ทรงมีแต่ความคิดที่รู้สึกไม่ชอบใจในตัวพระมุนีภพ และแสดงความรังเกียจทั้งในการกระทำ รูปร่าง รวมถึงการแต่งกายของพระมุนีภพมาโดยตลอด
ส่วนบรรดาราชบุตรเขยต่างๆ ก็คอยดูแลและเอาอกเอาใจผู้เป็นพ่อตาอยู่เสมอตลอดมา เว้นเสียแต่พระมุนีภพ ผู้เป็นสวามีพระนางสตีเท่านั้น ที่ไม่เคยสนใจจะเข้ามาเอาใจใส่ดูแลพ่อตาเลย ทำให้พระทักษะประชาบดียิ่งเกิดความไม่พอใจมากขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระทักษะประชาบดีต้องการจัดพิธียัญกรรม พระองค์จึงอัญเชิญเหล่าเทพต่างๆบนสรวงสวรรค์ พร้อมทั้งเหล่าราชบุตรเขยทุกคนเข้าร่วมในพิธีกรรมครั้งนี้ด้วย  ยกเว้นแต่เพียงพระมุนีภพเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ยอมให้เข้าร่วมพิธียัญกรรมในครั้งนี้ เมื่อพระนางสตีเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปสอบถามความจริงแก่พระบิดา ว่าเหตุใดจึงไม่เชิญพระสวามีของตนให้เข้าร่วมพิธีสำคัญดังกล่าวนี้
พระทักษะประชาบดี ผู้เป็นพ่อก็กล่าวอ้างถึงการกระทำและการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมพระมุนีภพ และยังพูดจาดูหมิ่นดูถูกการกระทำของพระมุนีภพต่อหน้าราชบุตรเขยองค์อื่นๆ ในทางที่ไม่ดีอีกด้วย แต่พระนางสตีก็ขอร้องอ้อนวอนให้พระบิดายอมให้พระสวามีของตนได้เข้าร่วมในพิธีนี้ จนสุดท้ายพระทักษะประชาบดีเกิดความรำคาญเป็นอย่างมาก จึงได้กล่าววาจาประจานด้วยเสียงอันดังต่อหน้าผู้เข้ามาร่วมในพิธี ซึ่งแสดงถึงความดูหมิ่น และรังเกียจพระมุนีภพเป็นยิ่งนัก พระนางสตีผู้ที่จงรักภักดีต่อสวามีของตน จึงไม่ว่าฝืนทนได้อีกต่อไป พระนางจึงตัดสินพระทัยแสดงอิทธิฤทธิ์บันดาลให้เกิดเป็นเปลวไฟอันร้อนแรงออกจากร่างกาย และปล่อยให้เผาตนเองจนมอดไหม้ไปต่อหน้าพระบิดาและผู้ร่วมพิธี (บางคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระนางสตีกระโดดเข้ากองไฟในพิธี)
ฝ่ายพระศิวะในภาคพระมุนีภพ เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระชายาของพระองค์จากพระฤๅษีนารท (ฤาษีนารอด) ก็ทรงเศร้าเสียใจเป็นที่สุด พระองค์จากจึงทรงดึงเส้นผมออกมาปอยหนึ่งด้วยความเศร้า จากนั้นเส้นผมก็บังเกิดเป็นอสูรตนหนึ่งที่มีร่างกายใหญ่โต มีพันเศียร พันกร สวมประคำหัวกระโหลกและงู และมีฤทธิ์เดชมากมาย ที่มีนามว่า อสูรวีรภัทร (บางคัมภีร์กล่าวว่าอสูรวีรภัทรนี้เกิดมาจากการแบ่งภาคจากพระโอษฐ์ของพระศิวะ)

พระแม่สรัสวดี เทพีแห่งความรู้

พระแม่สรัสวดี เทพีแห่งความรู้…มหาเทวีทั้ง 3 มีพลังอำนาจที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้…
พระแม่สรัสวดี ชายาของพระพรหม (ผู้สร้างโลก) ถือเป็นตัวแทนแห่ง ปัญญาความรู้
พระแม่ลักษมี ชายาของพระวิษณุ (ผู้ดูแลโลก) ถือเป็นตัวแทนแห่ง ความร่ำรวย
พระแม่อุมา ชายาของพระศิวะ (ผู้ทำลายโลก) ถือเป็นตัวแทนแห่ง ความมีอำนาจ
คุณสมบัติทั้ง 3 ประการ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ความร่ำรวย หรือความมีอำนาจ ล้วนเป็น 3 คุณสมบัติสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนต้องการให้ปรากฎแก่ตนเอง และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บุคคลที่มีพร้อมทั้งปัญญาความรู้ มีความร่ำรวยสมบูรณ์ และมีอำนาจบารมี จะสามารถยืนหยัดเฉิดฉายอยู่ในแวดวงสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ด้วยเหตุนี้เอง ชาวฮินดูจึงเชื่อถือกันว่า การเคารพบูชากราบไหว้พระแม่หรือมหาเทวีทั้ง 3 พระองค์นี้ด้วยความจริงใจ ศรัทธา ความรัก และความซื่อสัตย์อย่างถึงที่สุดแก่พระองค์ พระองค์ย่อมจะประทานพรให้แก่ผู้บูชาทั้งหลายได้รับทั้งสติปัญญา เงินทอง และคอำนาจวาสนาตามที่ต้องการอย่างครบถ้วน
เมื่อกล่าวถึงความงามของพระแม่ทั้ง 3 พระองค์นั้น ก็ถือว่ามีความงามที่แตกต่างกันไป โดยสิ่งที่ผู้บูชาสามารถมองเห็นและรู้สึกได้ ก็คือ
พระแม่สรัสวดีมีความงามแบบสุขุม นุ่มลึก นิ่ง เยือกเย็น และฉลาด
พระแม่ลักษมี มีความงามแบบน่ารัก อ่อนช้อย  นุ่มนวล และอบอุ่น
พระแม่อุมา มีความงามแบบน่าเกรงขาม และเฉียบขาด
จะเห็นได้ว่า พระแม่สรัสวดีจะทรงเครื่องดนตรีอยู่เสมอ และถือเป็นเทวีแห่งสรรพความรู้ในทุกด้าน พระนามของพระแม่สรัสวดีสามารถเรียกได้อีกหลายชื่อ เช่น พระแม่สรัสวตี พระแม่สุรัสวดี พระแม่สุรัสวตี เป็นต้น
พระแม่สรัสวดี ถือเป็นชายาแห่งพระพรหม พระองค์ประทับอยู่บนวิมานสวรรค์ชั้นพรหมหรือที่ใครเรียกกันว่าพรหมโลก ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระแม่สรัสวดีถือเป็นมหาเทวีหนึ่งในสามเทวีสูงสุด ด้วยเหตุนี้ ประเทศอินเดียจึงมีแม่น้ำสายสำคัญมากที่ชื่อ สรัสวดี ด้วย
ตามตำนาน พระสรัสวดี หรือ พระสุรัสวดี ทรงเป็นธิดาแห่งพระทักษะและนางประสูตร แต่มหากาพย์มหาภารตะกลับมีการกล่าวถึงว่า พระกฤษณะ คือ ผู้สร้างพระสุรัสวตี และคัมภีร์พระเวทขึ้นมาพร้อมกัน โดยสร้างมาจากจิตใจของพระองค์ ทำให้พระแม่สุรัสวตีถูกยกย่องนับถือว่าเป็นเทพแห่งพระเวททั้งปวง พระแม่สรัสวตีจึงเปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ มากไปด้วยสรรพความรู้ วิชาการอันล้ำลึก และวิทยาการอันก้าวหน้า พระองค์ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งงานศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็น อักษรศาสตร์ การแต่งตำรา การเขียนหนังสือ การวาดเขียน หรือการดนตรี พระแม่สรัสวดีมีปรีชาญาณอันชัดเจนแจ่มแจ้ง ทั้งด้านการเล่าเรียนเขียนอ่าน การศึกษาหาความรู้ การวิจัย การวิเคราะห์ การพูด หรือการเจรจาต่อรอง ตลอดจนการเป็นผู้ให้กำเนิดอักขระของอินเดีย ที่เรียกว่า อักษรเทวนาครี นั่นเอง
มากไปกว่านั้น พระแม่สรัสวดียังเป็นผู้ให้กำเนิดบทสวดมนต์บทแรกของจักรวาล ทำให้ชาวฮินนับถือพระสรัสวดีเป็น เทวีแห่งเวทมนต์ คาถา และการประกอบพิธีกรรม หากจะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อบูชาเทพหรือเทศกาลอื่นใดแล้ว จะต้องมีการอัญเชิญพระพิฆเนศ มาเป็นเทพองค์แรกเพื่อเสริมสิริมงคล จากนั้นก็ต้องมีการอัญเชิญพระแม่สรัสวตี มาร่วมด้วย เพื่อบันดาลให้การสวดมนต์และการประกอบพิธีกรรมเป็นไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด
