วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

ตำนานเรื่องเล่าไทย

หลวงพ่อโต จ.สมุทรปราการ

ตำนานหลวงพ่อโต……..เมื่อครั้งกสลก่อนมีตำนานเล่าว่าพระพุทธรูปพี่น้อง 3 องค์ ล่องลอยมาตามน้ำจากทางเหนือ เมื่อมาถึงตำบลบางขวัญและตำบลบ้านใหม่ ก็ได้แสดงปาฏิหารย์ให้ชาวบ้านเห็นโดยการลอยทวนน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “สามพระทวน” และเพี้ยนไปเป็น “สัมปทวน” ในเวลาต่อมา จากนั้นพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ลอยต่อไปจนถึงคุ้งน้ำ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันฉุดพระให้ขึ้นมาบนฝั่งด้วยเชือก แต่ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จ จน ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “บ้านบางพระ” จากที่นี่องค์พระได้ลอยต่อไปถึงคลองเล็ก ๆ จากนั้นก็ลอยวน จนทำให้สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “แหลมหัววน” หลังจากนั้น ชาวบ้านได้ทำการอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นฝั่ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องทำพิธีตั้งศาลเพียงตาขึ้นมาบวงสรวง จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กขึ้นฝั่งมาได้อย่างง่ายดาย เมื่อขึ้นฝั่งมาแล้ว ก็ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัด แล้วถวายนามพระว่า “พระโสทร” ซึ่งหมายถึงพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ล่วงมาจนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โสธร” ซึ่งแปลว่าสะอาด
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้ลอยเรื่อยไปไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านประมาณ 3 แสนคนที่พบเห็นต่างเข้ามาช่วยฉุดขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาสถานที่ตรงนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่า “สามเสน” หลังจากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ไดลอยไปผุดที่แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงที่พบเห็นจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดแหลมจนเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางได้ลอยน้ำไปผุดที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านที่พบเห็นแถบนั้นจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี และเรียกชื่อกันว่าหลวงพ่อโต วัดบางพลี อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป

เขาสามมุข จ.ชลบุรี

ตำนานเขาสามมุข กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยตอนปลาย ณ หมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีหญิงสาวสวยนางหนึ่งมีชื่อว่า สาวมุข หรือ สาวมุก หญิงผู้นี้เป็นชาวเมืองบางปลาสร้อย และกำพร้าบิดามารดามาตั้งแต่เกิด หญิงสาวอาศัยอยู่กับยายที่กระท่อมแห่งหนึ่งบริเวณเชิงเขาสามมุข ต่อมาสาวมุขได้พบรักกับชายหนุ่มที่มีชื่อว่า แสน ผู้เป็นบุตรกำนันบ่าย เศรษฐีแห่งบ้านหิน (อ่างศิลา) ที่อยู่ห่างจากเขาสามมุขไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ความรักของทั้งคู่เป็นความรักที่บริสุทธ์ และทั้งสองก็ต่างสัญญากันว่าจะรักกันไปชั่วนิจนิรันดร์
ทั้งคู่ใช้สถานที่บริเวณเชิงผาเป็นที่นัดพบกันเสมอ แต่เมื่อกำนันบ่ายทราบเรื่องราวความรักของทั้งคู่ ก็เกิดความรังเกียจในความยากจนของสาวมุข และบังคับให้แสนแต่งงานกับหญิงสาวที่ตนเลือกไว้แทน
ในวันแต่งงาน สาวมุขได้เดินทางมาอวยพรและรดน้ำสังข์ให้แก่คู่บ่าวสาว พร้อมทั้งได้คืนแหวนที่แสนเคยมอบไว้ให้แก่ตน กว่าที่แสนจะรู้ว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง สาวมุขก็วิ่งหนีหายไปบนเชิงเขาริมหน้าผาแล้ว สาวมุขตัดสินใจจบชีวิตโดยการกระโดดหน้าผาเพื่อบูชาความรักอันแสนบริสุทธ์ครั้งนี้ เมื่อแสนรู้เรื่องก็เกิดความเสียใจอย่างสุดซึ้งจึงตัดสินใจกระโดดหน้าผาตายตามสาวมุขไป
จากเหตุการณ์ครั้งนี้เองทำให้ภูเขาแห่งนี้กลายเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของสาวมุขและหนุ่มแสน และมีชื่อเรียกว่า เขาสามมุข ส่วนชายหาดบริเวณใกล้เคียงก็มีชื่อว่า บางแสน ตามที่ปรากฎเป็นตำนานจวบจนถึงทุกปัจจุบัน
เกร็ด
เขาสามมุข หรือเขาเจ้าแม่สามมุข ตั้งอยู่ระหว่างตำบลอ่างศิลา และชายหาด บางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี บริเวณเชิงหน้าผาแห่งนี้มีศาลชื่อว่า “ศาลเจ้าแม่สามมุข” อยู่ ๒ หลัง หลังหนึ่งเป็นศาลไทย ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นศาลจีน ศาลทั้งสองล้วนเป็นที่เคารพสักการะของชาวประมงท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรี และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาสักการะบูชา เพื่อระลึกถึงอนุสรณ์แห่งความรักของสาวมุขและหนุ่มแสน
ปัจจุบัน เขาสามมุขเป็นบริเวณที่มีลิงป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาบนเขาสามมุข นำอาหารอย่างกล้วย อ้อย และถั่ว ฯลฯ ไปให้แก่ฝูงลิงเหล่านี้ เขาสามมุขจึงถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีที่น่าสนใจ และเป็นตำนานที่เล่าขานกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา

ตำนานหลวงพ่อโสธร กว่า ๒๐๐ ปี ที่ผ่านมา ได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการลอยตามน้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยามาจากทางเหนือ จากนั้นได้มาผุดขึ้นที่บริเวณแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงบริเวณตำบลบางขวัญและตำบลบ้านใหม่ ก็ได้แสดงปาฏิหารย์โดยการลอยทวนน้ำ เมื่อชาวบ้านเห็นจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “สามพระทวน” ตามชื่อเหตุการณ์ แต่ก็เรียกเพี้ยนกันไปจนเป็น “สัมปทวน” ในเวลาต่อมา เมื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ลอยต่อไปจนถึงคุ้งน้ำ ชาวบ้านมากมายพากันใช้เชือกฉุดขึ้นฝั่ง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ ทำให้ต่อมาชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านบางพระ” จากนั้นพระพุทธรูปก็ลอยต่อเข้าไปในคลองเล็ก ๆ แล้วก็เกิดลอยวน ทำให้ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า “แหลมหัววน” ชาวบ้านได้พยายามอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นฝั่ง แต่ก็ยังคงไม่สำเร็จอีกเช่นเคย จึงต้องทำพิธีตั้งศาลเพียงตาขึ้นมาบวงสรวง จึงสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กองค์นี้ขึ้นจากฝั่งได้โดยสำเร็จ แล้วนำขึ้นมาแล้วก็ได้พากันไปประดิษฐานที่วัด พร้อมถวายนามแก่องค์พระว่า “พระโสทร” ซึ่งหมายถึงพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน แต่เมื่อล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “โสธร” ที่มีความหมายว่าสะอาดนั่นเอง
ส่วนพระองค์พี่ใหญ่ เมื่อได้ลอยจากแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงบริเวณสามเสนในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถฉุดอาราธนาขึ้นมาได้สำเร็จแม้จะใช้คนมากถึงสามแสนคน จนเป็นที่มาของชื่อเรียกบริเวณนี้ว่า สามแสน นั่นเอง ต่อมาภายหลังจึงเพี้ยนกลายเป็นสามเสนในที่สุด สุดท้ายพระพุทธรูปก็ล่องลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัด สมุทรสงคราม และได้รับการอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม
ส่วนพระพุทธรูปองค์สุดท้ายล่องไปผุดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อชาวบ้านแถบพบเจอ จึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี ทำให้เป็นที่มาของหลวงพ่อโต วัดบางพลี อันเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป
กล่าวกันว่าแต่เดิมองค์หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชรทรงสวยงาม ที่มีหน้าตักกว้างศอกเศษ แต่ต่อมาพระสงฆ์ในวัดเกรงว่าองค์หลวงพ่อโสธรจะไม่ปลอดภัย จึงทำการพอกปูนหุ้มองค์จริงเอาไว้ จนเป็นที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า การสร้างตำนานพระลงน้ำถือเป็นกลวิธีการสานสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นในสมัยโบราณ ลักษณะการเชื่อมโยงสภาพภูมิศาสตร์เข้ากับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีต เป็นเสมือนการบ่งบอกว่าคนไทยมีรากเง้าที่ผูกพันกันมาช้านาน และถือว่าทุกคนเป็นลูกเป็นหลานหรือเป็นญาติที่มาจากต้นตอเดียวกัน การผูกสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด

ตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวถึงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า เมืองจำปากนาคบุรี ที่เมืองแห่งนี้มีพญาพรหมทัต เป็นพญาผู้ครองเมือง มีมเหสีชื่อว่าพระนางจันทาเทวี มีลูกสาวชื่อว่า นางแสนสี และมีหลานชื่อว่า นางคำแพง
นางแสนสีและนางแสนสีได้ชวนกันไปเล่นน้ำที่ทะเลหลวงอันแสนกว้างใหญ่ที่ในปัจจุบันก็คือทุ่งกุลาร้องไห้นั่นเอง ระหว่างการไปเที่ยวก็มีจ่าแอ่น เป็นผู้อารักขาไปด้วยตลอดทาง
กล่าวถึงชายหนุ่มสองคนที่มีชื่อว่า ท้าวฮาดคำโปงและท้าวทอน ทั้งสองได้ร่ำเรียนอาคมกับพระฤาษีที่ป่าหิมพานต์จนสำเร็จการศึกษา ระหว่างเดินทางกลับบ้านเมืองของตน ก็ได้มากับฝั่งทะเลหลวงที่ไม่มีเรือพอจะให้ข้ามไปได้ ทั้งสองใช้คาถาเป่าฟางให้เป็นเรือสำเภาเพื่อนั่งข้ามทะเลมา และนั่งฟังเสียงคลื่นด้วยความสุขใจ
ส่วนนางแสนสี นางคำแพง กับจ่าแอน ที่ไปเล่นน้ำในแม่น้ำทะเลหลวง ก็ได้พบเจอกับท้าวฮาดคำโปงและท้าวทอน ที่ล่องสำเภาผ่านมาพอดี ความรักจึงบังเกิดขึ้น ในเวลาต่อมา นางแสนสีและนางคำแพงจึงตกลงปลงใจขึ้นสำเภาหนีไปด้วยกัน
เมื่อพญาพรหมทัตผู้เป็นพ่อทราบข่าวจากนายทหารว่า ลูกสาวของตนถูกลักพาตัวหนีไป จึงได้ไปบอกพญานาคแห่งเมืองจำปากนาคบุรี ที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนในเมืองได้อยู่กันอย่างสงบสุข ให้มาช่วยเหลือ
พญานาคเห็นว่าหากไม่ต้องการให้สำเภาแล่นต่อไปได้ ก็ต้องทำให้น้ำทะเลให้เหือดแห้ง ว่าแล้วจึงจัดการดูดน้ำทะเลออกจนหมด  เมื่อทะเลแห้งไปแล้ว ท้าวฮาดและท้าวทอนจึงได้พานางแสนสีและนางคำแพงพร้อมด้วยจ่าแอ่นเดินทางเท้าต่อไปจนถึงบ้านแห่งหนึ่งและพักอาศัยกันอยู่ที่นั่น บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าบ้านแสนสี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย
จากนั้นจึงได้เดินทางรอนแรมกันต่อไปจนมาถึงริมป่าลำธารแห่งหนึ่ง พวกเขาได้ข้ามลำธารไปยังโนนบ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่ระหว่างทาง จ่าแอ่นเกิดความเมื่อยล้าจึงไม่ขอเดินทางติดตามไปกับนางแสนสีและนางคำแพงด้วย แต่กลับขอพักอาศัยอยู่ที่บ้านแห่งนั้นต่อจนถึงแก่ชีวิตในที่สุด ชาวบ้านได้ช่วยกันฝังร่างไร้วิญญาณของจ่าแอ่นไว้ ณ บ้านแห่งนั้นและตั้งชื่อว่าบ้านจ่าแอ่น ซึ่งปัจจุบันคือบ้านแจ่มอารมณ์ อำเภอเกษตรวิสัย
สี่คนที่เหลือเดินทางต่อไปจนมาถึงเขตป่าดง ด้วยความรักที่มีต่อนางแสนสีผู้หญิงคนเดียวกัน ท้าวฮาดคำโปงกับท้าวทอนจึงได้ต่อสู้กันเอง จนในที่สุด ท้าวฮาดคำโปงก็ถูกท้าวทอนฆ่าตายที่กลางทุ่ง และได้เรียกหมู่บ้านแห่งนั้นว่าบ้านฮาด ซึ่งต่อมาเป็นบ้านฮาด อำเภอเกษตรวิสัย
ด้วยความอาฆาต วิญญาณของท้าวฮาดจึงกลับมาล้างแค้นท้าวทอน โดยได้กลายมาเป็นผีโป่ง (ผีหัวแสง) เพื่อตามไล่ล่าท้าวทอน  จนท้าวทอนต้องพานางแสนสีและนางคำแพงหนีไปทางตะวันตกซึ่งขณะนั้นเป็นทุ่งกว้างใหญ่ และด้วยความอ่อนเพลียจากการเดินทาง ทั้งสามจึงได้นอนหลับไปใต้ต้นไม้ใหญ่ ท้าวทอนและนางแสนสีตื่นขึ้นมาก่อน และปล่อยให้นางคำแพงเหลืออยู่เพียงผู้เดียว ทุ่งบริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ทุ่งป๋าหลาน ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย
เมื่อพระอินทร์ส่องญาณวิเศษตรวจตราโลกมนุษย์ และได้พบเห็นท้องทะเลหลวงที่เคยเต็มไปด้วยน้ำ กลับแห้งเหือด และเต็มไปด้วยซากสิ่งมีชีวิตมากมายทั้งปลา หอย และกุ้ง นอนตายเน่าเหม็นคละคลุ้ง จึงได้บอกให้นกอินทรีย์ลงมากินซากสัตว์ในทะเลหลวงแห่งนี้ นกอินทรีย์ได้ถ่ายมูลออกเป็นก้อนขนาดใหญ่  ที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ขี้นกอินทรีย์
เมื่อนกอินทรีย์จัดการซากทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็ไปทูลขอรางวัลจากพระอินทร์ พระอินทร์จึงก็ให้ช้างไว้เป็นอาหาร นกอินทรีย์ทั้งหลายพากันแย่งชิงช้าง บางตัวก็คาบหัวช้างไปกินแล้วทิ้งหัวไว้กลายเป็นป่าดง จนต่อมาบริเวณแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ดงหัวช้าง ซึ่งกลายมาเป็นบ้านหัวช้างในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมานในปัจจุบัน ส่วนบางตัวก็คาบได้เท้าช้างไปกินแถวดงแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นที่มาของชื่อ ดงเท้าสาร หรือที่เรียกว่าเขตอำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ส่วนเขตดงช้างที่มีช้างมากมาย ปัจจุบันก็กลายมาเป็นบ้านดงช้าง ในอำเภอปทุมรัตต์นั่นเอง
เมื่อหนีมาได้ ท้าวทอนและนางแสนสีก็เดินทางกลับไปยังเมืองจำปากนาคบุรี แต่ก็กลับมาพบแต่เมืองร้างที่ไร้ผู้คน เนื่องจากประชาชนกลัวนกอินทรีย์จึงพากันย้ายหนีออกไป ส่วนพญานาคก็ได้ดำดินหนีไปอยู่ที่ดินแดนที่ไกลออกไปจากเขตแม่น้ำโขง
ฝ่ายพญาพรหมทัตกับนางจันทราเทวีก็ตรอมใจตายด้วยความคิดถึงลูก เมื่อท้าวทอนและนางแสนสีสามารถรวบรวมไพร่พล และประชาชนที่เหลืออยู่ได้กลุ่มหนึ่ง ก็พากันบูรณะสร้างเมืองจำปากนาคบุรีขึ้นมาใหม่ และร่วมกันสร้างพระธาตุพันขันขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับบิดาและมารดา รวมถึงเพื่อไถ่บาปให้กับตนเองด้วย ต่อจากนั้น ทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันและครองเมืองอย่างมีความสุขจนสิ้นชีวิต

พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

ตำนานพระธาตุดอยตุงกล่าวว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อน พระมหากัสสปเถระได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุ ๕๐๐ องค์ กับพระรากขวัญหรือกระดูกด้ามมีดเบื้องซ้ายมาถวายให้แก่พญาอชุตตราช ผู้เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองโยนกเชียงแสน ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสิงหนวัติ พญาอชุตตราชและพระมหากัสสปเถระจึงได้อัญเชิญพระธาตุขึ้นสู่ดอยตุงในบริเวณที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับในครั้งพุทธกาล ซึ่งบริเวณนี้มีก้อนหินก้อนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายมะนาวผ่าครึ่ง
บริเวณดอยตุงดังกล่าวนี้เป็นที่อยู่ของชนเผ่ามิลักขุหรือลัวะ ซึ่งมีหัวหน้าชื่อ ปู่ลาวจก เมื่อพญาอชุตตราชได้บรรจุพระธาตุ ณ ดอยตุงแล้ว ก็ได้พระราชทานทองคำให้แก่ปู่ลาวจกเพื่อแลกกับที่ดินอันกว้างใหญ่รอบพระธาตุนี้สำหรับถวายเป็นคามเขตแด่องค์พระธาตุ โดยแผ่พื้นที่ออกไปด้านละ ๓,๐๐๐ วา พร้อมทั้งถวายมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว ให้เป็นข้าพระธาตุ เพื่อดูแลรักษาพระบรมธาตุด้วย ส่วนพระมหากัสสปเถระก็ได้อธิษฐานตุงทิพย์ยาว ๗,๐๐๐ วา เพื่อประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ จนต่อมาจึงเป็นที่มาของ ดอยตุง ตามชื่อของตุงทิพย์ดังกล่าว
ช่วงเวลาต่อมา ได้มีฤาษีสุรเทวะตนหนึ่งนำพระบรมอัฐิธาตุ ๑๕๐ องค์ มาถวายแก่พญามังรายผู้เป็นกษัตริย์ในรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกเชียงแสน พญามังรายจึงได้ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุเหล่านั้นไว้บนดอยตุงในบริเวณที่มีก้อนหินรูปมะนาวผ่าครึ่งนั้น พร้อมทั้งถวายที่ดินและเหล่ามิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัวแด่พระธาตุเช่นครั้งแรก
ซึ่งจากการที่มีการประดิษฐานพระบรมอัฐิธาตุถึงสองครั้งสองคราว จึงทำให้บนดอยตุงมีพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่เคียงคู่ถึงสององค์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
ภายหลังจากนั้น ได้มีตำนานกล่าวถึงการสืบทอดเชื้อสายกษัตริย์จากวงศ์ลวะจักกะหรือปู่เจ้าลาวจก มาจนถึงกษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์มังราย ที่ได้คอยทำนุบำรุงพระธาตุดอยตุงอยู่เสมอมา ตำนานกล่าวอ้างถึงพระนามพญามังราย พญาชัยสงคราม พญาแสนภู พญาคำฟู พญาผายู พญาเจ็ดพันตู พญามหาพรหม พญาแสนเมืองมา และพญากือนา ที่ระบุว่าได้ถวายที่ดินและมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว พร้อมทั้งคำสาปแช่งแก่ผู้ที่คิดจะมาล้มล้างการกระทำของพระองค์
กล่าวถึงพญาติโลกหรือพระเจ้าติโลกราชที่ได้ทรงถวายที่ดินและข้าบริวารเพื่อบำรุงพระธาตุ โดยทรงมีพระราชโองการเป็นตราหลาบเงิน หรือการจารพระราชโองการลงบนแผ่นเงินไว้ รวมทั้งได้ทรงโปรดให้เขียนตำนานความเป็นมาเป็นไปของพระธาตุดอยตุงไว้ด้วย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ลูกเจ้าฟ้ามังทราจากเมืองหงสาวดีได้เข้ามาปกครองอาณาจักรนี้ไว้ และได้จารึกตราหลาบเงินอีกฉบับหนึ่งเพื่อถวายทานแก่มิลักขุ และถวายที่ดินตามประเพณีที่พระมหากษัตริย์ล้านนาได้ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา
แนวคิด
จากเรื่องราวที่เล่าขานกันต่อเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต จึงเกิดความเชื่อที่ว่าพระธาตุดอยตุงนั้นเป็นปฐมอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนาที่ได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในแคว้นโยนกนาคพันธ์ และทำให้บรรดาพระมหากษัตริย์ขัตติยะที่สืบราชวงศ์ปกครองอาณาจักรล้านนาต่อกันมา ช่วยกันดูแลทำนุบำรุงอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด เพื่อให้พระธาตุดอยตุงอยู่เป็นศรีคู่ดินแดนแห่งนี้สืบไป
ท้าวแสนปม จ.กำแพงเพชร
กล่าวถึงชายผู้หนึ่งนามว่า ตาแสนปม ตาแสนปมเป็นคนทำสวนคนหนึ่งในวังของพระราชา แต่เขาเกิดมามีกรรมเพราะมีรูปร่างแปลกประหลาดไปจากคนทั่วไป ร่างกายของเขามีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อของเขานั่นเอง
ตาแสนปมมีหน้าที่ดูแลสวน และใช้น้ำปัสสาวะของตนรดต้นมะเขือต่างน้ำ ต้นมะเขือที่ปลูกด้วยน้ำปัสสาวะจึงเจริญเติบโตงอกงาม และออกผลใหญ่น่ารับประทาน ต่อมา มีลิงตัวหนึ่งแอบมาลักลูกมะเขือที่ตาแสนปมปลูกไว้ เมื่อเขาจับได้จึงคิดจะฆ่าลิง แต่ลิงก็อ้อนวอนขอแลกชีวิตของตนกับฆ้องลูกหนึ่ง ตาแสนปมจึงตัดสินใจรับข้อตกลง และปล่อยลิงตัวนั้นไป
วันหนึ่ง ราชธิดาผู้มีรูปโฉมงดงามได้เสด็จมาประพาสสวน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นมะเขือมีผลโตงดงามก็คิดอยากจะเสวย ตาแสนปมจึงเด็ดลูกมะเขือมาถวายให้แก่ราชธิดา
แต่ต่อมาไม่นาน ราชธิดาก็เกิดตั้งครรภ์และคลอดพระโอรสมาองค์หนึ่งออกมา แต่เนื่องจากไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของพระโอรส พระราชาจึงสั่งให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามเมืองต่างๆเพื่อเสาะหาเขย โดยประกาศว่า หากโอรสของพระธิดารับของจากมือชายคนใด พระองค์ก็จะยกพระธิดาให้แต่งงานรวมถึงจะยกเมืองให้ปกครองด้วย
เมื่อทราบข่าว บรรดาชายหนุ่มทั้งคนธรรมดาทั่วไป ลูกเศรษฐี ลูกมหาเศรษฐี และเจ้าชายจากเมืองต่างๆ ก็พากันนำขนมนมเนยต่างๆมากมายมาถวายแก่พระโอรส แต่พระโอรสก็ยังไม่ยอมรับของจาดใคร จนสุดท้าย ตาแสนปมได้นำเอาก้อนข้าวเย็นมามอบให้แก่พระโอรส ซึ่งพระโอรสก็รับเอาก้อนข้าวเย็นจากมือตาแสนปมมาอย่างง่ายดาย ทำให้พระราชารู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก และจะไม่ยอมยกพระธิดาให้ตามสัญญา
ตาแสนปมจึงได้นำฆ้องที่ลิงเคยมอบให้ออกมาตี ซึ่งทำให่ปุ่มปมที่เคยปรากฏบนร่างกายหายไปจนหมด และแปลงโฉมเป็นชายหนุ่มรูปงามแทน จากนั้นตาแสนปมก็ตีฆ้องซ้ำอีกครั้ง ก็ปรากฎเป็นกองทัพยกขบวนขันหมากขึ้นมา
เมื่อตาแสนปมมีรูปโฉมที่เปลี่ยนไป พระราชาจึงยอมให้อภิเษกสมรสกับพระธิดา และยอมยกเมืองให้ปกครอง แต่ตาแสนปมกลับไม่ยอมรับ และพาพระมเหสีกับพระโอรสเดินทางออกไปจากเมือง จากนั้นก็พากันเดินทางไปจนถึงชัยภูมิที่เหมาะสม แล้วจึงตีฆ้องเป็นครั้งที่ ๓ ทำให้ปรากฏเป็นเมืองที่มีปราสาทราชวังอันแสนใหญ่โตขึ้นมา และตั้งชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์ ตาแสนปมจึงสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นท้าวแสนปม และปกครองบ้านเมืองอย่างมีความสุขสืบมา

