วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การคุมกำเนิด


    อัตราการตั้งครรภ์และการแท้งในวัยรุ่นของสหรัฐอเมริกามีอัตราส่วนสูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ไม่ต่อเนื่อง, ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้คุมกำเนิด ข้อมูลระดับชาติ (National data) จากการสำรวจในปี 2006-2008 พบว่า การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดในวัยรุ่น เนื่องจากสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ อัตราส่วนการใช้วิธีคุมกำเนิดมีดังนี้
  • ถุงยางอนามัย 95%
  • การหลั่งภายนอก 58%
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด 55%
  • ยาฉีดคุมกำเนิด 17%

      นอกจากนี้ ในวัยรุ่นพบว่ามีการใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉิน 17%, แผ่นแปะคุมกำเนิด 13%, การใส่ห่วงในช่องคลอด (Vaginal ring) 7% การวางแผนเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดของวัยรุ่นตอนต้นเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยช่วยดูแลให้คำแนะนำ เมื่อเปรียบเทียบกับวัยรุ่นตอนปลายจะสามารถวางแผนในการคุมกำเนิดและมีการตัดสินใจที่ดีกว่า
ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นต้องการการคุมกำเนิด คือ

  • รู้สึกว่าการตั้งครรภ์เป็นผลเสีย
  • วางแผนที่จะศึกษาต่ออีกเป็นระยะเวลานาน
  • อายุมากขึ้น
  • กลัวการตั้งครรภ์หรือเคยตั้งครรภ์มาก่อน
  • ครอบครัว เพื่อน หรือแพทย์ให้การสนับสนุนในการคุมกำเนิด