พระสรัสวดีทรงโปรดการแสดงดนตรี การบรรเลงบทเพลง การขับร้องเพลง หรือการอ่านบทกวีถวายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีประเภทใดท่านก็ทรงโปรดทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น จะเข้ พิณ ขิม เปียโน ไวโอลีน กีต้าร์ กลอง ฯลฯ ผู้บูชาส่วนใหญ่จึงนิยมเปิดเพลงหรือบรรเลงดนตรีที่มีท่วงทำนองประณีตงดงามเพื่อถวายแด่พระองค์
หากพิจารณาที่รูปภาพหรือรูปวาดของพระแม่สรัสวดี จะสังเกตเห็นถึงความโดดเด่นได้ง่ายที่สุด นั่นคือ พระองค์จะทรงเครื่องดนตรีที่เรียกว่า ‘วีณา หรือจะเข้ของอินเดีย’ อยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการดนตรี ศิลปะ และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  พระหัตถ์ข้างหนึ่งมักจะถือ ‘คัมภีร์’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสติปัญญา ความรู้ การร่ำเรียนเขียนอ่าน  ส่วนพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งทรงถือ ‘ลูกประคำ’ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการสวดมนต์ ภาวนา การทำสมาธิ หรือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
แต่สำหรับบางลัทธิ การวาดรูปพระสรัสวตีเพื่อการบูชาจะวาดให้พระองค์ทรงขลุ่ย สังข์ คันศร คฑา บ่วง ลูกบด หรือประตัก  ซึ่งก็จะแตกต่างตามแต่ที่จิตรกรแต่ละคนรังสรรค์ขึ้นมา ส่วนพาหนะของพระแม่สรัสวดี ก็คือ หงษ์ และ นกยูง โดยเน้นเป็นพาหนะสีขาว หรือบางครั้งก็ทรงประทับอยู่บนดอกบัวสีขาว
แม้ว่าพระสรัสวดีจะเป็นชายาของพระพรหม แต่รูปภาพมักจะไม่ปรากฎพระแม่สรัสวดีคู่กับพระพรหมเท่าใดนัก แต่มักจะปรากฎพร้อมกับพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมีแทน ซึ่งเป็นในการบูชาแบบ ตรีเอกานุภาพ (พลังทั้งสาม) หรือการปรากฎพร้อมกันกับพระแม่ลักษมีและพระแม่อุมา ในรูปภาพบูชาแบบ ตรีศักติ (พระแม่ทั้งสาม) มากกว่า
สำหรับศาสนาพุทธ พระสรัสวดีถือเป็นเทพแห่งการศึกษา โดยเฉพาะในพุทธนิกายมหายาน โดยจากข้อมูลของ อ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ ถือว่ามีความสำคัญรองลงมาจากพระนางปรัชญาปารมิตา และ พระนางตารา
นักเรียน นักศึกษา เหมาะแก่การบูชาพระสรัสวตีเป็นอย่างมาก จึงมักมีการประดิษฐานเทวรูปของท่านในสถานศึกษาอยู่เสมอ เช่น ที่วัดเทพมณเฑียร จะมีการประดิษฐานเทวรูปพระแม่สรัสวตีไว้ที่หน้าทางเข้าโรงเรียนภารตวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินเข้าโรงเรียนและวัดเทพมณเฑียร ก็จะต้องแวะสักการะเทวรูปพระแม่สรัสวตีก่อนเสมอ ส่วนผู้มีอาชีพเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักโบราณคดี ผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ก็เหมาะสมต่อการบูชาเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของทุกบุคคล
ส่วนผู้ที่อยู่ในสายวิชาชีพจำพวกศิลปะ งานวาดเขียน งานแต่งเพลง งานดนตรีทุกแขนง ตลอดจนสายนิเทศศาสตร์ นักข่าว นักเขียน นักพูด หรือนักบรรยาย ฯลฯ หากได้มีการบูชาพระแม่สรัสวดีก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพได้เช่นกัน
หากจะพิจารณาในความเป็นจริงแล้ว การบูชาพระแม่สรัสวดีก็ครอบคลุมในทุกแขนงสาขาอาชีพเลยทีเดียว ฉะนั้น ผู้ใดที่ต้องการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และต้องการพัฒนาทักษะฝีมือในแขนงวิชาชีพต่างๆอย่างต่อเนื่อง ก็ขอแนะนำให้ลองบูชาพระแม่สรัสวดีเป็นเทพประจำตัว ทั้งนี้ก็เพื่อขอพรให้มีทักษะและความรู้เพิ่มพูนมากขึ้นไปนั่นเอง
สำหรับคนไทยในสมัยก่อน มักออกเสียงเรียก พระสุรัสวดี ตามที่ปรากฎในหนังสือ จินดามณี และชาวไทยก็ยังถือว่าพระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะการละคร การแสดง และการร่ายรำ จึงได้มีการมอบรางวัลพระสุรัสวดีให้แก่นักแสดงและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ไทย มานานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเทศกาลสำคัญขององค์พระแม่สรัสวดี ก็คือ เทศกาลวสันตะ ปัญจมี ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เทศกาลนี้จะมีการประกอบพิธีบูชาพระสรัสวตีทั้งวันทั้งคืน พร้อมทั้งมีการแห่เทวรูปไปทั่วทั้งเมือง รวมถึงมีการสรงน้ำหรืออัญเชิญลงสรงน้ำในแม่น้ำ เช่นเดียวกันกับวันคเณศจตุรถี ที่มีการตกแต่งบ้านเรือนและเทวาลัยของพระองค์ด้วยดอกดาวเรือง จนดูสวยงามไปหมดทั้งเมือง การประกอบพิธีนี้จะทำในเทศกาลเพื่อการต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ หรือวสันตฤดูนั่นเอง

พระตรีมูรติ มหาเทพ ผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลาย

พระตรีมูรติ มีความหมายแยกคำว่า ‘ตรี’ ที่หมายถึงสาม และคำว่า ‘มูรติ’ ที่หมายถึง รูปแบบ ดังนั้นคำว่า ‘ตรีมูรติ’ จึงหมายถึง พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ อันประกอบไปด้วย พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในลัทธิที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ และหากมองตามหลักปรัชญาพระตรีมูรติ  ก็คือ พระผู้สร้าง พระผู้รักษา และพระผู้ทำลาย หรือเปรียบได้กับหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป…
พระพรหม+พระวิษณุ+พระศิวะ = พระทัตตาเตรยะ = พระตรีมูรติ
หากกล่าวถึงการกำเนิด “พระตรีมูรติ” ก็มีเรื่องเล่ากล่าวไว้ด้วยกันหลายตำแหน่ง และมักจะเข้าใจกันว่าพระตรีมูรติเป็นการรวมภาคของทั้งสามพระองค์ในร่างเดียวกัน หรือที่เรียกว่า ทัตตาเตรยะ (Dattatreya) คำว่า ‘ทัตตา (Datta)’  ซึ่งหมายถึง การมอบให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ส่วนคำว่า ‘เตรยะ (treya)’ หมายถึง ผู้เป็นบุตรแห่งฤาษีอัตริหรือเตรยะ อันเป็นร่างอวตารของมหาเทพทั้งสามพระองค์ หรือบ้างก็กล่าวกันว่าเป็นองค์พระนารายณ์
สำหรับเรื่องเล่าของพระตรีมูรติมีความเดิมอยู่ว่า….
