วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ยาคุมฉุกเฉิน...เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้




           ยาคุมฉุกเฉิน ชื่อนี้คุณผู้อ่านหลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น ยาคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง หลายท่านคงร้อง อ๋อ แต่ช้าก่อน ท่านทราบหรือไม่ว่า ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีความเหมือนหรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่นๆ คือ มีประโยชน์หากใช้ถูกต้อง และก่ออาการข้างเคียงหรืออันตรายหากใช้ไม่ถูก
         
ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร

          มารู้จัก ยาคุมฉุกเฉิน กันก่อน เดิมเรียกว่า "ยาคุมกำเนิดหลังเพศสัมพันธ์" แต่ต่อมาเพื่อความเข้าใจและการใช้ที่ถูกต้องจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน" ซึ่งจริง ๆ แล้ว หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า "ยาคุมฉุกเฉิน" แท้จริงแล้วไม่ใช่ยา แต่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสูงกว่ายาคุมกำเนิดโดยทั่วไปถึง 2 เท่า และมี 2 ชนิดคือ



   1.ยาคุมฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว

             มีชื่อทางการค้าว่า โพสตินอร์ จะมีส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียว คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาดเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม โดยลีโวนอร์เจสเตรลนี้จัดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์กลุ่มเดียวกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาขึ้นและยากต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ ยังทำให้บริเวณปากมดลูกมีสารคัดหลั่งที่มีลักษณะเหนียวข้นออกมา จึงทำให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น
             ผลข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คัดเต้านม และระดูมาผิดปกติ โดยอาจมาเร็วขึ้นหรือช้าก็ได้ บางครั้งอาจพบเลือดออกกะปริดกะปรอย ดังนั้น ถ้าขาดระดูหรือระดูมากะปริดกะปรอยหลังใช้ยานี้ จำเป็นจะต้องตรวจให้ทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์หรือเป็นผลของยา ในกรณีที่ป้องกันไม่ได้ ยังมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่าปกติอีกด้วย
         
   2.ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวม

              หรือที่เรียกว่า Yuzpe regimen เป็นการใช้ฮอร์โมน ethinyl estradiol 0.1 มิลลิกรัม และ Levonorgestrel ขนาด 0.5 มิลลิกรัม โดยยาจะไปขัดขวางการปฏิสนธิของสเปิร์มและไข่ ยับยั้งการตกไข่ หรืออาจมีผลต่อการทำงานของคอร์ปัสลูเตียมก็ได้ ทั้งนี้ วิธีนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปแต่มีข้อเสียคือ มีผลข้างเคียงมากกว่าแบบแรก

การกินยาคุมฉุกเฉิน อย่างไรถูกต้อง

              ตามคำแนะนำบอกไว้ว่า การรับประทานยาคุมฉุกเฉินต้องกิน 2 ครั้ง โดยเม็ดแรกต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นอีก 12 ชั่วโมงจึงรับประทานยาเม็ดที่ 2 แต่ถ้าหลังจากทานยาเข้าไปแล้วไม่ว่าครั้งแรกหรือครั้งหลังแล้วเกิดการอาเจียนภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง จะต้องทานยานั้นอีกครั้ง
             ทั้งนี้ วิธีการรับประทานยาข้างต้นก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว ทางกรมอนามัย ยังได้แนะนำวิธีการกินยาคุมฉุกเฉินอีกหนึ่งวิธีซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้กันก็คือ ให้รับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันเลยใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ได้เลย ซึ่งวิธีดังกล่าว ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ รวมทั้งองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ว่าใช้ได้ผล และเป็นการป้องกันการลืมกินยาเม็ดที่ 2 ได้ดี แต่ในประเทศไทยยังรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก
           
ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินเทียบเท่ายาคุมแบบปกติไหม

            ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินย่อมไม่เทียบเท่ายาคุมกำเนิดปกติแน่นอน สำหรับยาคุมฉุกเฉินนั้นมีประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ราวร้อยละ 58-95 ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้ที่ถูกวิธีและระยะเวลาที่เริ่มใช้ด้วย แต่ยังไม่พบว่า การกินยามากกว่าขนาดที่กำหนดจะทำให้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือจะมีผลข้างเคียงมากขึ้น
            ทั้งนี้ หากคุณรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 72 หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้วตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 75% แต่หากรับประทานยาเม็ดแรกเข้าไปไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประสิทธิภาพในการป้องกันก็จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 10% ดังนั้นหากต้องการผลที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุด ก็ควรจะรีบทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดนั่นเอง
           
ยาคุมฉุกเฉิน มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

            แน่นอนว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินย่อมสร้างปัญหาบางอย่างให้กับคุณผู้หญิงแน่นอน เบาะ ๆ ก็คือ จะทำให้ประจำเดือนผิดปกติ มาช้า หรือมาแบบกะปริดกะปรอย และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่หากใช้บ่อยและต่อเนื่อง ก็มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เลยทีเดียว
           นอกจากนั้นแล้ว จากข้อมูลจากแพทย์ระบุว่าในชีวิตไม่ควรจะใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง เพราะจะมีผลกับร่างกายของผู้หญิง เช่น กระตุ้นเซลล์มะเร็ง หรือกระทบต่อรังไข่ มดลูก และร่างกายทั่วไป ซึ่งจะส่งผลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
         
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน

           สำหรับในประเทศไทย การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกในการซื้อการพกพา วิธีการกินไม่ยุ่งยากเหมือนยาคุมกำเนิดทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์ก็ได้เตือนสาว ๆ ที่มักนิยมใช้ยาคุมฉุกเฉินว่า ยาดังกล่าวจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ ได้อย่างที่เข้าใจกัน
           สำหรับคนที่เข้าใจว่ายาคุมฉุกเฉินทำให้แท้งได้ ข้อนี้ก็เป็นความเชื่อที่ผิดเช่นกัน เพราะจริง ๆ แล้วยาคุมฉุกเฉินเพียงแค่ป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะต้องรับยาเข้าไปก่อนที่ไข่จะฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นความเข้าใจที่ว่ายาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้งนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
           นอกจากนั้นแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีข้อมูลที่ระบุว่า ในประเทศไทยมีคนใช้ยาคุมฉุกเฉินราว ๆ ปีละ 8 ล้านแผง ขณะที่บางคนรับประทานยาคุมฉุกเฉินถึง 20 แผงต่อเดือน โดยคิดว่า ยาคุมฉุกเฉินสามารถรับประทานได้เรื่อย ๆ เหมือนกับยาคุมกำเนิดแบบปกติ แต่หากทานมากขนาดนั้น อันตรายถามหาแน่นอน






           สรุป ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาที่ผลิตคิดค้นออกมาเพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นเท่านั้น โดยจะเกิดผลดีหากใช้ในทางที่ถูกต้อง ในผู้ที่มีการวางแผนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ต้องการมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น