ทิดทอง และ ทิดถม เป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองได้บวชเรียน ร่ำเรียนตำรับตำรามาด้วยกัน ถึงแม้ว่าฐานะของทั้งสองต่างกัน แต่ทั้งสองก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์กันเลย เมื่อทั้งสึกออกมา ก็ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่ง มีพ่อค้าเร่มาขายน้ำมันใส่ผมในหมู่บ้าน ทิดทองกับทิดถมซึ่งไม่รู้เรื่องอะไร จึงได้ซื้อน้ำมันใส่ผมมาใช้คนละขวด ต่อมาไม่นานผมของทั้งสองก็ร่วงเรื่อยๆทุกวัน นานวันเข้าทั้งสองก็กลายเป็นคนหัวล้าน
ทั้งสองรู้สึกเป็นกังวลกินก็ไม่ได้นอนก็ไม่หลับ และรู้สึกอับอายจนไม่อยากจะออกไปไหนเลย เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องข่าวก็ทำทีมาแกล้ง โดยแนะนำกับทั้งสองว่าถ้าเอาไอ้โน้น ไอ้นี่มาทา ผมก็จะงอกมาดังเดิม เช่น บอกให้เอา หนวดเต่า เขากระต่าย น้ำลายยุง หรือแม้กระทั่งขี้ไก่ มาทา ทั้งสองก็หลงเชื่อ กลายเป็นที่ขำขันของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ทั้งสองอับอายเป็นอันมาก จึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากโยคีที่อยู่กลางป่า ด้วยความสงสารโยคีจึงให้การช่วยเหลือ โดยให้ทั้งสองไปดำน้ำในสระน้ำข้างอาศรม 3 ครั้ง ผมก็จะงอกออกมาทั่วทั้งหัวเหมือนดังเดิม
ทั้งสองไม่รอช้า รีบทำตามคำแนะนำของท่านโยคี เมื่อลงดำครั้งแรกแล้วโผล่หัวขึ้นมาปรากฏว่าผมงอกขึ้นมานิดหน่อย ครั้งที่ 2 ผมงอกมาพอประมาณและครั้งที่ 3 ผมของทั้งสองงอกเต็มหัวเป็นปกติ แต่เนื่องจากทั้งสองมีแผลเป็นกลางหัวตั้งแต่เด็กๆ ผมจึงขึ้นตรงแผลเป็นไม่ได้…แทนที่จะไปปรึกษากับโยคี…ทิดทองและทิดถมได้ปรึกษากันเองว่าหากดำครั้งที่ 4 ผมจะต้องงอกตรงที่เป็นแผลเป็นแน่นอน…ทั้งสองจึงตัดสินใจดำน้ำลงไปอีกครั้ง…แต่ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น…เมื่อทั้งสองโผล่หัวขึ้นมากลับกลายเป็นคนหัวล้านเช่นเดิม…คราวนี้แม้แต่โยคีเองก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว…ทั้งสองเสียใจร้องไห้โวยวาย แล้วเดินก้มหน้ากลับหมู่บ้านด้วยความผิดหวัง…เป็นที่มาของสำนวนไทยที่ว่า ” หัวล้านนอกครู ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. อย่าเพิ่มเติมหรือนอกคำสั่ง ผลลัพธ์จะตกแก่ตัวเอง…และอย่าเชื่อคนง่ายจะเสียใจภายหลัง เช่นการซื้อน้ำมันมาใส่ผมบ้าง เอาขี้ไก่มาทาบ้างเป็นคนที่เชื่อแบบไม่มีเหตุผล
2. สำนวนสุภาษิต ”หัวล้านนอกครู” หมายถึง…ผู้ที่ปฏิบัติผิดแผกไปจากคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์หรือแบบแผนที่นิยมกันมา…หรือไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำของครูอาจารย์จนทำให้เกิดความเดือดร้อน
1. อย่าเพิ่มเติมหรือนอกคำสั่ง ผลลัพธ์จะตกแก่ตัวเอง…และอย่าเชื่อคนง่ายจะเสียใจภายหลัง เช่นการซื้อน้ำมันมาใส่ผมบ้าง เอาขี้ไก่มาทาบ้างเป็นคนที่เชื่อแบบไม่มีเหตุผล
2. สำนวนสุภาษิต ”หัวล้านนอกครู” หมายถึง…ผู้ที่ปฏิบัติผิดแผกไปจากคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์หรือแบบแผนที่นิยมกันมา…หรือไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำของครูอาจารย์จนทำให้เกิดความเดือดร้อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น