ขณะที่ฤาษีนามว่า “อณิมาณฑวย” (อะ-นิ-มาน-ดับ-วยะ) กำลังบำเพ็ญตบะนั่งสมาธิอยู่ ได้มีโจรกลุ่มหนึ่งกำลังหนีผ่านมาทางนั้นพอดี แต่เนื่องจากฤาษีตนนั้นกำลังอยู่ในฌานสมาธิ จึงไม่ยอมปริปากพูดสิ่งใดออกมา ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดคิดว่าฤาษีเป็นโจรเสียเอง ฤาษีจึงถูกจับตัวมาลงโทษและถูกสั่งประหารชีวิตโดยเจ้าเมือง ฤาษีโดนเสียบตรีศูลไว้บนยอดเขาแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เสียชีวิต
ระหว่างนั้นเอง นางศีลวตี ซึ่งเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อ “อุครศรวัส” ผู้เป็นสามี กำลังแบกสามีของตนขึ้นขี่คอ และได้เดินทางผ่านมาเพื่อจะไปหานางอนุสูรยาซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน นางศีลวตีผ่านมายังเขาลูกนั้นพอดีในวันที่มีฝนตกหนัก ทำให้การเดินทางลำบากมากไปกว่าตอนปกติย สามีของนางจึงกล่าวโทษโยนความผิดไปที่ฤาษี (อณิมาณฑวย) และหาว่าฤาษีเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดฝนตก เมื่อฤาษีได้ยินเข้า ก็เกิดไม่พอใจ และแม้ว่าฤาษีกำลังจะสิ้นใจลง แต่ก็ไม่วายที่จะทิ้งคำสาปแช่งให้ศีรษะของอุครศรวัสแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงเมื่อยามใดที่พระอาทิตย์ขึ้น
หลังจากที่นางศีลวตีได้ยินคำสาปแช่ง ก็ไม่ต้องการให้สามีผู้เป็นที่รักเป็นเช่นนั้น จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระอาทิตย์ไม่มีวันขึ้นเหนือขอบฟ้าอีกเลย และด้วยคำอธิษฐานของนาง จึงส่งผลทำให้พระอาทิตย์ไม่ขึ้นตามปกติอีกเลย เหตุการณ์นี้นำความเดือดร้อนวุ่นวายกันไปทั่วทั้งสามโลก แม้แต่พระพรหม พระศิวะ หรือพระนารายณ์ ก็ไม่อาจแก้ไขได้ เว้นแต่เพียงนางศีลวตีจะยอมถอนคำอธิษฐานนั้นเสีย
ดังนั้น ทั้งสามพระองค์จึงได้เดินทางไปหานางอนุสูยา เพื่อให้นางช่วยบอกให้นางศีลวตีถอนคำอธิษฐานนั้นเสีย เมื่อไปถึงบ้านกลับพบว่าสามีของนางที่ชื่อว่า “อรตี” ไม่อยู่บ้าน ทั้งสามจึงทำทีเป็นขออาหารจากนางอนุสูยา แต่มีเงื่อนไขว่านางจะต้องจัดอาหารให้โดยปราศจากอาภรณ์ นางอนุสูยารู้ดีว่าหญิงใดที่เปลื้องเสื้อผ้าต่อหน้าผู้อื่นที่ไม่ใช่สามีของตน ย่อมได้ชื่อว่าเป็นหญิงผู้ไม่ซื่อสัตย์  นางอนุสูยา ไม่อยากผิดคำมั่นสัญญาต่อสามีของตน อีกทั้งยังคิดว่าคำร้องขอนี้มีที่มาแปลกประหลาด บุคคลเหล่านี้ต้องไม่ใช่คนธรรมดาแน่นอน เมื่อได้เล็งเห็นเช่นนั้น นางอนุสูยาจึงนึกอธิษฐานเพื่อบอกสามีว่า สิ่งที่นางได้กระทำไปนั้น ไม่ได้เป็นการยั่วยวนหรือกามราคะใดๆ เมื่อทั้งสามพระองค์ร้องขอออกมาว่า “โอ้มาตา โปรดให้อาหารแก่เราเถอะ”  นางอนุสูยาจึงตัดสินใจคิดเสียว่า ทั้งสามพระองค์คือ บุตรของนาง และเมื่อความเมตตาปรากฎขึ้น นางจึงเปลื้องอาภรณ์ออก และทันใดนั้นเอง พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ก็กลายร่างเป็นทารกน้อยทั้งสาม นางอนุสูยาจึงอุ้มทารกน้อยทั้งสามไปให้น้ำนมและอาหารจนอิ่มหลับไป
ครั้นเมื่อสามีของนางอนุสูยากลับมา ก็รับทราบเรื่องราวความจริงทั้งหมด ผู้เป็นสามีจึงรีบเข้าไปดูและปลุกเด็กทารกขึ้นมา แต่แล้วทารกน้อยก็เปลี่ยนกลับร่างกลายมาเป็นพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามดังเดิม ทั้งสามพระองค์ทรงสรรเสริญนางอนุสูยาที่มีความเมตตายิ่ง และร้องขอให้นางอนุสูยาช่วยให้นางศีลวตีถอนคำอธิษฐานนั้นเสีย พร้อมยื่นขอเสนอว่า หากยอมถอนคำดังเดิมแล้ว สามีของนางศีลวตีที่ชื่ออุครศรวัสก็จะไม่ตายตามที่ฤาษีเคยสาบแช่งไว้
เมื่อนางศีลวตีได้รับรู้เรื่องราว จึงยินยอมถอนคำอธิษฐานแต่โดยดี ทั้งสามพระองค์จึงตรัสถามนางอนุสูยาว่าต้องการขอพรสิ่งใดเป็นการตอบแทนหรือไม่ นางอนุสูยาจึงทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ประทานบุตรให้นางในภายภาคหน้า ทั้งสามพระองค์ได้ทำตามสิ่งที่นางร้องขอ และทำให้นางให้กำเนิดบุตรสามคน อันได้แก่ พระทัตตาเตรยะจากพระนารายณ์  ทุรวาสัสจากพระศิวะ  และพระจันทร์จากพระพรหม

คติที่คนไทยมีต่อพระตรีมูรติเป็นอย่างไร”
คนไทยส่วนใหญ่มักจะเชื่อกันว่า พระทัตตาเตรยะ หรือ พระตรีมูรติ ในร่างเดียวหรือแยกร่าง เป็นพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ความศรัทธาที่มีต่อพระองค์ได้รับการสืบทอดสืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย จนในที่สุดก็ได้รับการเทิดทูนให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประทานความรักและมอบความสมหวังให้แก่มวลมนุษย์

พระอัคนี เทพแห่งไฟ

พระอัคนี เป็นหนึ่งในเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นเทพแห่งไฟที่เป็นศัตรูคนสำคัญของพระอินทร์ พระอัคนีมีตำนานที่น่าค้นหามากมายเช่นเดียวกับพระอินทร์ และถือกันว่า “ไฟ” เกิดขึ้นได้จากการเสียดสีของสิ่งของ 2 สิ่ง ดังนั้น ไฟจึงถือเป็นบุตรของ โลก (พระนาง ปฤถวี) และ สวรรค์ (พระทโยส : Dyaus) และถือเป็นพระอนุชาของพระอินทร์
พระอัคนีทรงโปรดการเสวยน้ำเนยใส ในขณะที่พระอินทร์ทรงโปรดน้ำโสม ดังนั้น พระองค์จึงมีลิ้นหรือพระชิวหา ถึง 7  ชิวหา ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เลียเนยที่ละลายจากการบูชายัญไฟนั่นเอง ชิวหาทั้ง 7 มีชื่อเรียกประจำที่แตกต่างกัน ซึ่งชื่อเหล่านั้นพระอินทร์เป็นผู้ตั้งให้ พระอัคนีถือเป็นสัญลักษณ์ของการจุดประกายที่สำคัญ และเป็นรากฐานแห่งสรรพชีวิต ทั้งมนุษย์ สัตว์ รวมถึงพืชพรรณ
พระอัคนีทรงเป็นเทพเจ้าที่ไม่มีวันตาย และเป็นผู้ริเริ่มพิธีบูชายัญ พระอัคนีถือเป็นต้นแบบของศาสนาพราหมณ์ และเป็นสื่อกลางการสื่อสารระหว่างมนุษย์และพระเจ้า โดยการไปเยี่ยมมนุษย์ในพิธีบูชายัญ และจะเป็นผู้อัญเชิญเทพเจ้ามายังสถานบูชา
สำหรับตำนานการถือกำเนิดของพระองค์ มีเรื่องเล่าว่า พระองค์ทรงเป็นเทพแห่งปฐพี มีพระอินทร์หรือพระวายุเป็นเทพแห่งลม และมีพระสุริยะเป็นเทพแห่งท้องฟ้า อีกทั้งยังกล่าวว่า พระอัคนีถือเป็นเทพทั้ง 3 โลก และถือเป็นหัวหน้าของเทพทั้งสอง