นางกวัก

นางกวัก  เป็นที่ทราบกันดีว่านางกวักคือรูปปั้นที่มักถูกวางไว้หน้าร้าน และพ่อค้าแม่ขายมีไว้เพื่อกราบไหว้บูชา โดยหวังให้กิจการค้าของตนเจริญรุ่งเรือง
โดยนางกวักมีชื่อจริงว่า สุภาวดี มีบิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ ส่วนมารดาชื่อ สุมณฑา นางเป็นคนเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี ครอบครัวของนางมีอาชีพทำมาค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อต้องการจะขยายกิจการ จึงไปซื้อเกวียนมา 1 เล่ม และสินค้าไปขึ้นเกวียนเพื่อไปเร่ขายตามถิ่นต่างๆ ซึ่งนางสุภาวดี ก็ขออนุญาตบิดาเดินทางตามไปด้วยในบางครั้ง เพื่อหวังเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างการค้าขาย
ระหว่างเดินทางไปค้าขาย นางสุภาวดีได้พบกับ “พระกัสสปเถระเจ้า” ผู้เป็นอริยสงฆ์ เมื่อนางได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระกัสสปเถระเจ้า พระกัสสปเถระเจ้าก็ได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้ครอบครัวของนางสุภาวดีในทุกครั้งที่นางได้มีโอกาสไปฟังธรรม
ต่อมา นางสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาของตนไปทำการค้าอีก และได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์นามว่า “พระสิวลีเถระเจ้า” ด้วยความตั้งใจ จึงทำให้นางสุภาวดีมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ  และเนื่องจากพระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น กล่าวคือ ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์มารดายาวนานถึง 7 ปี 7 เดือน และเมื่อคลอดออกมาก็พร้อมไปด้วยวาสนาและบารมีที่ติดตัวมากับวิญญาณธาตุของท่าน พระสิวลีท่านจึงเป็นผู้ที่มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอดในทุกคราวที่ต้องการ และเมื่อนางสุภาวดีมาฟังธรรมบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจ พระสิวลีเถระเจ้าจึงได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้แก่ครอบครัวของนางสุภาวดี
เมื่อจิตของนางสุภาวดีได้รับการประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆสมความปรารถนาเถิด” จึงส่งผลให้บิดาทำการค้าเจริญรุ่งเรือง และได้กำไรอย่างไม่เคยขาดทุน
เมื่อบิดารู้ว่า นางสุภาวดีคือต้นเหตุแห่งความเป็นมงคลนี้ และทำให้ครอบครัวมีเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย จนกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี พร้อมด้วยเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย  เทียบเท่ากับธนัญชัยเศรษฐี ผูเป็นบิดาของนางวิสาขาแห่งแคว้นโกศล บิดาของนางสุภาวดีจึงได้หมั่นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และ ปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธาสืบมา
เมื่อนางสุภาวดีสิ้นชีวิตลง ชาวบ้านจึงปั้นรูปปั้นของแม่นางสุภาวดีขึ้น เพื่อไว้บูชาเพื่อขอให้การค้ารุ่งเรือง ความเชื่อเรื่องนี้ได้ถูกแพร่หลายข้ามประเทศเข้ามายังสุวรรณภูมิ และยังคงเป็นความเชื่อที่พ่อค้าแม้ค้าทั้งหลายยังคงศรัทธาสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ผีพราย ภูติแม่น้ำ

ผีพราย ถูกเชื่อกันว่าเป็นจิตวิญญาณชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากสุด ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในน้ำมากกว่าบนบก พรายโดยส่วนใหญ่มักมีที่มาแหล่งกำเนิดมาจากซากพืชหรือซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่หมักหมมรวมกัน ดวงจิตวิญญาณนี้มักจะแสดงตนในลักษณะของดวงไฟเรืองแสง เพื่อหาที่อยู่โดยการสิงเข้าสู่บางส่วนของร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งถือว่าดีกว่าการสิงสู่ด้วยการหลอกล่อให้ลุ่มหลงเหมือนที่เคยเป็นมา
มักจะเห็นได้ว่า ผีพรายโดยส่วนใหญ่จะปรากฏกายเป็นผู้หญิง หรือในบางทีนางไม้ก็จัดเข้าพวกผีพรายได้เช่นกัน เช่น พรายตะเคียน พรายตานี เป็นต้น นอกจากนี้ ผีทะเลหรือผีน้ำก็จัดเป็นพรายด้วยเช่นกัน เช่น พรายทะเล พรายน้ำ เพียงแต่ว่าพรายน้ำที่มีลักษณะเป็นฟองผุดๆขึ้นมาจากน้ำนั้นถือเป็นพรายคนละอย่างกัน
ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ได้ปรากฏผีพรายที่เป็นโหงพรายเป็นหนึ่งในตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วย ซึ่งคาดว่าผีพรายตนนี้น่าจะเป็นผีผู้ชายมากกว่า

ผีทะเล

ผีทะเล เป็นผีชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณของคนที่เสียชีวิตในทะเล ผีทะเลมักปรากฏให้เห็นหลายลักษณะ บ้างก็อาจปรากฎในรูปลักษณ์ของคนที่เดินลากปลาตัวใหญ่ขึ้นมาจากทะเล เนื่องมาจากถูกปลากินจนเสียชีวิต หรือบ้างก็ปรากฎตัวในชาวประมงเห็นโดยขึ้นมาบนเรือในยามวิกาลขณะที่ชาวประมงกำลังออกเรือหาปลา ซึ่งผีทะเลที่ขึ้นมาบนเรือในลักษณะนี้ มักจะมาในรูปแบบของดวงไฟที่สว่างอยู่บนเสากระโดงเรือ ซึ่งชาวประมงมีความเชื่อโดยทั่วกันว่า ถ้าผีทะเลได้ขึ้นมาเกาะบนเสากระโดงเรือของชาวประมงลำใด จะส่งผลให้เรือลำนั้นอัปปางลงกลางทะเลในที่สุด
ปรากฏการณ์ผีทะเลไม่ได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ชาวตะวันตกก็มีความเชื่อในทำนองนี้เช่นกัน โดยเรียกกันว่า เปลวเพลิงแห่งเซนต์เอลโม (St. Elmo’s Fire) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดไฟฟ้าสถิตย์ในอากาศแล้วไหลลงสู่ที่ต่ำโดยผ่านวัตถุอย่างเสากระโดงเรือ เหตุการณ์เช่นนี้จึงมักจะเกิดในวันที่มีฝนตกและมีพายุฝนรุนแรง
ในด้านของวรรณคดีไทย ก็มีการกล่าวถึงผีทะเลเอาไว้เช่นกัน โดยพบในวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” ซึ่งเป็นบทประพันธ์เอกของสุนทรภู่ครูกวีศรีสยาม ผีทะเลในเรื่องนี้ก็คือนางผีเสื้อสมุทร ผู้เป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์ร้ายกาจ มีอำนาจมากมาย และเป็นใหญ่ที่สุดในบรรดาภูตผีทั้งหมดที่สิงสู่อยู่ในท้องทะเล
แต่ในปัจจุบัน คำว่าผีทะเลกลับเปลี่ยนความหมายไปจากเดิม และมักใช้เป็นคำด่าทอหรือคำตำหนิที่ออกแนวแกมหยิกแกมหยอก มากกว่าจะใช้เป็นคำที่เรียกภูตผีที่มาจากท้องทะเล