ปัจจัยที่มีผลทำให้วัยรุ่นไม่สามารถที่จะเริ่มการคุมกำเนิดได้

เกิดจากการไม่สามารถเข้ารับบริการอย่างเป็นส่วนตัวได้, กลัวการตรวจภายในเมื่อมารับบริการ หรือกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เป็นต้น
1. ต้องการความเป็นส่วนตัวและปิดเป็นความลับ
แพทย์ควรตระหนักว่าวัยรุ่นก็ต้องการการบริการที่เป็นความลับ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อวัยรุ่นวิธีหนึ่งก็คือการที่แยกดูแลวัยรุ่นโดยไม่ขึ้นกับพ่อแม่ (independent)
ผู้ปกครองและวัยรุ่นจำเป็นต้องได้รับทราบข้อมูลในการคุมกำเนิดร่วมกัน โดยที่วัยรุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ต่างจากในวัยเด็กที่ผู้ปกครองจะเป็นผู้สื่อสารและตัดสินใจโดยตรง และในการเข้ารับบริการการที่แพทย์เปิดโอกาสพูดคุยกับวัยรุ่นเป็นการส่วนตัว โดยปราศจากพ่อแม่ ทั้งในเรื่องการซักประวัติทั่วไป ประวัติทางสูติกรรมและนรีเวช รวมทั้งเรื่องเพศสัมพันธ์ จะทำให้ทราบข้อมูลได้มากกว่าและอาจทราบพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงของวัยรุ่นได้ เพราะบางครั้งวัยรุ่นต้องการปิดเป็นความลับจากผู้ปกครอง
2. ทางด้านกฎหมาย
ในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันอยู่เรื่องกฎหมาย การเข้ารับบริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดของวัยรุ่น โดยที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย บางรัฐวัยรุ่นสามารถเข้ารับบริการได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่บางรัฐจำเป็นต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย และต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้เซ็นต์ใบยินยอม เป็นการขัดขวางการเข้ารับบริการด้านการคุมกำเนิดของวัยรุ่น
3. การตรวจภายใน
วัยรุ่นส่วนมากรู้สึกว่าการตรวจภายในเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่ต้องการเข้ารับบริการในการคุมกำเนิด และประสบการณ์ที่ดีในการตรวจภายในครั้งแรกก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่น ด้วยเหตุนี้ FDA จึงไม่แนะนำว่ามีความจำเป็นในการตรวจภายแก่วัยรุ่นตั้งแต่การมารับบริการคุมกำเนิดครั้งแรกในวัยรุ่นที่ไม่มีปัญหาทางนรีเวช (เช่น ตกขาวผิดปกติ, คันหรือมีกลิ่นเหม็นในช่องคลอด เป็นต้น) วัยรุ่นเหล่านี้มักจะกลับมาตรวจภายในเอง ภายใน 3-6 เดือน
นอกจากการตรวจภายในแล้ว เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายทั่วไปแล้วพบการบาดเจ็บตามร่างกาย ต้องซักประวัติเกี่ยวกับการถูกทำร้ายร่างกายหรือทางเพศร่วมด้วย
4. การกังวลต่อผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
    วัยรุ่นมีความกังวลว่า การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นแพทย์มีหน้าที่ที่จะอธิบายให้วัยรุ่นเข้าใจว่ายาเม็ดคุมกำเนิดไม่ได้มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่ม, การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) อาจจะมีผลทำให้น้ำหนักขึ้นได้ แต่ก็มีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากยาฉีดคุมกำเนิด
  • มวลกระดูก
    ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) และยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (20 mcg) มีผลต่อค่าสูงสุดของมวลกระดูกในวัยรุ่น เนื่องจากยาทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกหรือรบกวนการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูก เอกสารกำกับยาได้เตือนให้ใช้อย่างระวังในการใช้ยาฉีดคุมคุมกำเนิดนานเกิน 2 ปี แต่ก็ยังไม่มีรายงานการเกิดกระดูกพรุน หรือกระดูกหักในผู้หญิงที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
ในเรื่องที่ว่า แนะนำให้หลีกเลี่ยงยาฉีดคุมกำเนิดในวัยรุ่นตอนต้นก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่าการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมในวัยรุ่น เนื่องจากประโยชน์ของการคุมกำเนิดมีมากกว่าข้อเสียในเรื่องของมวลกระดูก
The Society for Adolescent Health and Medicine แนะนำว่า
1. ยาฉีดคุมกำเนิดสามารถใช้ต่อเนื่องได้ในวัยรุ่นที่ต้องการคุมกำเนิด
2. พิจารณาการตรวจติดตามค่ามวลกระดูกตามความเห็นสมควรของแพทย์และความกังวลของผู้ปกครอง
3. สามารถใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี ได้
4. วัยรุ่นที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดอาจจะแนะนำให้ทาน แร่ธาตุแคลเซียมปริมาณ 1300 มิลลิกรัมต่อวัน และทานวิตามินดี 400 ยูนิตต่อวัน
5. ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมในวัยรุ่นที่สามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยยาฉีดคุมกำเนิดและมีภาวะกระดูกบางหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกบาง ที่ไม่มีข้อห้ามในการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด (Thromboembolism)
    การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ ความสัมพันธ์นี้ขึ้นอยู่กับขนาดของฮอร์โมนเอสโตรเจนและชนิดของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 30-50 มิลลิกรัม จะเพิ่มความเสี่ยงมากที่สุด และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรุ่นที่สาม (third generation) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้อยที่สุด
    ดังนั้นแพทย์จำเป็นต้องซักประวัติเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำในอดีตและประวัติในครอบครัว และความเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ในผู้หญิงเหล่านี้
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
    มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, ปากมดลูกอักเสบและมดลูกอักเสบ แต่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบของท่อนำไข่ จึงช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ และไม่มีรายงานว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในคนที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
    การใส่ห่วงอนามัยไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน แต่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้น
  • การมีบุตรยาก (Infertility)
    วัยรุ่นกังวลว่าการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะมีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดมีผลทำให้มีบุตรยาก
  • ความกังวลของแพทย์
    การใช้ฮอร์โมนในการคุมกำเนิดระยะยาวด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด หรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำในวัยรุ่นตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน จะมีผลต่อการลดลงของมวลกระดูก และการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ (Incomplete growth) ทำให้แพทย์มีความกังวลในการใช้ฮอร์โมนในการคุมกำเนิดแก่วัยรุ่น