มืเรื่องเล่าขานต่อกันมาว่า พระอัคนีทรงประสูติใหม่ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 พระองค์ทรงประสูติเป็นดวงอาทิตย์ในสรวงสวรรค์ หรือทรงประสูติเป็นเปลวเพลิงแห่งดวงอาทิตย์ ครั้งที่ 2 พระองค์ทรงประสูติบนโลกมนุษย์ ในพิธีบูชาไฟ โดยการจุดไฟของพราหมณ์และมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เกิดความอบอุ่น และบำรุงเลี้ยงในรูปของที่ตั้งเตาไฟ ซึ่งควันที่ลอยขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ ทำให้พระองค์สามารถสัมผัสในทุกรูปการณ์ได้ และพระองค์จึงได้รับการบูชาเหมือนดั่งเช่นวิญญาณในบ้านด้วย
ในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้าง พระอัคนีจึงมีบทบาทสำคัญในการให้ชีวิต อีกทั้ง ยังทรงร่วมแบ่งลักษณะอื่นๆจากพระเชษฐาหรือพระอินทร์ด้วย พระอัคนีมีศัตรู คือ พวกรากษส ผู้ที่ชอบล่าเนื้อมนุษย์ ตรั้นที่ต้องต่อสู้กับอสูรพระองค์จะแปลงพระวรกายเป็นอีกรูปหนึ่ง ซึ่งก็คือ พระฉวีกลายเป็นสีแดง มีพระเศียรเป็นเปลวไฟ 3 เศียร มีขา 3 ขา และมีพระกร 7 กร พระองค์จะทรงสวมมงกุฏผลไม้ เพื่อต่อสู้กับอสูร ส่วนฝ่ายอสูรจะมีรูปลักษณ์น่าเกลียดและมีเขี้ยวยาว ระหว่างการต่อสู้ พระอัคนีจะทรงเสกเขี้ยวเหล็กยาวแหลมขึ้น 2 อัน เพื่อมาต่อสู้กับพวกอสูร และใช้เขี้ยวเหล็กนั้นแทงอสูร ก่อนที่จะกลืนพวกมันลงไป
วิธีการบูชายัญของพระองค์จะมีพิธีการถวายเนื้อมนุษย์ ซึ่งเนื้อมนุษย์ที่ใช้จะต้องเป็นเนื้อที่บริสุทธิ์ ในการนี้จะมี ฤษีภฤคุ คอยจัดการอยู่ โดยเขาจะไปลักพาเด็กหญิง 1 คน เพื่อจัดพิธีหมั้นกับอสูรหรือปีศาจก่อน อสุราสามารทราบได้ว่าพระอัคนีทรงสถิตอยู่ทั่วทุกหนแห่ง จึงได้ถามพระอัคนีว่า เด็กหญิงผู้นั้นอยู่ที่ไหน พระอัคนีจึงตอบกลับอสุราด้วยความสัตย์ และมันจะหาตัวเด็กให้เจอ
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อพระอัคนีกลับมาสู่โลกมนุษย์โดย เทพครึ่งอสูร (Matarisvan) เทพครึ่งอสูรผู้ที่มารับคือ ฤษีภฤคุ ซึ่งจะเป็นผู้ทำพิธีบูชาพระอัคนีนั่นเอง ในขณะที่บางตำนานเล่าว่า พระองค์ไม่ได้โปรดการเสวยแค่เนยใสเท่านั้น แต่ยังโปรดการเสวยน้ำโสมเช่นพระอินทร์ด้วย
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทพแห่งการสวดมนต์ หรือ พฤหัสบดี (Brihaspati) พระองค์จะเป็นผู้ช่วยพระอินทร์ในการสร้างจักรวาล ส่วนบทบาทของพระองค์ที่สืบต่อมาในช่วงปลายยุคพระเวท หรือช่วงที่พระอินทร์ใกล้จะกลืนอำนาจของพระองค์เป็นผลสำเร็จแล้ว
พระพรหม (Brahm) เทพแห่งการสร้าง
 
พระพรหม (อักษรโรมัน Brahm) ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ถือว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าผู้สร้างจักรวาล และเป็นหนึ่งในตรีมูรติ อันประกอบไปด้วยพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ แต่พระพรหมในที่นี้ถือเป็นคนละอย่างกันกับ พรหมัน อันเป็นเป้าสูงสุดของปรัชญาฮินดู แม้จะมีรากศัพท์เดียวกัน โดยที่พรหมันนั้นเป็นนาม นปุงสกลิงก์ คือไม่มีเพศ ในขณะที่พระพรหม เป็นปุลลิงก์ หรือบุรุษเพศ
ตามความเชื่อจากคัมภีร์พระเวท ถือว่า พระพรหมมีชายาชื่อว่า พระนางปชาบดี มีพาหนะเป็นหงส์ มีใบหน้า 4 พระพักตร์ และเป็นเทพแห่งการสร้าง เทพเจ้าแห่งความเมตตา และการให้พร ที่เรียกกันว่า “พรหมพร”
ส่วนความเชื่อในพุทธศาสนา ถือว่า พระพรหมเป็นชาวสวรรค์ในชั้นที่สูงกว่าเทวดาทั่วไป เรียกว่า “พรหม” พระพรหมไม่มีเพศ แต่พระองค์ก็ยังคงอยู่ในกามาวจรภพ และยังคงมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสวรรค์ที่เรียกว่า ชั้นพรหม พระพรหมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ “รูปพรหม” หรือ พรหมที่มีรูป ที่มีทั้งหมด 16 ชั้น และ “อรูปพรหม” กรือ พรหมที่ไม่มีรูป มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยอรูปพรหมจะเหนือกว่ารูปพรหม
พระพรหมมีชื่อเรียกอื่นในภาษาไทยอีกหลายชื่อ เช่น จตุรพักตร์, ธาดาบดี, หงสรถ เป็นต้น โดยพระพรหมถือเป็นที่นิยมนับถืออย่างมากในเมืองไทย และมีรูปปั้นสำคัญอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ด้วย
พระพิฆเนศ
 
กำเนิดพระพิฆเนศได้บันทึกไว้ในคัมภีร์ปราณะในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่1 ว่าพระพิฆเนศเป็นโอรสของพระแม่อุมาเทวีกับพระศิวะเทพ โดยมีตำนานกล่าวไว้แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
ตำนานที่หนึ่ง : ปราบอสูรและรากษส
หลังจากที่อสูรและรากษสได้ทำพิธีบวงสรวงพระศิวะเพื่อขอพรจนได้รับพรตามประสงค์ อสูรและรากษสก็ได้ใจกลับมารุกรานเหล่าเทวดาจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระอินทร์ที่จึงเป็นต้องพาเหล่าเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าพระศิวะเจ้าเพื่อหาหนทางแก้ไข หรือหาผู้กล้าที่จะมาปราบเหล่าอสูรและรากษสให้หมดฤทธิ์ไป เมื่อพระศิวะได้ฟังคำร้องทุกข์จากเหล่าเทวดาแล้ว ก็ทรงแบ่งกายเป็นบุรุษรูปงามลงไปถือกำเนิดอยู่ในครรภ์ของพระอุมาเทวี เมื่อครบกำหนดคลอด พระองค์ได้ทรงให้พระนามว่าแก่ทารกน้อยว่า พระวิฆเนศวร ผู้ที่จะทำหน้าที่ปราบอสูรและรากษสทั้งหลาย หลังจากเสร็จสิ้นจากการปราบอสูรแล้ว พระศิวะได้ทรงมอบหมายให้พระวิฆเนศวรทรงเป็นผู้ขัดขวางและป้องกันเหล่าผู้มีจิตใจพาลต่างๆ ที่หวังจะมาขอพรเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งยังเป็นผู้คัดสรรเหล่าเทวดาและมนุษย์ที่กระทำกรรมดีและบันดาลให้พวกเขาค้นพบกับความสำเร็จได้โดยดี จากการขอพรต่อพระศิวะต่อไป
ตำนานที่สอง : พระปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) ปั้นเหงื่อไหลให้เป็นพระบุตร