ผีถ้วยแก้ว การะเล่นสื่อวิญญาณ

ผีถ้วยแก้ว ถือเป็นการละเล่นโบราณที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล โดยหลักการจะเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณหรือผีมาสิงสถิตในถ้วยแก้ว จากนั้นผู้เล่นก็จะสอบถามคำถามต่างๆแก่ดวงวิญญาณ ส่วนดวงวิญญาณที่สิงในถ้วยแก้วก็จะตอบคำถามเหล่านั้นโดยการเคลื่อนถ้วยแก้วไปตามตัวอักษรต่างๆที่เขียนเอาไว้บนแผ่นกระดาษ ซึ่งจะประกอบขึ้นเป็นคำตอบต่างๆ
ผีถ้วยแก้ว
ศาสตร์เร้นลับเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างวิญญาณกับมนุษย์ ถือเป็นเรื่องราวที่มนุษย์พยายามค้นหาคำตอบและทดลองเล่นกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เชื่อว่าน่าจะเคยได้ยินเรื่องราว หรือบางคนอาจจะเคยทดลองเล่นกับตัวมาแล้ว การเล่นผีถ้วยแก้วถือเป็นการท้าทายความกล้า และกล้าเผชิญหน้ากับความกลัวเพื่อหวังจะพิสูจน์เรื่องราวลึกลับที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ
การถามไถ่ความจริงจากผีด้วยการเล่นผีถ้วยแก้วนี้ อาจจะยังเป็นที่สงสัยของกลุ่มคนบางกลุ่มว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งจากการสอบถามเกจิอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่งว่า “ผี” หรือ “วิญญาณ” สามารถเข้ามาสิงอยู่ในถ้วยแก้วได้จริงหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่า “จริง” เพียงแต่ว่าวิญญาณของผีเร่ร่อนอาจจะไม่ได้ตอบคำถามตามความจริง เพราะวิญญาณเหล่านั้นก็ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเท่าไร หรือบางครั้งการเชิญวิญญาณอาจเกิดการสวมรอยขึ้น กล่าวคือวิญญาณที่ไม่ได้รับเชิญกลับเข้ามาสิงในถ้วยแก้วแทนวิญญาณที่เราต้องการถามเรื่องราว ดังนั้น จึงควรพึงสังวรณ์ไว้ว่า การอัญเชิญดวงจิตหรือดวงวิญญาณมาเพื่อสื่อสาร ก็เปรียบเหมือนกับการที่เราพยายามจะติดต่อกับใครสักคนโดยการโทรศัพท์ หรือเดินไปเคาะหน้าประตูบ้าน หากต้นสายปลายโทรศัพท์ไม่วางจะรับสายหรือเจ้าของบ้านไม่อยู่ก็ย่อมมีบุคคลอื่นเข้ามาสวมรอยรับโทรศัพท์หรือเปิดประตูบ้านให้คุณได้เสมอ แต่หากการสื่อสารเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ก็คงจะเป็นการสื่อสารข้ามมิติที่น่าอัศจรรย์ใจในรูปแบบหนึ่ง
ข้อควรระวัง!!
การเล่นผีถ้วยแก้วต้องอย่ามัวแต่มองถึงความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะระมัดระวังตัวให้ดีเมื่อคิดจะสื่อสารกับวิญญาณหรือสิ่งที่เรามองไม่เห็น ผู้เล่นผีถ้วยแก้วควรจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี และมีจิตใจที่แน่วแน่ จึงจะทำให้การเรียนรู้และสื่อสารเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งต้องระวังไม่ให้ถ้วยแก้วเปิดหรือระวังไม่ให้ควันไหลออกไปจากถ้วยแก้วก่อนจะสิ้นสุดการเล่น เพราะมีความเชื่อกันว่า ดวงวิญญาณที่สิงอยู่ในถ้วยแก้วนั้นอาจจะหนีออกจากถ้วยแก้วไปก่อนจะจบการเล่นได้ หรือบางครั้งก็อาจจะกลับเข้ามาสิงร่างตัวคุณหรือเพื่อนสนิทที่นั่งอยู่ข้างๆคุณก็เป็นได้ ซึ่งของอย่างนี้ก็ต้องแล้วแต่กรณีไป
วิธีการเล่นผีถ้วยแก้วอย่างย่อ
วัสดุและอุปกรณ์
1. กระดาษขาวที่มีตารางตัวอักษรและพยัญชนะ
2. ถ้วยแก้วขนาดเล็ก
3. ธูป เทียน
4. เครื่องเซ็นไหว้ดวงวิญญาณ
วิธีเล่น
1. จุดธูปอัญเชิญวิญญาณ
2. นำถ้วยแก้วครอบควันธูปและปิดถ้วยแก้วให้สนิท ก่อนนำมาคว่ำลงบนแผ่นกระดาษ
3. ตั้งจิตอธิษฐานให้บริสุทธิ์และทำสมาธิให้แน่วแน่
4. ให้ผู้เล่นทุกคนใช้นิ้วแตะขอบถ้วยแก้วเบา ๆ
5. ซักถามและรอดูคำตอบจากการขยับหรือเคลื่อนไหวของถ้วยแก้วไปตามตัวอักษรต่างๆบนกระดาษ
6. พูดคุยและถามไถ่
7. อัญเชิญวิญญาณออกจากถ้วยแก้ว
หมายเหตุ
ก่อนการเล่นผีถ้วยแก้วควรจะต้องเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะต้องพบเจอ ใครที่จิตอ่อนจึงไม่ควรเสี่ยงเล่นผีถ้วยแก้ว เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจได้

ผีตายโหง ต้นเหตุวิญญาณอาฆาต

ผีตายโหงถือเป็นผีที่จิตไม่ปกติ เนื่องจากจิตหรืออารมณ์สุดท้ายก่อนตายยังคงติดอยู่กับความรู้สึกหวาดกลัว ความอาลัยอาวรณ์ ความอาฆาตแค้น  หรือความตกใจ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตั้งใจจะตาย จึงทำให้ยังไม่สามารถทำใจกับการเสียชีวิตของตนเองได้ ผีตายโหงจึงมักติดอยู่ในบ่วงแห่งอารมณ์จนไม่มีความสงบสุข ถือเป็นวิญญาณที่ทรมาน และยังคงเที่ยวปรากฏกายให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่พบเห็นตน และยิ่งถ้าเป็นผีตายโหงที่ตายในขณะที่ยังมีความอาฆาตพยาบาทต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ ก็จะยิ่งมีความดุร้ายมากเป็นพิเศษโดยทั่วไป ผีตายโหงมักจะสิงสถิตอยู่กับในบริเวณที่ตัวเองตาย เช่น หากตามด้วยอุบัติเหตุ วิญญาณก็จะยังคงเฝ้าถนนบริเวณนั้นอยู่ เมื่อมีคนมาตายแทนที่ จึงจะสามารถไปผุดไปเกิดได้
หากพูดถึงเรื่องราวของ “โค้งร้อยศพ” อาจจะสามารถสันนิษฐานถึงปรากฏการณ์ความคำนึงอันแรงกล้าที่หลงเหลืออยู่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเก้าอี้ตัวหนึ่งเคยมีใครสักคนนั่งประจำอยู่ แต่เมื่อเขารู้สึกกระหายน้ำมากๆ เขาก็จำเป็นต้องลุกจากเก้าอี้เพื่อไปดื่มน้ำ แต่หากบังเอิญมีใครสักคนมาเรียกเขาให้ไปทำธุระก่อนที่จะได้ดื่มน้ำ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่อยากจะดื่มน้ำก็จะยังคงหลงเหลืออยู่ที่เก้าอี้ตัวนั้น หากมีใครสักคนเดินมานั่งลงที่เก้าอี้ตัวนั้น ก็จะเกิดความรู้สึกกระหายและอยากดื่มน้ำเป็นอันมากเช่นเดียวกัน
การอธิบายปรากฏการณ์โค้งร้อยศพกับการเสียเก้าอี้นั่งก็ถือเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะในขณะที่ผู้ประสบอุบัติเหตุกำลังอยู่ในอารมณ์ตกใจ ความรู้สึกอันแรงกล้าเฮือกสุดท้ายก็จะยังคงหลงเหลืออยู่ ณ บริเวณนั้น ดังนั้น หากมีใครผ่านมา ณ ที่แห่งเดิมนี้อีก ก็มักจะรับเอาความรู้สึกอันแรงกล้าของผู้ตายติดมาด้วย และเป็นผลให้พวกเขาเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกันกับวิญญาณที่เคยเสียชีวิต ณ บริเวณนี้นั่นเอง

ผีตายทั้งกลม ผีแม่ลูก

ผีตายทั้งกลมมักจะสำแดงอาการโดยเที่ยวหลอกหลอนคนทั่วไปในรูปแบบต่างๆ เช่น หากมีใครเดินผ่านหน้าบ้านของหญิงตายทั้งกลมในช่วงกลางคืน มักจะได้ยินเสียงเพลงกล่อมเด็กออกมาจากในบ้านอยู่เสมอ หรือบางครั้งอาจจะมีคนมือยืดยาวนั่งไกวเปลเด็กที่ผูกอยู่บนต้นไม้สูงก็เป็นได้
ส่วนที่มาของคำว่า ตายทั้งกลม ถูกสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า ตายทั้งกม ซึ่ง กม เป็นภาษาเขมรที่แปลว่า ทั้งหมด นอกจากนี้คำว่า กม ในผีตายทั้งกม ยังถือเป็นคำไทยโบราณเก่าแก่ที่มีจารึกเป็นหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่หนึ่ง และยังมีปรากฎก็ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงด้วย
การตายทั้งกลม จึงหมายถึงการตายทั้งแม่และลูกในเวลาเดียวกันนั่นเอง ดังนั้น ผีตายท้องกลมหรือตายทั้งกลมจำเป็นต้องเป็นเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น และจำเป็นต้องเสียชีวิตไปพร้อมกันในช่วงเวลาที่แม่คลอดเด็กออกมาด้วย หากแม่คลอดเด็กออกมาแล้วแม่ตายแต่เด็กรอดหรือเด็กตายแต่แม่รอด ก็จะไม่เรียกว่าผีตายทั้งกลมหรือผีตายทั้งกมแต่จะเรียกว่าเป็นผีอย่างอื่นแทน
สำหรับประวัติของผีตายทั้งกลมจะคล้ายๆกันหมด คือเมื่อหญิงสาวแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว หญิงสาวก็จะตั้งครรภ์แต่ก้จะบังเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์บางอย่าง ที่ทำให้หญิงสาวต้องจบชีวิตลงพร้อมลูกน้อยในครรภ์ สำหรับผีตายทั้งกลมถือเป็นผีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศไทย จนบรรดานักเขียนหนังสือและสร้างภาพยนตร์นิยมนำเอาตัวละครของผีตัวนี้ไปแทรกอยู่ใบบทละครหรือภาพยนตร์เสมอ หนึ่งในนั้นก็คือภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง แม่นาคหรือย่านาคพระโขนง ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงในเรื่องของความน่ากลัวและพิศดารเหนือกว่าหนังผีเรื่องไหนๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงโดยเฉพาะในตอนต่อๆไป
ผีผู้หญิงมีครรภ์ที่เสียชีวิตพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้อง มักเป็นผีที่พ่อมดหมอผีนิยมใช้หากินในด้านการทำเสน่ห์หรือทำน้ำมันพราย พ่อมดหมอผีที่เรียนมาทางด้านไสยศาสตร์มนต์ดำ มักจะชอบตามหาผีตายทั้งกลมเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ของตนเองอยู่เสมอ
การตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในพิธีจะเริ่มจากการหาลูกศิษย์หรือสมัครพรรคพวกเพื่อช่วยกันขุดศพในป่าช้าขึ้นมาจากหลุม จากนั้นจึงใช้เทียนลนคางผีตายทั้งกลมเพื่อเอาน้ำเหลืองจากศพมาปลุกเสกทำน้ำมันพราย
สรรพคุณของน้ำมันพรายถือเป็นสิ่งที่บุคคลหลายคนโดยเฉพาะผู้ชายอยากมีไว้ในครอบครอง เพราะขนาดเพียงเท่าขวดยานัดถุ์หมอมีก็สามารถใช้การได้เป็นอย่างดีแล้ว หากเมื่อใดที่เจอสาวคนไหนที่ถูกอกถูกใจ แต่สาวคนนั้นไม่ยอมเล่นด้วย ก็ไม่ต้องตามจีบให้เสียเวลา เพียงแค่เหยาะน้ำมันพรายใส่นิ้วสักหนึ่งถึงสองหยด แล้วดีดหรือป้ายให้ถูกตัวสาวผู้นั้น ทันทีที่สาวเจ้าหล่อนโดนน้ำมันพรายเข้าไปก็จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มหลงใหลและมีใจเสน่หาตามมาถึง บ้านทันที อย่างไรก็ตาม มีท่านผู้รู้เคยบอกเอาไว้ว่า หากสาวคนไหนถูกดีดน้ำมันพรายก็จะกลายเป็นคนบ้าใบ้เสียสติไปเลยก็มี ฉะนั้น หากใครไม่อยากจะสร้างบาปกรรมให้กับตัวเอง ก็อย่าได้ริลองใช้น้ำมันพรายเพื่อล่อลวงหญิงสาวเลย มากไปกว่านั้น หากญาติของศพทราบว่าศพนั้นถูกขุดหรือทำลาย ก็อาจจะโดนข้อหาร้ายแรงจนต้องติดคุกติดตาราง ซึ่งคงไม่คุ้มกันแน่นอน
ผีตายทั้งกลมมักจะหากินจากเครื่องเซ่นหรืออาหารที่ญาติๆของตนทำบุญถวายและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ไม่แตกต่างจากผีธรรมดาทั่วไป แต่ไม่มีแหล่งที่มาไหนที่บอกว่าต้องเอานมกระป๋องไปเซ่นไหวเพื่อเอาไว้เลี้ยงดูลูกด้วยหรือไม่ ผีตายทั้งกลมส่วนใหญ่จะออกไปหลอกหลอนและสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่พบเจอเสียมากกว่า
และเนื่องจากความดุและน่ากลัว ทำให้ผีตายทั้งกลมส่วนใหญ่เป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว แต่ผีตายทั้งกลมก็ยังกลัวพระ และกลัวเครื่องรางของขลังไม่ต่างอะไรกับผีโดยทั่วไป วิธีจัดการกับผีชนิดนี้จึงจำเป็นต้องพึ่งหมอผีหรือพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า ถึงจะสามารถปราบผีเหล่านี้ได้
ผีตายทั้งกลมไม่ต้องมีการถ่ายทอดหรือรักษาเผ่าพันธุ์อะไร เพราะแค่เพียงมีหญิงสาวคนใดที่เสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ ก็จะกลายเป็นผีตายทั้งกลมไปโดยปริยาย และโดยทั่วไปมักพบว่าผีตายทั้งกลมจะเป็นผีสาวที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เพราะหากผ่านพ้นวัยนี้ไปแล้ว ก็คงมีโอกาสตั้งท้องหรือมีครรภ์ต่ำกว่าปกติ โอกาสที่จะเสียชีวิตพร้อมกับลูกในท้องจึงไม่ค่อยมีมากสักเท่าไร