การเริ่มต้นคุมกำเนิด

สิ่งสําคัญที่สุดในการคุมกำเนิดในวัยรุ่นคือ"ความเชื่อใจ" ต้องรับฟังความคิดเห็นและต้องได้รับความยินยอมก่อนเริ่มต้นคุมกำเนิด
1. การซักประวัติ (History)
ก่อนการเลือกวิธีการคุมกำเนิด การซักประวัติอย่างครบถ้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น ข้อมูลจากการชักประวัติจะช่วยในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อห้าม หรือข้อบ่งชี้ในการเริ่มการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
2. การให้คำปรึกษา (Counseling)
  • เลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุดโดยประเมินจากประสิทธิภาพ, ความถี่ในการใช้การคุมกำเนิด, และความสะดวกในการใช้ การใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว (LARC: Long-acting reversible contraception) เช่น ยาฝังคุมกำเนิด (implant) และการใส่ห่วงคุมกำเนิด (Copper and levonorgestrel) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ
  • ความเสี่ยงเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิควิธีการใช้การคุมกำเนิดให้ต่อเนื่อง
  • การใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • แนะนำวิธีการที่ช่วยให้การคุมกำเนิดสามารถใช้ได้อย่างสะดวก เช่นการแนะนำให้พกถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าสตางค์
  • ให้คำแนะนำในเรื่องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraception)
โดยทั่วไปในวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ต้องการที่จะตั้งครรภ์ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเริ่มคุมกำเนิดด้วยวิธีใด ในกรณีเช่นนี้ แพทย์ควรจะพูดถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงในการตั้งครรภ์และการติดซื้อจากเพศสัมพันธ์ การยกตัวอย่างกรณีแม่วัยรุ่น โดยใช้บุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อาจจะเป็นพี่สาว, น้องสาว หรือเพื่อนที่โรงเรียน ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความตระหนักมากขึ้น การกำหนดเป้าหมายระยะสั้นอาจช่วยให้ได้ผลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การให้เงื่อนไขว่า ให้ผู้ป่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไปจนกว่าจะจบการศึกษาในปีนี้ และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการคุมกำเนิดฉุกเฉินและการใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สําคัญในการพูดคุยแนะนำผู้ป่วย
ในบางกรณี ผู้ปกครองที่มีความกังวลสูงมากเกินไป อาจจะมาด้วยการต้องการให้บุตรหลานรับการคุมกำนิดแบบการใช้ฮอร์โมนทั้งที่ยังไม่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากการที่บุตรหลานเริ่มมีความสนใจในเพศตรงข้าม หรืออาจจะมีประสบการณ์แม่วัยรุ่นจากบุคคลที่รู้จักหรือใกล้ชิด ในกรณีเช่นนี้ แพทย์ต้องพูดคุยกับทั้งผู้ปกครองและวัยรุ่น ทั้งเรื่องการบอกถึงความกังวลของผู้ปกครอง ความเชื่อใจ และทักษะในการเฝ้าระวังให้กับผู้ปกครอง สิ่งที่สําคัญที่สุดคือการประเมินผลดีและผลเสียในการคุมกำเนิดโดยการใช้ฮอร์โมนเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์
3. ผลข้างเคียง (adverse effects)
การอธิบายถึงผลข้างเคียงจากการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย (Breakthrough bleeding), ประจำเดือนขาดจากการทานยาคุมกำเนิด, อารมณ์หงุดหงิดง่ายจากการใช้ยาคุมกำเนิด (DMPA: Depot Medroxyprogesterone acetate) หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด ก่อนการเริ่มต้นคุมกำเนิด การให้คำแนะนำเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมาก ผื่นแดงคันหลังจากการใช้การคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะอาจสร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้
จากการศึกษาในกลุ่มวัยรุ่นพบว่าประมาณ 35%ของผู้ใช้ประสบปัญหาการลอกหลุดของแผ่นแปะคุมกำเนิด และเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่ที่พบว่ามีปัญหานี้ <5% และในวัยผู้ใหญ่ไม่พบปัญหาการหลุดลอกหากแปะไว้ที่บริเวณแขน ทั้งนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่วัยรุ่นน่าจะดูแลแผ่นแปะไม่ดีพอและ การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่
4. ประโยชน์ (benefits)
การพูดถึงประโยชน์นอกเหนือจากการคุมกำเนิดของ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกิน, ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA)และ แผ่นแปะคุมกำเนิด(Transdermal patch) ก็มีส่วนสําคัญในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน
ยาเม็ดคุมกำเนิดและแผ่นแปะคุมกำเนิดมีส่วนช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และช่วยป้องกันมะเร็งรังไข่, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, ท่อนำไข่อักเสบ, ภาวะท้องนอกมดลูก, โรคของเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็ง, ปวดท้องประจำเดือน และป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก
ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) มีประโยชน์เช่นเดียวกันกับยาเม็ดคุมกำเนิด ยกเว้นประโยชน์ด้านการช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก
5. การให้ข้อมูลและเซ็นต์ยินยอม (Informed consent)
ไม่จำเป็นต้องเซ็นต์ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะเริ่มคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนในวัยรุ่น แต่ต้องบันทึกไว้ว่าได้อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการคุมกำเนิด

วิธีการคุมกำเนิด

ในวัยรุ่นที่เริ่มต้นคุมกำเนิด ควรให้เอกสารที่เข้าใจง่าย ประกอบด้วย ชื่อของคลินิก, รายชื่อติดต่อ, เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ในกรณีที่วัยรุ่นพบปัญหาเกี่ยวกับการคุมกำเนิด วัยรุ่นไม่ควรเชื่อถือข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ด้านการคุมกำเนิดที่ได้จากเพื่อนหรือบุคคลในครอบครัว
1. ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptives)
ปัญหาที่พบได้บ่อยจากการทานยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น ทานยาไม่สม่ำเสมอ, ลืมทานยา, เริ่มแผงถัดไปล่าช้า และไม่ใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นในกรณีที่การคุมกำเนิดโดยการทานยาล้มเหลว จากการศึกษาพบว่า วัยรุ่นจำนวน 33% จะลืมทานยาภายในช่วงเวลา 3 เดือน วัยรุ่นควรได้รับคำแนะนําในการทานยาคุมกำเนิดทั้งทางการพูดคุยและการเขียนคำแนะนำ การสาธิตด้วยแผงยาจริงหรือแผงยาตัวอย่างจะช่วยให้มีความเข้าใจในการทานยาเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่วัยรุ่นควรท่องจำให้ขึ้นใจ ได้แก่ 1.จะเริ่มทานยาเมื่อใด 2.ทานยาทุกวัน เวลาเดิม และช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นหากทานยาพร้อมๆกับกิจวัตรที่ต้องทำทุกๆวันเช่นการแปรงฟัน 3.ติดต่อคลินิกหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุมกำเนิด วัยรุ่นควรได้รับเอกสาร ที่มีข้อมูลสําคัญประกอบด้วย ชื่อคลินิก, รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ, วิธีการปฏิบัติตัวหากลืมทานยา
ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถเริ่มยาได้ทุกเวลา ในวัยรุ่นมักจะให้เริ่มยาเม็ดแรก ในวันแรกที่ประจำเดือนครั้งถัดไปเริ่มมา หรือเริ่มยาในวันอาทิตย์ หลังจากที่เริ่มมีประจำเดือน (Sunday start method) เนื่องจากต้องการให้แน่ใจจริงๆว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
2. การทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อเนื่อง (Extended-cycle or continuous pill use)
จุดประสงค์ของการคุมกำเนิดชนิดนี้เกิดจากความต้องการที่จะเลื่อนช่วงการมีประจำเดือนออกไป ในกลุ่มนักกีฬาที่อยู่ในช่วงการแข่งขัน, วัยรุ่นที่ต้องเข้าแคมป์ฤดูร้อน หรือในกลุ่มที่ไม่สะดวกในการที่จะต้องมีประจำเดือนทุกเดือน วิธีนี้จะทานยาต่อเนื่อง 84 วัน และมีเว้นช่วง 1 สัปดาห์ที่ไม่ต้องทานยาเพื่อให้ประจำเดือนมา ช่วยเพิ่มการทานยาที่ต่อเนื่อง
ปัจจุบันยาคุมกำเนิดชนิดที่ทำให้ประจำเดือนมาปีละครั้ง ได้รับการรับรองแล้วจาก องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ประกอบด้วย Levonorgestrel 90 mcg. และ Ethinyl estradiol 20 mcg. จากการศึกษาการใช้ยาคุมกำเนิดแบบรายปีดังกล่าวในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่าหนึ่งในสอง ถึงสองในสาม มีอัตราการลดลงของการเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอย (Breakthrough Spotting or Bleeding) ในช่วง 2 เดือนหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนแรก
การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ในช่วงเดือนแรก ทำให้การใช้ยาอย่างต่อเนื่องลดลง แต่การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ช่วยให้อาการปวดศีรษะและการปวดประจำเดือนดีขึ้น
3. ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA)
เริ่มฉีดครั้งแรกในช่วงที่มีประจำเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และนัดวันฉีดครั้งต่อไปเพื่อความต่อเนื่องของการคุมกำเนิด แพทย์ควรอธิบายให้ทราบว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อฉีดยาคุมกำเนิดเกินกำหนด ยาฉีดคุมกำเนิดมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักได้เมื่อเทียบกับวัยรุ่นทั้งไป แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักของวัยรุ่นจึงจำเป็นต้องอธิบายให้วัยรุ่นเข้าใจ
4. แผ่นแปะคุมกำเนิด (Transdermal patch)
การที่ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดทุกสัปดาห์ และการลอกหลุดของแผ่นแปะคุมกำเนิด ทำให้ความต่อเนื่องของการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ลดลง
5. การใส่ห่วงในช่องคลอด (Vaginal ring)
การใส่ห่วงในช่องคลอดจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทุก 3 สัปดาห์ และเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการคุมกำเนิดไม่ควรเอาห่วงออกจากช่องคลอดมากกว่า 3 ชั่วโมงในช่วง 3 สัปดาห์ ดังนั้นวัยรุ่นที่รู้สึกว่าการใส่ห่วงในช่องคลอดไม่สะอาดและต้องการล้างทำความสะอาดบ่อยๆ จะลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดได้