กล่าวถึงพระปารวตีที่สรงน้ำอยู่ในอุทยาน พระองค์ได้นำเหงื่อไคลที่ไหลออกมา มาปั้นเป็นหุ่นเทวบุตรรูปงาม อีกทั้งยังทรงใช้เวทย์มนต์เพื่อสร้างสรรค์ให้หุ่นนั้นมีชีวิตจริง จากนั้นจึงทรงรับสั่งให้เทวบุตรรูปงามผู้นั้นออกไปเฝ้ายังประตูทางเข้าอุทยาน โดยกำชับว่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาโดยเด็ดขาด
เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยมาทุกครั้งที่พระแม่อุมามาทรงสรงน้ำ ณ อุทยานแห่งนี้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อถึงกำหนดการเสด็จกลับของพระศิวะ ทำให้พระศิวะได้พบกับหุ่นเทวบุตร หุ่นเทวบุตรองค์พยายามปกป้องมิให้ผู้ใดย่างกายเข้าในอุทยานตามที่ได้รับคำสั่งจากพระอุมา เมื่อพระศิวะทราบดังนั้น จึงทรงสั่งให้บริวารเข้าต่อสู้และได้สังหารเทวบุตรจนเสียชีวิตลง (บางคัมภีร์กล่าวว่าพระศิวะทรงใช้ตรีศูลตัดเศียรเทวบุตรนั้น แต่บางคัมภีร์ก็ว่าพระวิษณุทรงใช้จักรตัดเศียร)
เมื่อพระปารวตีทรงพบเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทรงโกรธพระสวามีเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับเกิดศึกใหญ่ระหว่างทั้งสองพระองค์ ความร้อนถึงพระฤาษีนารอด (นารท) ที่ต้องออกไปช่วยเจรจาศึกในครั้งนี้ สุดท้าย พระปราวตีได้กล่าวให้พระศิวะต้องหาหนทางในการชุบชีวิตเทวบุตรให้ฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง จึงจะยอมสงบศึกให้
พระศิวะจึงมีคำสั่งให้เทวดาผู้เป็นบริวารเดินทางไปตัดศรีษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบทางทิศเหนือ และนำมาต่อให้กับเทวบุตรผู้เป็นโอรส เทวดาจึงได้เดินทางกลับมาพร้อมกับนำเศียรช้างที่มีงาเดียวมาด้วย หลังจากชุบชีวิตเทวบุตรแล้ว ก็ทรงตั้งพระนามใหม่ว่า คือ คชานนะ (มีหน้าเป็นช้าง) และเอกทันต (ผู้มีงาเดียว) อีกทั้งยังทรงเล่าเรื่องราวต่างๆให้ทั้งสองพระองค์รับทราบ เมื่อทั้งสองพระองค์ทราบว่าพระศิวะทรงเป็นพระบิดา ซึ่งฝ่ายโอรสจึงรีบหมอบกราบเพื่อขออภัยโทษในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตน ทำให้พระศิวะทรงพอพระทัยยิ่งนัก ถึงกับประทานพรเป็นรางวัลให้แก่พระโอรส ให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือเหล่าภูตผีทั้งปวง อีกทั้งยังทรงแต่งตั้งให้เป็น คณปติ หรือผู้ที่เป็นใหญ่ในที่สุด
ตำนานที่สาม : ขวางคนชั่วที่ต้องการล้างบาป ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร
ตำนานกล่าวไว้ว่าพระปารวตีได้ทรงนำน้ำที่ใช้สรงกายมาผสมเหงื่อไคล แล้วปั้นเป็นเทวบุตรรูปกายเป็นมนุษย์แต่มีเศียรเป็นช้าง จากนั้นจึงประพรมน้ำจากพระคงคาเพื่อเนรมิตให้เทวบุตรมีชีวิตขึ้นมา ทั้งนี้พระองค์มีพระประสงค์ให้เทวบุตรไปขัดขวางคนชั่วที่จะไปบูชาศิวลึงค์ เพราะหวังที่จะไปล้างบาปให้แก่ตนเองไม่ให้ตนตกขุมนรก ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร
จากเรื่องเล่านี้เอง ทำให้ชาวฮินดูนิยมนำรูปปั้นของพระพิฆเนศมาจุ่มน้ำ ณ วัดคเนศจาตุรถี หรือบางครั้งก็มีความเชื่อว่า หากนำเทวรูปเล็กๆไปทิ้งตามแม่น้ำคงคา น้ำจากแม่น้ำคงคาจะทำให้พระพิฆคเนศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง
ตำนานที่สี่ : พระกฤษณะอวตาร
มีเรื่องเล่าเมื่อครั้งที่พระปารวตียังไม่มีโอรสว่า พระศิวะเทพผู้เป็นสวามีได้แนะนำให้จัดทำพิธีปันยากพรต (การบูชาพระวิษณุเทพในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนมาฆะ) โดยพิธีนี้จะใช้เวลานานถึง 1 ปี แต่หากทำได้โดยตลอดจนครบ ก็จะทำให้ขอบุตรได้สำเร็จ ซึ่งพระกฤษณะจะยอมอวตารลงมาจุติก็ต่อเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามคำของพระศิวะเทพแล้ว ด้วยเหตุนี้ เหล่าเทวดาทั้งหลายจึงได้เข้ามาร่วมอวยพรในการถือกำเนิดของพระโอรสพระองค์นี้ ซึ่งรวมไปถึงเทพศนิ (พระเสาร์) ด้วย ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าหากพระศนิเพ่งมองสิ่งใด สิ่งนั้นก็มักจะเกิดไฟเผาผลาญจนมอดดำหมดสิ้นไป
ในครั้งที่พระศนิได้เข้าร่วมพิธีอวยพรและชื่นชมพระโอรส พระศนิได้เผลอตนไปเพ่งมองพระโอรสจนเศียรของพระกุมารหลุดกระเด็นไปยังโคโลก (ที่ประทับพระกฤษณะ) พระศิวะจึงรีบมีบัญชาให้พระวิษณุออกตามหาเศียรพระโอรสกลับมา แต่ก็ไม่สามารถหาพบ เมื่อผ่านแม่น้ำบุษปภัทร พระวิษณุทรงเห็นช้างนอนหันหัวไปทางทิศเหนืออยู่ จึงได้ตัดเศียรช้างตัวนั้นเพื่อนำกลับมาต่อให้พระโอรส
ตำนานที่ห้า : พระศิวะ-พระปารวตีแปลงเป็นช้าง
ครั้งที่พระศิวะและพระปารวตีได้เสด็จไปยังภูเขาหิมาลัย ทั้งสองพระองค์ได้แลเห็นช้างกำลังสมสู่กัน จึงบังเกิดความใคร่พระองค์จึงทรงแปลงกายเป็นช้าง และร่วมสมสู่จนบังเกิดเป็นพระโอรส ที่มีนามว่า พระพิฆเนศ
ตำนานที่หก : พระวิษณุเทพ เปล่งวาจากสิทธิ์ในพิธีโสกันต์
หลังจากที่พระศิวะและพระปารวตีทรงจัดพิธีโสกันต์ให้กับพระโอรสในพิธีฤกษ์วันอังคาร พระองค์ได้เรียนเชิญเทพทั้งหลายให้มาร่วมเป็นสักขีพยาน ขาดแต่เพียงองค์วิษณุเทพที่กำลังทรงอยู่ระหว่างบรรทม
เมื่อใกล้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ พระศิวะเทพจึงทรงให้พระอินทร์ไปเป่าสังข์เพื่อปลุกให้พระวิษณุเทพตื่นจากบรรทม หลังจากที่พระวิษณุเทพทรงตืนจากบรรทมด้วยเสียงดังของสังข์ ก็ร้องตะโกนออกไปด้วยความรำคาญว่า “ไอ้ลูกหัวขาดจะนอนให้สบายก็ไม่ได้” ด้วยอำนาจของวาจาที่พระวิษณุเทพเปล่งออกมา ทำให้เศียรของพระโอรสหายไปในทันที เมื่อเหล่าเทพทั้งหลายเห็นร่วมกัน ก็จึงปรึกษากันว่า วันอังคารนี้ถือเป็นฤกษ์ไม่ดี ห้ามทำพิธีการมงคลใดๆ ทุกประการ
ส่วนพระเศียรของโอรสพระศิวะเทพที่หายไป พระองค์ก็มีบัญชาให้พระวิษณุกรรมไปตัดหัวมนุษย์ที่เพิ่งสิ้นชีวิต ณ ทิศตะวันตก แล้วรีบนำกลับมาต่อให้แก่โอรสโดยเร็ว แต่ในวันนั้น หาได้มีมนุษย์ผู้ใดสิ้นอายุขัยลง พระวิษณุกรรมเห็นว่ามีแค่เพียงช้างพลายงาเดียวเท่านั้นที่สิ้นชีวิตลง จึงตัดสินใจตัดหัวช้างพลายตัวนั้น เพื่อนำกลับมาถวายพระศิวะเทพ