ผีเปรต สัตว์นรกในห้วงกรรม

เปรต คือ ผีที่มีรูปร่างสูงโย่งเท่าต้นตาล  คอยาว ผมยาว ตัวดำ ผอมโซแต่ท้องโต มีมือใหญ่เท่าใบตาล แต่มีปากเล็กเท่ารูเข็ม ทำให้ผีเปรตมักจะหิวอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่สามารถกินอะไรได้มากพอ เปรตจึงมักจะชอบปรากฎตัวในงานบุญเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อขอส่วนบุญเพื่อสั่งสมบุญให้มากพอ จนสามารถไปเกิดใหม่ในชาติหน้า โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้
เปรต หมายความว่า ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว หรือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่หากกล่าวถึงในทางพุทธศาสนา เปรตจะหมายถึง สัตว์พวกหนึ่งที่เกิดในเปตสิสัยอันเป็นอบายภูมิ ๑ ใน ๔ ความเชื่อตั้งแต่โบราณกล่าวไว้ว่า ถ้าผู้ใดคิดร้ายพ่อแม่ผู้มีพระคุณกับตัวเอง ชาติหน้าจะต้องไปเกิดเป็นผีเปรต
ประเภทของเปรต
เปรตสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท  โดยแบ่งกลุ่มออกได้ดังต่อไปนี้
แบ่งตามเปตวัตถุอรรถกถา แบ่งได้ 4 ประเภท
  • ปรทัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ หากขาดส่วนบุญจากผู้ใจบุญไป เปรตเหล่านี้ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร
  • ขุปปีปาสิกเปรต คือ เปรตที่อดอยากจนเกิดทุกข์จากความหิวโหยอยู่เสมอ
  • นิชฌามตัณหิกเปรต คือ เปรตที่ถูกไฟเผาให้ลุ่มร้อนอยู่เสมอ
  • กาลกัญจิกเปรต คือ เปรตที่อยู่ในจำพวกอสุรกาย
แบ่งตามคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และ ฉคติทีปนีปกรณ์ แบ่งได้ 12 ประเภท
  • วันตาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการกินน้ำลาย เสมหะ หรืออาเจียน เป็นอาหาร
  • กุณปาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการกินซากศพของคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
  • คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการกินอุจจาระต่าง ๆของคนและสัตว์ เป็นอาหาร
  • อัคคิชาลมุขเปรต คือ เปรตที่มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากตลอดเวลา
  • สุจิมุขเปรต คือ เปรตที่มีปากขนาดเล็กเท่ารูเข็ม
  • ตัณหัฏฏิตเปรต คือ เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนจนเกิดทุกข์จากความหิวทั้งข้าวและหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา
  • สุนิชฌามกเปรต คือ เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่โดนเผา
  • สุตตังคเปรต คือ เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวราวกับคมมีด
  • ปัพพตังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เขนาดเท่าภูเขา
  • อชครังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายราวกับงูเหลือม
  • เวมานิกเปรต คือ เปรตที่ต้องเสวยทุกข์เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน แต่สามารถเสวยสุขในวิมานได้ในช่วงเวลากลางคืน
  • มหิทธิกเปรต คือ เปรตที่มีฤทธิ์มาก
แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี แบ่งได้ 21 ประเภท
  • อัฏฐีสังขสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่กระดูกยาวติดกันเป็นท่อน ๆ
  • มังสเปสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่เนื้อเป็นชิ้นๆ
  • มังสปิณฑเปรต คือ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
  • นิจฉวิปริสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีหนังห่อหุ้มร่างกาย
  • อสิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
  • สัตติโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นหอก
  • อุสุโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
  • สูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
  • ทุติยสูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
  • กุมภัณฑเปรต คือ เปรตที่มีอัณฑะขนาดใหญ่โตมากกว่าปกติ
  • คูถกูปนิมุคคเปรต คือ เปรตที่จมอยู่ในกองอุจจาระ
  • คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระ
  • นิจฉวิตกิเปรต คือ เปรตเพศหญิงที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
  • ทุคคันธเปรต คือ เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งตลอดเวลา
  • โอคิลินีเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
  • อลิสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีศีรษะ
  • ภิกขุเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระ
  • ภิกขุณีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระภิกษุณี
  • สิกขมานเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสิกขมานา
  • สามเณรเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณร
  • สามเณรีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณรี

แม่นาคพระโขนง ตำนานรักอมตะ

แม่นาก…….กล่าวถึงหนุ่มสาวผัวเมียคู่หนึ่งอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาอยู่ ณ บริเวณพระโขนง ฝ่ายสามีมีชื่อว่า นายมาก ส่วนภรรยามีชื่อว่า นางนาค ทั้งสองอยู่กินกันจนในที่สุดฝ่ายหญิงก็ตั้งครรภ์อ่อน แต่ยังไม่ทันจะได้คลอดลูก นายมากก็มีเหตุจำเป็นต้องไปรับใช้ชาติเป็นทหารประจำการณ์ที่กรุงบางกอก ทำให้ทั้งคู่ต้องพรากจากกัน และปล่อยให้นางนาคอยู่เพียงลำพังกับลูกน้อยในครรภ์
เวลาผ่านไป ท้องของนางนากก็ใหญโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งครบกำหนดวันคลอด หมอตำแยก็มาทำคลอดให้ แต่ทว่าเกิดเหตุอันแสนโชคร้ายเนื่องจากลูกของนางนากไม่ยอมกลับหัว และคลอดออกมาตามวิธีธรรมชาติ ส่งผลให้นางนากต้องทุกข์ทรมาน และต้านทานความเจ็บปวดไว้ไม่ไหว จนสิ้นใจตายไปพร้อมกับลูกในท้อง และต้องกลายเป็นผีตายทั้งกลมในที่สุด และศพของนางนาคถูกนำไปฝังไว้ที่ป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์
เมื่อนายมากปลดประจำการจากบางกอก ก็รีบกลับมาหาเมียของตนที่พระโขนงโดยที่ไม่ทราบเรื่องเลยว่าเมียของตนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อนายมากกลับมาถึงในเวลาเข้าไต้เข้าไฟพอดี จึงไม่ได้พบเจอกับชาวบ้านคนไหนเลย อีกทั้งบริเวณบ้านของนางนากหลังจากที่นางตายไป ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ด้วยเพราะความกลัวว่าผีนางนากจะมาหลอกหลอน ชาวบ้านต่างก็เชื่อกันว่า วิญญาณของผีตายทั้งกลมนั้นมีความดุร้ายและเฮี้ยนกว่าผีชนิดไหนยิ่งนัก
เมื่อนายมากกลับมาอยู่ที่บ้านแล้ว ผีนางนากก็คอยรั้งนายมากให้อยู่กับบ้านตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องออกไปพบเจอใคร เพราะเกรงว่าความจริงเรื่องตนตายจะถูกเปิดเผย ด้วยความรักและเชื่อใจเมีย นายมากจึงไม่เชื่อชาวบ้านคนไหนเลยว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนากกำลังตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนากได้เผลอทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน แต่ด้วยความรีบร้อน นางนากจึงยืดมือยาวเพื่อเอื้อมลงมาหยิบลูกมะนาวที่ใต้ถุนเรือน บังเอิญว่านายมากผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่อตามคำที่ชาวบ้านบอกว่าเมียตัวเองนั้นเป็นผีตามที่ใครเขาว่ากัน
หลังจากที่รู้ความจริง นายมากก็วางแผนเพื่อหลบหนีออกห่างจากผีนางนาก โดยแอบเจาะตุ่มใส่น้ำให้รั่วแล้วเอาก้อนดินมาอุดไว้ เมื่อตกกลางคืนก็ทำทีว่าจะไปปลดทุกข์เบา แล้วแกะเอาก้อนดินออกจากตุ่มที่อุดน้ำไว้ น้ำจึงไหลออกเหมือนเสียงของคนที่กำลังปลดทุกข์เบา หลังจากนั้นนายมากจึงแอบหนีไป
นางนาคเริ่มเห็นว่าผิดสังเกต จึงออกมาดูก็รู้ความจริงว่าตัวเองโดนผัวหลอก นางนากจึงตามนายมากออกไปทันที เมื่อนายมากเมื่อเห็นผีนางนาคตามมา จึงหนีเข้าไปหลบอยู่ในดงหนาด ทำให้นางนากไม่สามารถทำร้ายนายมากได้ เหตุเพราะผีกลัวใบหนาด จากนั้นนายมากก็หนีไปพึ่งบารมีของหลวงพ่อที่วัด แต่นางนากก็ยังไม่ลดละความพยายาม และตามนายมากต่อไป
ด้วยความเจ็บใจที่ชาวบ้านคอยยุแยงตะแคงรั่วผัวของตนให้เอาใจออกห่าง ทำให้นางนากเที่ยวออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนอกสั่นขวัญหายไปกันทั้งบาง ความเฮี้ยนของนางนากเป็นที่รู้กันไปทั่วส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการถูกฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่นั่นเอง แต่ในที่สุด นางนากก็ถูกหมอผีฝีมือดีจับถ่วงหม้อลอยไปตามน้ำ จึงทำให้ไม่สามารถแผลงฤทธิ์ต่อไปได้
เวลาผ่านไป จนมีตายายคู่หนึ่งที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวและเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่เก็บหม้อที่ถ่วงนางนากขึ้นมาได้ขณะที่ออกไปทอดแหจับปลากลางแม่น้ำ ทำให้นางนากถูกปลดปล่อยและออกมาอาละวาดได้อีกครั้ง
แต่ในที่สุด นางนากก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สยบลงได้ ส่วนกะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากของนางนากถูกนำไปเคาะออกเพื่อทำปั้นเหน่งหรือหัวเข็มขัดโบราณ เพื่อสะกดวิญญาณ และนำนางนากไปสู่สุคติ
ปั้นเหน่งที่ทำจากกระโหลกนางนากถือเป็นมรดกตกทอดสืบต่อไปยังเจ้าของหลายมือ พร้อมไปกับตำนานความรักของนางนากที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นเรื่องราวความรักอันแสนมั่นคงที่ฟังแล้วประทับใจมิรู้คลาย เพราะแม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางนากจากนายมากไปได้เลย