6. ถุงยางอนามัย (Condoms)
การใช้ถุงยางอนามัยมีข้อดี คือ สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่มีโอกาสการตั้งครรภ์สูงจากการใช้ไม่ต่อเนื่องในวัยรุ่นที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ควรจะได้รับถุงยางอนามัยกลับไปด้วยเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ใช้วิธีนี้อย่างต่อเนื่อง
7. ยาฝังคุมกำเนิด (Etonogestrel implant)
เป็นการคุมกำเนิดระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอยู่ที่ 24 ชั่วโมงหลังจากฝังยาคุมกำเนิด และสามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากเอายาฝังคุมกำเนิดออก
ยาฝังคุมกำเนิดทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยใน 3 เดือนแรก หลังจากนั้นทำให้ไม่มีประจำเดือน การที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทำให้ความต่อเนื่องในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ลดลง การที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ NSAIDs ร่วมกับการทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเป็นช่วงสั้นๆ
การคุมกำเนิดด้วยวีนี้มีข้อดีในเรื่องของการป้องกันภาวะซีด(การไม่มีประจำเดือน), ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน แต่ผลต่อมวลกระดูกไม่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับการใส่ห่วงคุมกำเนิดหลังจากใช้ไปเป็นระยะเวลา 2 ปี
ยาฝังคุมกำเนิดไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักหรือมีผลพียงเล็กน้อย (แตกต่างจากการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด)
8. การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) : ชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และชนิดที่มีทองแดง
การใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในวัยรุ่นหรือผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดลูกทางช่องคลอด
การใส่ห่วงคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในช่วง 20 วันแรกหลังจากใส่ห่วง หลังจากนั้นความเสี่ยงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะเท่ากับคนที่ไม่ได้ใส่ห่วงคุมกำเนิด การติดเชื้อในช่วงแรกนี้สัมพันธ์กับการปนเปื้อนแบคทีเรียในขณะใส่ ไม่ได้เกิดจากตัวห่วงคุมกำเนิดเอง นอกจากนี้ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนยังช่วยลดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากฮอร์โมนมีผลทำให้มูกบริเวณปากมดลูกหนาตัวและเยื่อบุโพรงมดลูกบางตัว
การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการมีบุตรยากหลังจากที่หยุดคุมกำเนิด แต่การที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อคลามีเดีย (Chlamydial antibodies) มีความสัมพันธ์ต่อการมีบุตรยาก
ขณะที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด วัยรุ่นควรได้รับการตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ เชื้อหนองใน, เชื้อคลามีเดีย ถ้าพบการติดเชื้อก็สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดได้และให้การรักษาเรื่องการติดเชื้อไปพร้อมกัน หรือถ้าพบการติดเชื้อหลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิดก็สามารถให้การรักษาได้โดยที่ไม่ต้องเอาห่วงคุมกำเนิดออก แต่ไม่แนะนำให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
การหลุดของห่วงคุมกำเนิด พบได้ 3-5% ในผู้ใช้ห่วงคุมกำเนิดทั้งหมด และพบ 5-22% ในวัยรุ่น
การใส่ห่วงคุมกำเนิดทำให้เกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ในช่วงเดือนแรกหลังจากใส่ ห่วงคุมกำเนิดที่มีทองแดงอยู่จะทำให้ประจำเดือนมามาก ส่วนห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือไม่มีประจำเดือนได้ และสามารถเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอย
การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่แนะนำในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, ปากมดลูกอักเสบเป็นหนองอยู่หรือเคยเป็นในระยะเวลา 3 เดือน หรือมีคู่นอนหลายคน วิธีนี้สามารถใช้ได้ในผู้หญิงที่มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในอดีตที่ในปัจจุบันไม่ได้มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แล้ว

การใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว (LARC: Long-acting reversible contraception)

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว (การใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหรือทองแดง และยาฝังคุมกำเนิด) จึงเป็นวิธีแรกในการใช้คุมกำเนิด (first-line method)
องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ปี 2006 ให้การยอมรับการคุมกำเนิดในวัยรุ่นด้วยยาฝังคุมกำเนิด (etonogestrel single-rod contraceptive implant) เนื่องจากมีอัตราการใช้ต่อเนื่องใน 12 เดือนสูงในวัยรุ่นมากกว่าวิธีอื่น และมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำ ทางด้านวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะสั้น (short-acting contraceptive methods) ได้แก่ ถุงยางอนามัย, ยาเม็ดคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด, การใส่ห่วงในช่องคลอด และยาฉีดคุมกำเนิด เป็นทางเลือกในการคุมกำเนิดในวัยรุ่น วิธีเหล่านี้มีอัตราการใช้ต่อเนื่องใน 12 เดือนต่ำ และมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว โดยพบว่าอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่าการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาว 22 เท่า
อัตราการใช้การคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องใน 12 เดือน
  • ยาฝังคุมกำเนิด 82%
  • การใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน 81%
  • การใส่ห่วงอนามัยที่มีทองแดง 76%
  • ยาฉีดคุมกำเนิด 47%
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด 47%
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด 41%
  • การใส่ห่วงในช่องคลอด 31%