ในช่วงที่ศาสนาพุทธกำลังเติบโตในอินเดีย มีเรื่องเล่ากล่าวในตอนนี้ไว้ว่า หลังจากที่เทวดานำหัวช้างมาต่อให้แก่พระโอรสแล้ว พระโอรสก็ยังไม่อาจฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ พระศิวะเทพจึงต้องให้พระวิษณุเทพไปทูลเชิญเสด็จพระศิริมานนท์อรหันต์ ให้โปรดมาสวดพระคาถาชินบัญชร ซึ่งหลังจากได้รับฟังสวดจบ พระโอรสก็ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง
แต่บางตำนานก็กล่าวกันว่า ในพิธีโสกัณต์ พระราหูได้เคยเตือนพระศิวะแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น และควรทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย แต่พระศิวะเทพก็ไม่เชื่อ แต่บ้างก็ว่า พระอังคารไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธี จึงเกิดความโกรธแค้นและได้ลอบเข้าตัดเศียรพระโอรสไปโยนทิ้งทะเล
พระศิวะ (คนไทยเรียกว่า พระอิศวร) เทพแห่งการทำลาย 
พระศิวะ (หรือที่คนไทยเรียกว่า พระอิศวร)  มีชายาคือ พระแม่อุมาเทวี และมีโอรสคือ พระพิฆเนศ พระศิวะถือเป็นมหาเทพผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล และในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือเป็นหนึ่งใน ตรีมูรติ หรือ 3 มหาเทพสูงสุด อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ
พระศิวะมีจุดเด่นที่วรรณะสีขาว แดง หรือดำ มีเส้นพระเกศายาวคล้ายฤาษี มีตรีเนตรหรือดวงตาที่สามบนพระนลาฏ มีพระจันทร์เสี้ยวบนพระเกศ มีงูพันพระศอซึ่งเป็นสีดำ  ห้อยประคำ และมีอาวุธเป็นตรีศูลที่คล้องไว้ด้วยกลองบัณเฑาะว์
พระศิวะมีหน้าที่ประทานพรวิเศษให้แก่ผู้ที่ยึดหมั่นในความดี และอยู่ในศีลธรรม หากผู้ใดที่ประพฤติตนเพื่ออุทิศถวายแก่พระองค์ ไม่ว่าจะปรารถนาสิ่งใด พระองค์ก็จะทรงประทานให้ตามที่ขอ แต่หากได้พรสมปรารถนาไปแล้ว กลับกระทำตนผิดไปจากเดิม ผู้นั้นก็จะบังเกิดความวิบัติในชีวิต โดยมีพระศิวะเทพเป็นผู้ทำลายนั่นเอง
มีความเชื่อเล่าขานกันว่า ใครก็ตามที่เจ็บไข้ได้ป่วย หากได้พระศิวะมาช่วยปัดเป่ารักษาเยียวยา อาการต่างๆ ก็จะหายไปอย่างมหัศจรรย์นัก ดังนั้น หากผู้ใดที่ต้องการขอพรให้ตนหรือคนในครอบครัวหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ควรกระทำการบวงสรวงบูชาและขอพรจากพระศิวะ  ความเจ็บไข้ที่เคยปรากฏก็จะถูกปัดเป่าให้หายไปได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ พระศิวะยังเป็นเทพที่คอยขับไล่สิ่งชั่วร้าย และบันดาลให้เกิดสิ่งดีงามอันเป็นสิริมงคล ดังนั้น ผู้ใดที่มีความทุกข์ หากได้บวงสรวงบูชาพระศิวะ และขอพรให้พ้นทุกข์แล้ว พระศิวะก็จะประทานพรให้ผู้นั้นพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์ได้
สำหรับผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรทั้งปวง ทั้งอาชีพเลี้ยงวัว เลี้ยงม้า หรือเลี้ยงแกะ พระศิวะก็สามารถเป็นเทพที่อำนวยพร และประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เกษตรกรด้ทั้งสิ้น ผู้บูชาพระศิวะจะประสบความสำเร็จ และมีความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิต
นอกจากบทบาทความสำคัญในการเป็นผู้ทรงพระมหากรุณา ประทานพรแก่มวลมนุษย์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่เด่นชัด ก็คือ บทบาทการเป็นมหาเทพแห่งคีตา พระศิวะเป็นเทพเจ้าแห่งการดนตรี และการร่ายรำ ระบำฟ้อนอีกด้วย
ไม่ได้แต่เป็นผู้สร้างเท่านั้น พระศิวะยังเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งการทำลายล้างด้วย พระองค์เปี่ยมล้นไปด้วยอำนาจ พระพักตร์ของพระองค์สามารถแสดงให้เห็นว่าเป็นได้ทั้งชายและหญิง เป็นทั้งผู้ใจดีและดุร้าย จากชิ้นฝุ่นธุลีหรือใหญ่โตจนถึงภูเขาหิมาลัย จากมดตัวเล็กๆหรือช้างตัวใหญ่ จากมนุษย์หรือพระผู้เป็นเจ้า อะไรก็ตามที่เราสามารถเห็นได้นั้น เป็นรูปแบบของพระศิวะทั้งหมด
ทางศาสนาฮินดู ในคัมภีร์ของอุปนิษัท การท่องคำในพระคัมภีร์ส่วนมากมีคำว่า “ศิโวมฺสวหะ” หรือข้าคือศิวะ ซึ่งหมายความว่า บุคคลผู้ที่มีสติปัญญาทุกๆคนควรพิจารณาถึงตัวเอง และสิ่งทั้งหลายของสากลโลกให้เป็นไปในรูปแบบของพระศิวะทั้งสิ้น หากคิดระลึกได้เช่นนี้แล้ว ผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุขความสงบอย่างแท้จริง
พระลักษมี เทพีแห่งความความงาม ความอุดมสมบูรณ์
พระลักษมี (สันสกฤต: ลกฺษฺมี) หรือ พระมหาลักษมี ในศาสนาฮินดู นับถือพระลักษมีให้เป็นเทพีแห่งความมั่งคั่ง ความสวยงาม โชคชะตา ความรัก ดอกบัว และความอุดมสมบูรณ์ พระแม่ลักษมีมีรูปเคารพที่พบได้ตามศาสนสถานที่ใช้ในศาสนาฮินดู ศาสนสถานในศาสนาเชน และศาสนสถานในศาสนาพุทธ
กล่าวกันไว้ว่า พระลักษมีและเทพีแห่งกรีกองค์หนึ่ง ที่มีนามว่า “อโฟรไดท์ตี้” มีความเหมือนคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ความเหมือนที่ว่านี้ เนื่องจากเทพีทั้งสองนี้ถือกำเนิดมาจากท้องทะเลอันกว้างใหญ่เหมือนกัน อีกทั้งทั้งคู่ยังเป็นตัวแทนของความงดงามด้วย
พระแม่ลักษมี และ พระวิษณุ นั้นเป็นคู่กัน ครั้งที่พระวิษณุอวตารเป็นพระราม พระแม่ลักษมีก็อวตารมาเป็นนางสีดาคู่กับพระรามด้วย ส่วนเมื่อครั้งที่พระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ พระแม่ลักษมีก็ตามลงมาอวตารเป็น พระนางรัตตะ(พระราธา) คู่กับพระกฤษณะด้วย
พระวิษณุ (Vishnu) หรือพระนารายณ์ เทพผู้ดูแลรักษา 

พระวิษณุ (Vishnu) หรือ พระนารายณ์ เป็นหนึ่งในสามของมหาเทพ ที่คอยคุ้มครอง ป้องกัน และรักษาโลกทั้ง 3 ไว้ ตามความเชื่อจากคัมภีร์พราหมณ์ ของชาวฮินดู  พระวิษณุจะมีลักษณะของพระวรกายเปลี่ยนไปตามยุค แต่ละยุคจะมีสีต่างกันพระวิษณุทรงฉลองพระองค์เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ สวมมงกุฎทอง และเสื้อผ้าสีเหลือง พระวิษณุมี 4 กร แต่ละกรก็จะถือสิ่งของที่ต่างกันไป  อาวุธของพระวิษณุที่เห็นได้บ่อยที่สุด ก็คือ สังข์ จักร ตรี คทา ส่วนอีกกรอาจจะถือดอกบัวบ้าง หรืออยู่ในลักษณะประทานพร ซึ่งจะไม่ถืออะไรเลย ส่วนพาหนะของพระวิษณุคือ พญาครุฑ