ศาลแม่นาคพระโขนง

นางตะเคียน วิญญาณเฮี้ยนในต้นไม้ใหญ่

นางตะเคียน เป็นผีที่มีมาแต่โบราณตามตำนานพื้นบ้านของไทย ผีตะเคียนเป็นผีผู้หญิงที่สิงสถิตอยู่ในต้นตะเคียน นางตะเคียนมักเป็นผีที่มีรูปร่างหน้าตาดี สวย งดงาม และผมยาว การแต่กายของนางตะเคียนจะห่มสไบและใส่ผ้าถุง คล้ายกับสาวบ้านป่าทั่วๆ ไป
บริเวณป่าที่มีผีนางตะเคียนสิงสู่อยู่ จะมีลักษณะสะอาดสะอ้านราวกับมีคนมาปัดกวาดเช็ดถูดูแลบ้านเรือนของตนเองบริเวณนั้นอยู่เสมอ  ผีนางตะเคียนจึงมักจะเป็นผีจำพวกหวงที่อยู่ และจะดุร้ายมากหากมีใครคิดจะรุกรานที่อยู่ของตน
เนื่องจากต้นตะเคียนมักมีผีนางตะเคียนสิงสู่อยู่ การจะตัดเอาต้นตะเคียนมาทำเป็นเรือในสมัยก่อน  หรือนำเอาไม้ตะเคียนมาสร้างบ้าน จึงจำเป็นจะต้องมีการทำพิธีบวงสรวง เพื่อขออนุญาตจากนางตะเคียนก่อน
ทั้งนี้ เมื่อต้นตะเคียนเหล่านั้นถูกนำมาแปรสภาพเป็นเรือ ยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆแล้ว ผีนางตะเคียนที่เคยสิงสถิตอยู่ในต้นตะเคียนต้นนั้น ก็จะเปลี่ยนมาสิงสถิตอยู่ในสถานะใหม่ตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นเรือที่ทำจากไม้ตะเคียน นางตะเคียนก็จะกลายเป็นแม่ย่านางเรือ เป็นต้น

ควายธนู สัตว์ภูติ ไสยศาสตร์

ควายธนู ถือเป็นเครื่องรางของขลังตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรม ควายธนูมีความผูกพันกับวัฒนธรรมการปลูกข้าวของชาวไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัวควายมักเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้ใช้งานในทางกสิกรรม
วิชาอาคมเหล่านี้เป็นการทำหุ่นพยนต์รูปแบบหนึ่ง หุ่นพยนต์สามารถทำได้ทั้งรูปแบบที่เป็นคนและสัตว์ ที่นิยมมีทั้งแบบที่เป็นวัวธนูและควายธนู ซึ่งเครื่องรางเหล่านี้สามารถสร้างได้หลายวิธี เช่น สานขึ้นมาจากไม้ไผ่ ปั้นด้วยดินผสมมวลสาร ปั้นด้วยขี้ผึ้ง หรือหล่อขึ้นด้วยโลหะอาถรรพ์ เช่น ตะปูจากโลงศพเจ็ดป่าช้า , เหล็กขนันผีพราย ,เหล็กยอดเจดีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ บางสำนักอาจใช้โครงเป็นไม้ไผ่พอกด้วยครั่งที่ได้จากต้นพุทรา
เมื่อปั้นควายธนูแล้ว ต้องนำมาปลุกเสกตามพิธีกรรม แล้วเลี้ยงไว้ให้ดีด้วยหญ้าและน้ำเสมอ เชื่อกันว่าสามารถใช้ควายธนูได้ตามความประสงค์ สามารถสั่งให้เฝ้าบ้าน เฝ้าไร่นา หรือใช้งานได้ทุกอย่าง อีกทั้งยังช่วยป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย หรือสามารถสั่งให้ไปสังหารคู่อริที่ไม่ถูกชะตาได้อีกด้วย
สำหรับคาถาที่ใช้เสกเมื่อทำควายธนูว่าไว้ว่า “โอมปู่เจ้าสมิงไพร ปู่เจ้ากำแหงให้กูมาทำควาย เชิญพระอีศวรมาเป็นตาซ้าย เชิญพระอาทิตย์มาเป็นตาขวา เชิญพระนารายณ์มาเป็นเขา เชิญพระอินทร์เจ้าเข้ามาเป็นหาง เชิญพระพุทธคีเนตร์ พระพุทธคีนายมาเป็นสีข้างทั้งสอง เชิญพระจัตตุโลกบาลทั้งสี่มาเป็นสี่เท้า เชิญฝูงผีทั้งหลายเข้ามาเป็นไส้พุง นะมะสะตีติ
ความเชื่อเรื่องควายธนูนี้มีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ในบางท้องถิ่นเชื่อกันว่าผู้เลี้ยงจำเป็นต้องดูแลความธนูอย่างดี ต้องหมั่นให้อาหารและปล่อยให้ออกไปท่องเที่ยวบ้างบางครั้ง การเลี้ยงดูควายธนูจะประมาทหรือหลงลืมไม่ได้ มิเช่นนั้นควายธนูจะหวนมาทำร้ายเจ้าของเสียเอง แต่บางแห่งก็ถือเป็นเสมือนเครื่องรางธรรมดาที่ใช้สำหรับพกพาไว้คู่กาย

กุมารทอง ภูติน้อยคะนองฤทธิ์

กุมารทอง ถือเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ เชื่อว่าที่มาของกุมารทองเกิดมาจากความต้องการในการเลี้ยงภูติผีปีศาจไว้ใช้งาน โดยกุมารทองจะใช้วิญญาณของเด็กผู้ชาย แต่หากเป็นวิญญาณของเด็กผู้หญิง คนเลี้ยงจะเรียกชื่อว่า “โหงพราย” แทน
กุมารทองสร้างขึ้นมาจากวิญญาณของเด็กที่เสียชีวิตในท้องแม่ หรือที่ถูกเรียกว่าผีตายทั้งกลม ผู้ที่มีวิชาอาคมสูงจะนำเอาวิญญาณของเด็กเร่ร่อนมาเลี้ยงไว้เป็นลูก ซึ่งจากหลักฐานที่ค้นพบในเอกสารโบราณ ได้มีการระบุไว้ว่า การทำกุมารทองจะต้องหาศพที่ตายทั้งกลม แล้วนำมาประกอบพิธีกรรมเพื่อผ่าเอาศพของทารกในครรภ์มารดาออกมาย่างไฟให้แห้งสนิทก่อนจะถึงรุ่งอรุณของวันถันไป จากนั้นจึงนำศพที่แห้งมาลงรักปิดทองให้ทั่วทั้งตัว อันเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า กุมารทอง นั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี สภาพสังคมและวัฒนธรรมก็ถูกพัฒนาขึ้นไปมาก ทำให้ไม่สามารถสร้างกุมารทองจากศพทารกจริง ๆได้ ดังนั้น จึงมีการดัดแปลงพิธีกรรมในการสร้างกุมารทองขึ้น โดยเปลี่ยนเป็นการใช้ดินจากเด็ดป่าช้าแทน และนำไม้รักซ้อนหรือไม้มะยมบ้าง รวมไปจนถึงโลหะ มาสร้างเป็นรูปกุมาร จากนั้นจึงปลุกเสก ตั้งจิต ตั้งธาตุทั้ง 4 และเรียกอาการสามสิบสองให้มาบังเกิดเป็นจิตวิญญาณของเด็กขึ้นมา
ลักษณะของกุมารทองในปัจจุบันนิยมสร้างเป็นรูปเด็กไว้จุก และนุ่งโจงกระเบนแบบโบราณ กุมารทองกลายเป็นเครื่องรางของขลังที่เชื่อกันว่าเสมือนมีวิญญาณของเด็กมาสิงอยู่ในรูปกุมารนั้นจริง และผู้บูชาต้องเลี้ยงดูกุมารทองเหมือนลูกของตน โดยต้องมีการให้ข้าว ให้น้ำ เพื่อเซ่นสรวง ซึ่งปัจจุบันผู้บูชานิยมไหว้กุมารทองด้วยน้ำแดง
กล่าวกันว่า หากผู้บูชาปฏิบัติเลี้ยงดูกุมารทองอย่างดี กุมารทองก็จะช่วยค้ำคูณ คุ้มครองป้องกันเจ้าของจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายได้ โดยกุมารทองจะคอยติดตามเฝ้าระวังบ้านเรือนจากโจรผู้ร้ายไม่ให้สามารถมากล้ำกรายได้เลย อีกทั้งยังช่วยให้ทำมาค้าขึ้น รวมไปถึงสามารถช่วยเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่เจ้าของได้อีกด้วย
เรื่องราวของกุมารทองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น หรือบางครั้งก็นับลูกกรอกเป็นกุมารทองด้วย ส่วนเครื่องรางอีกประเภทหนึ่งที่คล้ายกันมีชื่อเรียกว่ารักยม ก็ถือเป็นที่นิยมบูชาเทียบเท่ากันกับกุมารทอง และเป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมไทย

ผีกองกอย เสียงร้องในไพร

กองกอย ถือเป็นผีป่าหรือผีไพรชนิดหนึ่ง  กองกอยมักมีรูปร่างลักษณะเป็นผีขาเดียว ที่มีปากเป็นท่อเหมือนแมลงวัน เวลาที่เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนก็มักจะกระโดดไปด้วยขาข้างเดียว พร้อมกับส่งเสียงร้องว่า ” กองกอย ๆ ” ซึ่งทำให้เป็นที่มาของชื่อเรียกที่ว่านี้นั่นเอง
คนส่วนใหญ่เชื่อว่ากองกอยมีหน้าตาคล้ายกับลิงหรือค่าง บ้างก็เรียกว่า ผีโป่ง หรือผีโบ่งขาม เนื่องจากสันนิษฐานว่า ผีโป่งก็คือค่างแก่ที่มีหน้าตาน่าเกลียดและไม่สามารถปีนขึ้นต้นไม้ได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า หากได้มีโอกาสดื่มเลือดค่าง จะทำให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพันและเป็นอมตะชั่วนิรันดร์
คนโบราณมักจะมีความเชื่อว่า ผีกองกอย มักจะดูดเลือดจากหัวแม่เท้าของคนที่ไปพักค้างแรมในป่า หากต้องการป้องกันไม่ให้ผีมาดูดเลือด จะต้องนอนไขว้ขาหรือนอนเท้าชิดกันทั้งสองข้าง ตัวอย่างของผีกองกอยในวรรณคดี ก็คือเจ้าย่องตอด ซึ่งพบได้ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี นั่นเอง
เรายังพบผีชนิดอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายๆกับผีกองกอยมีกระจัดกระจายไปทั่วในหลายประเทศ เช่น คนมาเลเซียจะมีความเชื่อเรื่องผีคนป่าเผ่าหนึ่งที่มีขาข้างเดียวและไม่มีสะบ้าหัวเข่า ส่วนในจีนก็มีความเชื่อเกี่ยวกับปีศาจชนิดหนึ่งที่มักอาศัยอยู่ตามภูเขา ผีจีนตัวนี้จะมีลักษณะพิเศษคือมีขาเดียว ตัวเล็ก ตาโต หูแหลม แต่ผมยาว และมักจะชอบลักขโมยอาหารหรือสิ่งของของคนเดินทาง และเมื่อถึงเทศกาลวันตรุษ ผีชนิดนี้ก็มักเข้ามาอาละวาดคนในหมู่บ้าน จึงเชื่อว่าเป็นผีที่นำความอัปมงคลมาให้ หากใครได้จับต้องโดนตัวมัน จะต้องเผชิญกับความโชคร้ายหรือต้องเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกราย ส่วนทางยุโรปก็มีผีขาเดียว ที่มักจะเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนด้วยวิธีการกระโดด
ส่วนในภาคเหนือของไทยก็มีผีอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ผีโป๊กกะโหล้ง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นผีโป่งชนิดหนึ่ง เพราะลักษณะของมันคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีขาเพียงข้างเดียว แต่วิ่งไวราวกับลมพัด อย่างไรก็ตาม ผีชนิดนี้มีความแปลกอยู่บ้างตรงที่ไม่เคยดูดเลือดคนที่เดินป่า แต่กลับชอบเล่นบังตาคนมากกว่า ผีชนิดนี้มักมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวว่า โป๊กๆๆ กะโหล้ง โป๊กๆๆๆ กะโหล้ง ส่วนนิสัยประจำตัวอีกอย่างของผีชนิดนี้คือ หากมีมนุษย์คนใดมาตะโกนเรียกกันในป่า มันจะทำเสียงเลียนแบบ จนทำให้คนที่ตะโกนรับหลงทางไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น คนเฒ่าคนแก่ถึงได้ห้ามไม่ให้เราตะโกนเสียงดังในป่า เพราะเกรงว่าผีโป๊กกะโหล้งจะเลียนเสียงแล้วทำให้หลงป่าได้นั่นเอง