การคุมกำเนิดในกลุ่มเฉพาะ

วัยรุ่นที่มีความพิการทางสมอง
วัยรุ่นที่มีความพิการทางสมองและต้องการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดด้วยวิธียาฉีดคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด หรือทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบต่อเนื่องและให้มีประจำเดือนมาทุก 3 เดือน เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และดูแลเรื่องความสะอาดในขณะที่มีประจำเดือนได้ดีขึ้น
วัยรุ่นที่มีโรคเรื้อรัง
วัยรุ่นที่มีโรคลิ้นหัวใจผิดปกติที่ต้องทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ในวัยรุ่นเหล่านี้สามารถคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด แต่ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการคั่งของสารน้ำในร่างกาย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
วัยรุ่นที่เป็นโรค Antiphospholipid antibody abnormalities, ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคลมชัก หรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสามารถคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด แต่ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื่องจากยาหลายชนิดมีผลต่อประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น anticonvulsants, rifampicin, griseofuvin เป็นต้น
ในวัยรุ่นที่มีโรคเรื้อรังเหล่านี้ มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น และเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ทานได้ อธิบายถึงผลเสียของการตั้งครรภ์เมื่อมีโรคทางอายุรกรรม หรือยาที่รักษาโรคทางอายุรกรรมที่มีผลต่อความพิการของทารกซึ่งมีมากกว่าการความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด รวมทั้งอธิบายวิธีการควบกำเนิดฉุกเฉินให้วัยรุ่นทราบ
การคุมกำเนิดในแม่วัยรุ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
  1. การคุมกำเนิดหลังคลอด ในแม่วัยรุ่นที่มีความเสี่ยงสูงในการตั้งครรภ์ซ้ำภายใน 2 ปี แนะนำให้ใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือฝังยาคุมกำเนิดทันทีหลังคลอดเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับการคุมกำเนิด ในรายที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดทันทีหลังคลอดพบว่ามีโอกาสห่วงคุมกำเนิดหลุดสูงกว่าคนที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดตอนมาตรวจหลังคลอด
  2. การคุมกำเนิดหลังแท้ง การใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือการใช้ยาฝังคุมกำเนิดทันทีหลังแท้ง ช่วยลดการเกิดการแท้งซ้ำได้ ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยในการใช้คุมกำเนิดหลังจากแท้งทุกชนิด ทั้งการแท้งใน first trimester/second trimester หรือการแท้งติดเชื้อ การใส่ห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยในการใช้คุมกำเนิดหลังจากแท้งใน first trimester และ second trimester

การคุมกำเนิดในประเทศยากจน

จากข้อมูลของ UNICEF ปี 2006-2010 ในประเทศยากจน 81% ของหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์กับแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง, 67% ของหญิงตั้งครรภ์ได้รับการทำคลอดโดยผู้เชี่ยวชาญทางการทำคลอด และมีส่วนน้อยที่มาตรวจติดตามหลังคลอด ส่งผลให้จำนวนผู้หญิงที่ได้รับการบริการเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอดบุตรน้อย จึงได้มีการให้บริการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาวตั้งแต่ขณะมาฝากครรภ์
การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวระยะยาวมี 2 วิธีดังที่กล่าวข้างต้น คือ การใส่ห่วงอนามัยและการฝั่งยาคุมกำเนิด แต่การใส่ห่วงอนามัยถือเป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นในประเทศยากจนจึงแนะนำการคุมกำเนิดโดยการฝั่งยาคุมกำเนิด(levonorgestrel implant)ตั้งแต่ขณะมาฝากครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ที่ทารกสร้างอวัยวะต่างๆเสร็จแล้ว ยาฝั่งคุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด 435 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งมีขนาดน้อยกว่าในยาคุมกำเนิดและพบว่าปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และทารก ยาฝังคุมกำเนิดไม่ทำให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ แต่ผลต่อทารกในระยะยาวยังไม่ทราบแน่นอน ในประเทศยากจนเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์จากการฝั่งยาคุมกำเนิดแก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงมาฝากครรภ์ถือว่ามีประโยชน์มากกว่าผลเสียจากการที่ตั้งครรภ์ถี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น