ที่ประทับของพระวิษณุจะอยู่ที่เกษียรสมุทร โดยพระวิษณุชอบที่จะบรรทมอยู่บนหลังอนันตนาคราช ข้างกายของพระวิษณุ จะมีพระชายา ที่ชื่อว่า พระลักษมีมหาเทวี เฝ้าปรนิบัติอยู่ไม่ห่าง
พระวิษณุ ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “หริ” หรือมีความหมายว่า ผู้ดูแลแห่งจักรวาล ด้วยเหตุนี้จึงยกว่าพระวิษณุถือเป็นเทพสูงสุด เนื่องจากทุกอย่างเกิดขึ้นจาก “หริ”
“หริ” สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
  1. พระพรหม ผู้มีหน้าที่บันดาลสรรพสิ่งทุกอย่างในทั้งสามโลก
  2. พระวิษณุ หรือ พระหริ ผู้มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ความสงบ และความสมดุล  ของโลกทั้งสาม
  3. พระศิวะ ผู้มีหน้าที่ทำลายสิ่งร้ายทุกประการในทั้งสามโลก
ในคัมภีร์ไวษณพนิกาย (ซึ่งเป็นคัมภีร์สำหรับผู้ที่นับถือพระวิษณุ) ได้กล่าวถึงการกำเนิดของพระวิษณุ ไว้ว่า เมื่อพระวิษณุประสงค์จะสร้างโลกทั้งสาม ท่านได้เห็นว่าแม้ตัวเองจะเป็นผู้เป็นใหญ่ที่สุดในจักรวาลมี  แต่การสร้างโลกทั้งสามนี้ถือเป็นงานหนักมากเกินกว่าที่คนเดียวจะทำได้ เมื่อคิดดังนั้น พระองค์จึงแบ่งร่างกายของพระองค์ออกเป็นส่วนๆ จนได้เป็นมหาเทพทั้ง 3 พระองค์ แขนซ้ายเกิดขึ้นมาเป็นพระพรหม แขนขวาเกิดขึ้นมาเป็นพระศิวะ และหน้าอกส่วนลำตัวเกิดขึ้นมาเป็นพระวิษณุ (ตามรูปตรีมูรติ จะแสดงให้เห็นว่า พระวิษณุจะมีพระพักตร์อยู่ตรงกลางเสมอ)
ส่วนในคัมภีร์ของไศวนิกาย (ซึ่งเป็นคัมภีร์สำหรับผู้ที่นับถือพระศิวะ) กลับกล่าวแตกต่างกันออกไป โดยกล่าวไว้ว่า พระปรเมศวร หรือ พระศิวะ เป็นผู้สร้างพระวิษณุ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ พระองค์ต้องการทำงานใหญ่ โดยจะสร้างสวรรค์และโลก จึงต้องการผู้ช่วย ว่าแล้วก็นำพระหัตถ์ข้างซ้ายมาลูบพระหัตถ์ข้างขวา ทำให้ปรากฎเป็นเทพนามว่า “พระวิษณุ” หรือ “พระนารายณ์” ขึ้นมา จากนั้นพระปรเมศวรก็ได้สอนความรู้ด้านศิลปะในทุกด้านให้แก่พระวิษณุ และมอบเกษียรสมุทรให้เป็นที่ประทับ หากเกิดเหตุร้ายไม่ว่าจะเป็นในโลกมนุษย์ หรือสวรรค์ พระวิษณุจะต้องไปทำหน้าที่กำจัดเหล่าอสูร และผู้ที่ประสงค์ร้ายคนนั้น ๆ หรือในบางครั้งบางคราว อาจจะมีเหล่าเทพเทวดามาร้องขอบ้าง
ในขณะที่คัมภีร์มหาภารตะ กล่าวไว้ว่า เดิมที่พระนารายณ์เป็นเพียงฤๅษีตนหนึ่ง ผู้เป็นบุตรของฤๅษีธรรมมะ และได้เดินทางพร้อมเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า “นร” จากโลกมนุษย์ไปยังสถานที่ของพวกพราหมณ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อบำเพ็ญเพียร จนในที่สุดก็ได้รับการเคารพบูชาจากเทวดาทั้งหลาย และในเวลาต่อมา ก็มีเหล่าเทวดามาขอร้องให้ช่วยกำจัดอสูรให้ ฤๅษีทั้งสองเห็นว่าเทวดาได้รับความเดือดร้อน จึงรับปากช่วยเหลือ  ซึ่งฤาษีก็สามารถสู้รบชนะอสูรได้จนสำเร็จ จึงได้รับความเคารพจากเหล่าเทวดามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายหลัง ฤๅษีนารายณ์ได้เดินทางไปยังหิมาลัยเพื่อออกบำเพ็ญเพียร และได้ไปบรรลุผลเป็นพราหมณ์ หรือผู้รู้แจ้งทุกสิ่งในโลกในที่สุด ฤๅษีนารายณ์จึงได้เป็นผู้นำแหล่งเหล่าพราหมณ์ และได้รับการรู้จักและยกย่องบูชาในนาม “พระวิษณุหรือ พระนารายณ์ ในเวลาต่อมา
ความแตกต่างของความเชื่อ ทำให้คำเรียกของพระวิษณุ พระนารายณ์ ถูกเรียกขานกันต่างออกไปหลายรูปแบบ ซึ่งจะไม่เหมือนกันแล้วแต่ฤทธิ์อำนาจ หรือเหตุการณ์ที่ต่างกันตามเวลา ยกตัวอย่างเช่น
อนันตะ แปลว่า ไม่สิ้นสุด, จตุรภุช แปลว่า มี 4 กร, มุราริ แปลว่า เป็นศัตรูแห่งมุระ,  นระ (นะระ) แปลว่า ผู้ชาย, นารายณ์ แปลว่า ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ, ปัญจายุทธ แปลว่า พระผู้ทรงอาวุธทั้ง 5 อย่าง, ปีตามพร แปลว่า ทรงเครื่องสีเหลือง, ทโมทร แปลว่า มีเชือกพันเอาไว้รอบเอว, กฤษณะ, โควินทะ, โคบาล แปลว่า ผู้เลี้ยงวัว, ชลศายิน แปลว่า ผู้นอนเหนือน้ำ, พระพิษณุหริ แปลว่า ผู้สงวน, อนันตไศยน แปลว่า นอนบนอนัตนาคราช, ลักษมีบดี แปลว่า ผู้เป็นสามีของพระลักษมี, วิษว์บวร แปลว่า ผู้คุ้มครองโลก, สวยภู แปลว่า เกิดเอง, เกศวะ แปลว่า ผู้มีผมอันงาม, กิรีติน แปลว่า ผู้ใส่มงกุฎ
พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ ทรงประทับที่ไวกูณฐ์ หรือ บนสวรรค์ มีพระวรกายสีนิล แต่งกายดั่งกษัตริย์ มีมงกุฎเหนือศีรษะ อาภรณ์มีสีเหลือง มีพาหนะเป็นครุฑ มีกร 4 กร ซึ่งถือสังข์ จักร ตรี คทา สลับกันเป็นอาวุธ หรือบ้างก็ทรงถือ ดอกบัว ลูกศร ดอกไม้ เชือกบ่วงบาศ หรือสายฟ้า

ความสำคัญด้านศาสนา-ลัทธิ
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-6 ในขณะที่ ลัทธิไวษณพนิกาย ที่นับถือว่าพระวิษณุเป็นใหญ่ที่สุดเหนือมหาเทพทั้งหลาย กลายเป็นลัทธิที่มีความรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยราชวงศ์คุปตะ ทำให้กษัตริย์อินเดียส่วนใหญ่นับถือลัทธินี้ และอุปภัมภ์ลัทธินี้ไว้ ทั้งนี้ได้ถือเอาว่า หัวใจที่สำคัญของลัทธิภควตา (Bhagavata) คือ การอวตารขององค์พระวิษณุ
พอถึงในสมัยราชวงศ์คุปตะ ลัทธิก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ และถึงแม้ว่าราชวงศ์คุปตะจะเสื่อมลง ลัทธิความเชื่อนี้ก็ยังคงปรากฎอยู่ ชาวฮินดูจึงยังเคารพบูชาปางอวตารของพระวิษณุ สืบต่อกันมาจวบจนถึงในปัจจุบัน
การอวตาร (Avatar) หรือ รากศัพทฺในภาษาอังกฤษเขียนว่า “Incarnation” ที่มีความหมายว่า “การลงมา” หมายถึง “การลงมาเกิดเป็นมนุษย์” หรือ “การเข้าในร่างของมนุษย์”  การที่พระวิษณุเสด็จลงมามีชีวิตบนโลกมนุษย์ กันเพื่อปราบยุคเข็ญตามภาคตอนต่าง ๆ ถือเป็นภารกิจอันสำคัญอย่างยิ่งของพระองค์ และเมื่อมียุคเข็ญเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ พระวิษณุก็จะลงมาอวตาร เพื่อขจัดความทุกข์ยากให้หมดสิ้นไป