ผีปอป ภูติร้ายจอมตะกละ

ผีปอบ” กำเนิดมาจากการที่ผู้มีวิชาทางไสยศาสตร์และมีมนต์ดำแก่กล้า สามารถใช้อำนาจอันแสนขลังจากเวทมนตร์คาถาเพื่อสั่งไปทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำเสน่ห์ยาแฝด การฝังรูปฝังรอย การเสกหนังควายเข้าท้อง การเสกตะปูเข้าท้อง หรือใช้มนตราบังคับวิญญาณหรือภูตผีไปเข้าสิง
พระพุทธเจ้าทรงระบุว่าวิชาทางไสยศาสตร์เหล่านี้เป็นเดียรฉาน ทำให้ผู้ที่มีวิชาอาคมทางไสยศาสตร์จะต้องมีข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติกำกับอยู่ด้วย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระวังไม่ให้เกิดการละเมิดในข้อห้ามหรือข้อปฏิบัตินั้นๆโดยเด็ดขาด หากเมื่อใดที่มีการกระทำผิดตามข้อห้ามที่ระบุไว้ ชาวอีสานจะเรียกว่า “คะลำ” ซึ่งจะก่อให้เกิดโทษหนักในข้อ “ผิดครู” ตามมา
วิญญาณของบรมครูจะลงโทษคนทำผิดโดยการสั่งให้กลายเป็นปอบ หรืออีกประการหนึ่งของผู้ที่กลายเป็นปอบก็คือ การเล่นคาถาอาคมอย่างหนัก และใช้ความขลังแห่งวิชามนต์ดำไปทำร้ายผู้อื่นอย่างไม่เกรงกลัวต่อบาป รวมไปถึงการกระทำกรรมชั่วเป็นอาจิณ จนกระทั่งถูกอาถรรพณ์ของไสยเวทย์ย้อนกลับเข้ามาทำร้ายตัวเอง จนทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นปอบไปในที่สุด
ประเภทของผีปอบ 
ปอบสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ดังต่อไปนี้
1. “ปอบธรรมดา” หมายถึง คนที่มีร่างของปอบสิงอยู่  เมื่อคนประเภทนี้ตายไป ปอบที่สิงสู่อยู่ในคนพวกนั้นก็จะ ตายตามไปด้วย
2. “ปอบเชื้อ” หมายถึง ครอบครัวใดที่มีพ่อแม่เป็นปอบ เมื่อพ่อแม่ตายไป ลูกหลานก็จะต้องสืบทอดเชื้อสายการ เป็นปอบต่อไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการสืบต่อทางกรรมพันธุ์ ซึ่งไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม ก็จำเป็นต้องเป็นปอบต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีวันรู้จบ
3.  ”ปอบแลกหน้า” หมายถึง ปอบเจ้าเล่ห์ที่ถนัดเอาความผิดไปโยนให้ผู้อื่น กล่าวคือ เวลาที่ปอบชนิดนี้เข้าไปสิงใคร เมื่อถูกสอบถามว่ามีผู้ใดเลี้ยงหรือบังคับ ปอบจะไม่ยอมบอกความจริง แต่จะไปกล่าวโทษว่าเป็นคนนั้นคนนี้โดยที่ผู้ถูกระบุชื่อไม่ทราบเรื่องราวอะไรเลย
4.  ปอบกักกึก (กึก ภาษาอีสานแปลว่า “ใบ้”) หมายถึง ปอบที่ไม่ยอมพูดจาจนกว่าจะมีคนถาม หรือจนกว่าญาติพี่น้องจะไปตามหมอผีมาขับไล่ ปอบตัวนั้นจึงจะยอมเปิดปากพูดความจริงว่าตนเป็นปอบของใคร หรือมีใครใช้ให้มา เข้าสิง
ลักษณะของผู้ที่ถูกผีปอบเข้าสิง
ผู้ที่ถูกผีปอบเข้าสิง หรือที่ชาวอีสานมักเรียกกันว่า “ปอบเข้า” จะมีอาการแตกต่างกันไปต่างๆนานา บางคนอาจแสดงกิริยาอาการดุร้าย บางคนอาจจะนอนซมคล้ายคนป่วยไข้อย่างหนัก ในขณะที่บางคนจะร่ำไห้รำพันไปต่างๆนานา
โดยมากผู้ที่ถูกปอบเข้าสิงจะร้องเรียกหาอาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่ว่าจะเป็น พวกตับหมูตับไก่ต้ม และเวลากินอาหารก็จะแสดงความตะกละมูมมาม และกินได้จุผิดปกติของมนุษย์ เมื่อญาติพี่น้องรู้ว่าคนป่วยผู้นั้นถูกปอบเข้าสิง ก็มักจะไปตามหมอผีให้ช่วยมาขับไล่ผีปอบให้ออกจากคนป่วยผู้นั้น
วิธีการไล่ปอบให้ออกจากร่างมนุษย์ มีอยู่หลายวิธีตามแต่แนวทางที่หมอผีผู้นั้นได้ร่ำเรียนมา บางคนอาจจะเอาพริกแห้งมาเผา แล้วรมควันจนคนป่วยผู้นั้นสำลักควันน้ำตาไหลพาก และเมื่อปอบออกจากร่างผู้ป่วยไปได้แล้ว หมอผีก็จะทำการข่มขู่ โดยการสอบถามว่าผีปอบตัวนั้นเป็นใครมาจากไหน เมื่อผีปอบรับสารภาพ หมอผีก็จะใจดีปล่อยปอบตัวนั้นไป
ผู้ป่วยที่ผีปอบออกจากร่างไปแล้ว ก็จะค่อยๆได้สติในภายหลัง เมื่อฟื้นขึ้นมานัยน์ตาที่เคยแดงก่ำเนื่องจากถูกควันพริกรมจะหายไปทันที แต่เจ้าของปอบกลับจะมีอาการนัยน์ตาแดงก่ำด้วยสายเลือด จนไม่อาจสู้หน้าใครได้ และต้องซ่อนตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อไม่ให้ใครพบหน้า
หมอผีทั่วไปมักนิยมไล่ผีปอบโดยการใช้หวายเพื่อเฆี่ยนไล่ปอบ แต่การเฆี่ยนไล่ปอบก็เท่ากับการเฆี่ยนตีคนป่วยคนนั้นไปด้วย และหากปอบตัวไหนขัดขืน หมอผีก็จะต้องเฆี่ยนตีหนักขึ้น จนกระทั่งเนื้อตัวคนที่ถูกปอบเข้าสิงเขียวช้ำด้วยรอยหวาย แต่เมื่อปอบยอมแพ้ออกจากร่างไป ร้อยหวายที่เคยมีก็จะจางหายไปทันที แต่วิธีไล่การผีปอบแบบนี้เคยเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยผู้นั้นไม่ได้ถูกปอบเข้าสิงจริง แต่กลับป่วยเป็นโรคประสาทต่างหาก เมื่อญาติคิดว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพราะปอบเข้าสิง จึงไปตามหมอผีให้มาไล่ หมอผีจึงจัดการเฆี่ยนตีคนป่วยด้วยหวายจนได้รับความบาดเจ็บหลายครั้งหลายหน จนในที่สุด คนป่วยก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิตจากความบาดเจ็บ เรื่องนี้ร้อนถึงตำรวจต้องมาจัดการกับหมอผีและญาติตามกฎหมาย ส่วนหมอผีก็ต้องคิดคุกติดตะรางไปตามระเบียบ
อีกหนึ่งวิธีที่หมอผีนิยมใช้ขับไล่ปอบ ก็คือการนำเอาสัตว์น่าเกลียดน่ากลัวมาข่มขู่ปอบ ตัวอย่างสัตว์ เช่น คางคก ตุ๊กแก งู เป็นต้น สำหรับกรณีนี้มักใช้กับคนที่ถูกปอบเพศหญิงเข้าสิง เพราะเมื่อผีปอบเหล่านี้โดนข่มขู่ด้วยสัตว์ ก็จะเกิดอาการขยะแขยง และยอมออกจากร่างที่เข้าสิงไปอย่างง่ายดาย
ส่วนผีปอบที่มีฤทธิ์แก่กล้า เวลาที่เข้าสิงใครจะไม่ยอมออกจากร่างง่ายๆ กล่าวกันว่าใครที่ผีปอบประเภทนี้เข้าสิงมักจะถูกปอบสิงจนตาย การไล่ผีปอบจะพบข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ จะปรากฏเป็นก้อนกลมปูดนูนขึ้นที่ใต้ผิวหนัง เวลาที่หมอผีจี้ก้อนกลมๆนี้ด้วยไพลเสก ปอบที่แก่กล้าจะทำให้ก้อนกลมนี้จะเลื่อนหนีไปได้ และจะเป็นการลวงหมอผีว่าวิญญาณของปอบออกจากร่างบุคคลนั้นไปแล้ว ทั้งที่จริงยังคงอยู่ โดยมากปอบมักจะเลื่อนก้อนกลมหนีไปซ่อนตามซอกขาหนีบหรืออวัยวะเพศ ทำให้หมอผีหาไม่พบ
แต่สำหรับหมอผีรุ่นครูจะมีวิธีพิเศษที่จะช่วยขับไล่ปอบที่มีฤทธิ์แก่กล้าให้ออกไปได้ โดยหมอผีรุ่นครูจะจู่โจมมัดข้อมือ ข้อเท้าและรอบคอ ด้วยด้ายสายสิญจน์ เพื่อไม่ให้ปอบหนีออกจากร่าง จากนั้นจึงใช้ไพลเสกจี้ลงไปที่ก้อนกลมๆใต้ผิวหนัง เมื่อก้อนกลมนี้หนีไปที่ใด ก็จะตามจี้ติดไปไม่ยอมปล่อย และเมื่อปอบถูกไพลเสกจี้ หรือที่ทางอีสานเรียกว่า “แทง” ปอบจะร้องโอดครวญดังลั่นด้วยความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส หมอผีจะขู่บังคับให้ปอบบอกว่าเป็นใคร ซึ่งปอบมักจะยอมสารภาพโดยดีหลังจากที่โดนทรมานจนหวาดกลัวและเข็ดหลาบไปแล้ว หลังจากนั้น หมอผีจะแก้มัดปอบด้วยด้ายสายสิญจน์ แล้วปล่อยให้ปอบออกไป
หมอผีบางรายอาจมีวิธีไล่ปอบชนิดดุเดือด เพื่อทำให้คนเป็นปอบอับอายขายหน้าต่อหน้าสาธารณชน โดยหมอผีจะไปหาหม้อดินของแม่ม่ายที่มีเขม่าควันไฟจับหนา มาครอบศีรษะของคนที่ถูกปอบสิง จากนั้นจะใช้มีดโกนขูดเขม่าควันไฟคล้ายๆกับการโกนผมให้หมดไปครึ่งศีรษะ แล้วจึงปล่อยให้ปอบออกจากร่างไป วิธีการไล่ปอบเช่นนี้จะทำให้ผู้เป็นปอบ หรือผู้ที่เลี้ยงปอบเอาไว้เส้นผมแหว่งหายไปครึ่งศีรษะ ทำให้ไม่กล้าหนีออกจากห้องไปไหน และต้องหลบซ่อนอยู่แต่ในห้อง หรืออาจต้องใช้ผ้าปกคลุมปิดศีรษะตลอดเวลา