การอวตารของพระวิษณุ
พระวิษณุอวตารลงมาเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเหตุผลของการอวตารของพระองค์จะเป็นไปตามหลายเหตุผล เช่น เป็นคำสั่งของพระศิวะ หรือการร้องขอของเหล่าเทวดา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะนับจำนวนครั้งของการอวตารของพระวิษณุ
จุดประสงค์การอวตารเพื่อลงมาช่วยเทวดา และมนุษย์โลก มีทั้งหมด 25 ปาง โดยปางที่สำคัญมากที่สุดแบ่งได้ 10 ปาง ดังต่อไปนี้
ปางที่ 1 มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลา) เพื่อช่วยไม่ให้เกิดน้ำท่วมโลก อันจะทำให้มวลมนุษย์และสัตว์เดือดร้อน
ปางที่ 2 กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่า) เพื่อช่วยหมู่เทวดา และ อสูรกวนเกษียรสมุทร
ปางที่ 3 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) แบ่งเป็น 2 ตำนาน คือ 1) เพื่อปราบอสูรที่ชื่อว่า “หิรัณยากษะ” ที่ขโมยเอาแผ่นดินไปม้วนเหน็บไว้ที่แนบกาย และ 2) เพื่อสงบศึกการต่อสู้ระหว่างพลังอำนาจของพระศิวะ และ พระพรหม
ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์) เพื่อกำจัดอสูรที่ชื่อว่า “หิรัณยกศิปุ” น้องชายของ “หิรัณยากษะ”
ปางที่ 5 วามนาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย)เพื่อปราบอสูรที่ชื่อว่า “พาลี” ที่เป็นเหลนของ “หิรัณยกศิปุ”
ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหม์ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ) เพื่อกำจัดมนุษย์ผู้กษัตริย์ที่มีใบหน้าหนึ่งพันหน้า ที่ชื่อว่า “พระเจ้าอรชุน” หรือ “พระเจ้าสหัสอรชุน” ผู้ก่อให้เกิดยุคเข็ญและทำลายล้มศาสนา
ปางที่ 7 รามาวตาร หรือ รามจันทราวตาร(อวตารลงมาเป็นพระราม) เพื่อกำจัดอสูรที่ชื่อว่า “ราวณะ” หรือ “ราพณ์” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ทศกัณฐ์” ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา  ปางอวตารนี้ถือเป็นหลักของจารีต ประเพณี และขนบธรรมเนียมของสังคมในประเทศอินเดีย
ปางที่ 8 กฤษณาวตาร (อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ) เพื่อขับรถม้า และสอนวิธีการดำเนินชีวิต ให้แก่ “พระอรชุน”
ปางที่ 9 พุทธาวตาร (อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า) จากความเชื่อของชาวฮินดู เล่าว่า พระนารายณ์ที่อวตารลงมาในปางนี้ มีจุดประสงค์เพื่อหลอกลวงให้พวกที่ไม่นับถือวรรณะแยกออกไปจากศาสนาพราหมณ์  หรือในบางแห่งก็เชื่อกันว่า ปางที่เก้านี้เป็นการอวตารลงมาคู่กับพระกฤษณะ ที่เรียกว่า พลรามาวตาร (อวตารลงมาเป็นพลรามหรือพระพลราม) ผู้เป็นพี่ชายของพระกฤษณะ
ปางที่ 10 กัลกยาวตาร หรือ กัลกิยาวตาร(อวตารเป็นกัลกี หรือมนุษย์ผู้ขี่ม้าขาว ) เป็นการอวตารที่ทำนายอนาคตเอาไว้ จึงยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ทำนายไว้ว่า เมื่อถึงเวลาที่เป็นปลายแห่งกลียุค หรือเป็นเวลาที่ผู้คนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้จักธรรมะอีกต่อไป จะมีผลให้โลกทั้งโลกต้องเผชิญกับยุคเข็ญไปทั่ว ซึ่งในเวลานั้นจะมีบุรุษขี่ม้า มาปรากฏกาย เพื่อช่วยขจัดปัดเป่าความเดือดร้อน และนำธรรมะกลับมาสู่โลกใบนี้อีกครั้งหนึ่ง

พระนารายณ์ 10 ปาง ในพระพุทธศาสนา
คาดเดาว่า ชาวพุทธไม่ยินดีที่ชาวฮินดูจะนำเอาพระศาสดาของพุทธไปเป็นอวตารเป็นปางหนึ่งของมหาเทพของศาสนาพุทธ จึงมีการเปลี่ยนปางที่ไม่สำคัญเข้ามาแทนที่ อันได้แก่
ปางที่ 1 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูเผือกเขี้ยวเพชร)
ปางที่ 2 กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่าทอง)
ปางที่ 3 มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลากรายทอง)
ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นครึ่งสิงห์)
ปางที่ 5 วามนาวตาร หรือ ทวิชาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย)
ปางที่ 6 มหิงสาวตาร (อวตารเป็นควาย)
ปางที่ 7 อัปสราวตาร (อวตารเป็นนางฟ้า)
ปางที่ 8 รามาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์ที่ชื่อว่าพระราม)
ปางที่ 9 กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ)
ปางที่ 10 กัลกยาวตาร (อวตาร วีรบุรุษขี่ม้าขาวในร่างมนุษย์)
ความเชื่อและคตินิยม
พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ มี 4 กร แต่ละกรก็จะถือสิ่งของที่ต่างกันไป  อาวุธของพระวิษณุที่เห็นได้บ่อยที่สุด ก็คือ สังข์ จักร ตรี คทา พระวิษณุถือเป็นเทพผู้สร้าง ถ่ายทอดความรู้ด้านงานช่างต่างๆ โดยอิทธิฤทธิ์ที่มีได้รับมาจากพระอิศวร มากมาย อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกว่า หากใครนิยมบูชา พระวิษณุจะคุ้มครองให้มีโชคลาภ แต่บุคคลผู้นั้นจะต้องดำเนินตนอยู่ในศีล มีสัจจะ  รวมทั้งเจริญภาวนาเป็นที่ตั้ง ผู้ที่นับถือพระวิษณุ ควรท่องคำบูชาพระวิษณุ หรือ นารายณ์ ดังนี้
“โอม…นะโม นารายณะ นามะ ภะวันตุเม ทุติยัมปิ…นะโม นารายณะ นามะ ภะวันตุเม ตะติยัมปิ…นะโม นารายณะ นามะ ภะวันตุเม ฯ”
หากต้องการอธิษฐานขอพรพระนารายณ์ ให้กล่าวตามดังนี้
“ โอม…ศานตาการัม ภุชะคะศะยะนัม ปัทมะนาภัมสุ ุเรศัม วิศวาธารัม คะคะนะสะทฤศัม เมฆะวรรณัม ศุภางคัม ลักษมีกานตัม กะมะละนะยะนัม โยคิภีร์ ธยานะคัมมยัม วันเทวิษณุมอภะวะภะยะหะรัม สรรวะโลกัยกานาถัม ฯ”
หากต้องการอธิษฐานขอพรพระวิษณุ ให้กล่าวตามดังนี้
“โอม…สะศางขะจักรัม สะกิริฏะ กุณตะลัม สปิตะวัสตรัม สะระสีรูเหกษณัม สะหาระวักษะสถะละ เกาสตุภะ ศริยัม นะมามิ วิษณุม ศิระสา จตุรภุซัม ฯ”
หากต้องการอธิษฐานขอพรพระราม ให้กล่าวตามดังนี้
“ โอม…นีลามพุชะ ศยามะละ โกมะลางคัมสีตา สมา โรปิตะ วามะภาคัม ปาเณา มหาสายะกะ จารุ จาปัม นะมามิ รามัม ระฆุวัมศะ นาถัม ฯ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น