ผีกระหัง คนกระด้งเหาะ

กระหัง เป็นผีที่มีลักษณะเป็นผู้ชาย โดยตามความเชื่อพื้นบ้านมักกล่าวกันว่า กระหังเป็นผีที่มีอุปนิสัยคล้ายกับกระสือ สามารถบินได้ โดยใช้กระด้งฝัดข้าวเป็นอุปกรณ์ในการโผบิน กระหังจะนั่งบนสากตำข้าวควบคู่กัน ตามความเชื่อพบว่า การจะเป็นกระหังได้นั้น สามารถเป็นได้ไม่ยาก เนื่องจากการเป็นกระหังเกิดจากการผิดครู คือการผิดคำสัญญากับครูอาจารย์ทางเวทมนตร์ ยกตัวอย่างเช่น การผิดคำต้องห้ามในการกินอาหารที่เป็นบวบ การเดินลอดสะพาน เป็นต้น

เสือสมิง 

เสือสมิง
เสือสมิง คือ เสือที่ดุร้าย และชอบกินมนุษย์เป็นอาหาร ทำให้ความน่ากลัวของศาสตร์ลี้ลับนี้กลายเป็นตำนานที่บอกเล่ากันมาหลายยุคหลายสมัย เมื่อเสือสมิงกลืนมนุษย์เข้าไปมากมาย วิญญาณของศพที่ตายไปนั้นก็สิงสู่อยู่ในกายเสือ จนทำให้เสือตัวนั้นเพิ่มความน่ากลัว และสามารถแปลงร่างกลายเป็นใครต่อใครก็ได้ตามที่ใจปรารถนาเพื่อพลางกายตนเอง และเที่ยวล่อลวงเหยื่อคนอื่นให้มาหลงกลตนอีกครั้ง จนในที่สุดก็จะถูกจับกินเป็นอาหาร หากจำนวนศพหรือวิญญาณในกายเสือมากขึ้นเท่าไร เสือตัวนั้นก็จะยิ่งทวีฤทธิ์อำนาจมากขึ้นแบบทวีคูณ
ที่มาของเสือสมิงมีความเป็นมาที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่เสือตัวไหนที่กินมนุษย์เข้าไปแล้วจะสามารถกลายเป็นเสือสมิงได้เพียงแค่นั้น แต่ยังมีอีกวิธีที่จะสามารถกลายร่างเป็นเสือสมิงได้เช่นกัน วิธีดังกล่าว ก็คือ จะต้องร่ำเรียนวิชาเสือที่สามารถเรียกวิญญาณให้เสือร้ายเข้ามาสิงในกายตนได้ นอกจากนี้ยังต้องร่ำเรียนอาคมในทางเดรัจฉานวิชาด้วย  เมื่อสะสมนานวันเข้า ทุกๆอย่างที่ป้อนเข้าไปทั้งวิชาเรียกเสือและอาคม ก็จะเกิดการรวมตัวเข้าด้วยกัน และทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นเสือสมิงในที่สุด ร่างของเสือสมิงจะสมบูรณ์เมื่อเสือตนนี้กินคนเข้าไป
กล่าวถึงเรื่องเล่าที่เป็นที่กล่าวขานกันมาอย่างมากเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งโด่งดังมากถึงขั้นลงข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์รายใหญ่ของประเทศ เรื่องเล่านี้กล่าวกันว่า ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคเหนือ มีชาวบ้านหลายคนได้รับความเดือดร้อนจากการที่เสือตัวใหญ่ลอบเข้าไปเข่นฆ่าทำร้ายร่างกายของคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านพากันหวาดกลัวเสือตัวนี้เป็นอย่างมาก จึงไปขอร้องทหารหน่วย ตชด. มาคอยคุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน หลังจากนั้น หน่วยทหาร ตชด. ก็ได้ส่งกำลังทหารเข้ามาตามล่าเสือและคอยคุ้มครองชาวบ้าน
ตกดึกคืนหนึ่ง ขณะที่ฝ่าย ตชด. กำลังแบ่งกำลังเพื่อเดินตรวจตรา และส่วนที่เหลือก็เข้าพักนอนหลับบนศาลา ขณะนั้นเอง ศาลาที่หน่วย ตชด. อาศัยหลับนอนอยู่ก็เกิดสั่นไหว ทำให้ทหารที่นอนอยู่ รีบตื่นเพื่อลุกขึ้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมาก็เห็นเสือโคร่งตัวใหญ่ 4 ตัว ยืนพิงอยู่ที่โคนเสาของศาลา ทหารทั้งหมดตัดสินใจยิงปืนใส่เสือโคร่งตัวใหญ่นั้นไปหลายนัด จนทำให้เสือโคร่งบาดเจ็บ และวิ่งหนีหายไปในความมืดมิด
เช้าวันรุ่งขึ้น หน่วยทหารพยายามแกะรอยเดินทางตามรอยเลือดของเสือตนนั้นไป จนในที่สุด ก็ติดตามมาจนรอยเลือดสิ้นสุดที่หลุมเนินดินแห่งหนึ่ง ที่บริเวณรอบข้างไม่ปรากฎกายของเสือตัวนั้นเลย ทหารเหล่านั้นจึงตัดสินใจค้นหาคำตอบโดยการขุดหลุมเปิดเนินดินนั้น หลังจากที่เหล่าทหารขุดหลุมไปสักพักจนลึกพอประมาณ ก็ต้องตกใจกับภาพที่เห็นเบื้องหน้า ซึ่งปรากฎเป็นศพของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ท่อนบนเป็นมนุษย์ แต่ท่อนล่างเป็นสภาพของเสือลายพาดกลอน ซึ่งดูคล้ายๆว่า เป็นการกลายร่างกลับจากเสือเป็นคนที่ยังไม่สมบูรณ์นั้นเอง
เมื่อสอบถามถึงที่มาและหลักฐานของศพชายผู้นี้ ก็ได้เรื่องราวว่าชายผู้นี้เป็นคนในหมู่บ้านแถวนั้น ซึ่งเสียชีวิตลงเพราะผิดผี แต่ชาวบ้านก็ยังสงสัยถึงประเด็นการผิดผีที่ผู้ชายคนนั้นเป็น  ว่าผู้ชายคนนี้ผิดผีอะไร และอย่างไร อย่างไรก็ตาม หนังสือไม่ได้กล่าวถึงคำตอบของคำถามนี้ จึงไม่สามารถวิเคราะห์คำตอบที่ถูกต้องได้
ช่วงสมัยนั้น ยังมีอีกหนึ่งวิชาที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ วิชาแปลงร่างเป็นจระเข้ ซึ่งหากใครสนใจในเหตุการณ์เรื่องนี้ก็สามารถค้นหาข้อมูลจากประวัติและเรื่องราวของหลวงปู่สุข วัดมะขามเฒ่า จังหวัดอยุธยา ได้ ก็จะสามารถมองเห็นความใกล้เคียงของเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปได้ นอกจากนี้ ศาสตร์การแปลงกายนี้ยังมีปรากฏในเรื่อง ขอกสินดิน แต่หากเป็นวิชาแปลงกายเป็นเสือสมิงและวิชาจระเข้โดยเฉพาะนี้ ได้จางหายและสาบสูญไปแล้ว เนื่องจาก วิชาเช่นนี้ให้โทษแก่คนที่ร่ำเรียนมากกว่าที่จะให้คุณประโยชน์ ในปัจจุบัน อาจารย์ทั้งหลายหรือผู้ที่เล่าเรียนอาคม มักนิยมปลุกเรียกเสือเพื่อลงในเครื่องรางมากกว่าจะเรียกให้มาสิงที่คน
ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับเสือสมิงบันทึกไว้เช่นกัน เรื่องราวมีอยู่ว่า ครั้งเมื่อพระองค์เสด็จประพาสต้นไปที่จันทบุรี พระองค์ทรงโปรดไปเสด็จเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนตามหัวเมืองต่างๆ ในหลายๆจังหวัด ทั้งนี้ห็เพื่อค้องการทราบสารทุกข์สุขดิบของประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการกระทำที่ดีกว่าการอ่านรายงานจากข้าราชการเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การที่พระองค์ได้เดินทางไปในที่ต่างๆ ยิ่งทำให้พระองค์มีพระพลานามัยที่แข็งแรงมากกว่าแต่ก่อนด้วย
ในช่วยปี พ.ศ. ๒๔๑๙ พระองค์ทรงเสด็จทางเรือด้วยพระที่นั่งอรรคราชวรเดชพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ไปตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกทางจังหวัดจันทบุรี ซึ่งขณะนั้นจังหวัดนี้ยังมีแต่ป่ามากกว่าจะเจริญเป็นเมืองหรือสวนผลไม้เหมือนปัจจุบัน ในป่าเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์หลายชนิด ทั้งช้างป่า ม้าป่า และเสือป่า ซึ่งถือว่ามีความชุกชุมเป็นอย่างมากกว่าจังหวัดอื่นๆ หากทางกรุงเทพหรือที่ไหนต้องการเสือ ก็มักจะมาหาเอาจากที่นี่ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ครองเมืองจันทบุรีจึงต้องเพิ่มหน้าที่จากการดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิด มาเป็นรพินทร์ ไพรวัลย์ ที่ต้องคอยกำจัดเสือที่เข้ามาทำร้ายราษฏรด้วย
จันทบุรีในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นช่วงที่เสือแสดงความอุกอาจเป็นอย่างมาก พวกมันจะบุกเข้าไปล่าอาหารตามบ้านคนแล้วคาบคนไปกินอย่างร้ายกาจ เสือที่เข้ามาจับคนในบ้านจะเป็นเสือแก่ที่ขาดความรวดเร็วว่องไวพอจะวิ่งไล่จับสัตว์อื่นทัน จึงจำเป็นต้องเข้ามาจับคนกินแทน พฤติกรรมการล่ามนุษย์นี้ ทำเอาชาวบ้านตกใจ เสียขวัญ และระส่ำระสายกันไปทั่ว จนไม่เป็นอันกินอันนอน
พระยาจันทบุรีเห็นว่าเสือร้ายชักจะเข้ามาวุ่นวายก่อกวนกับคนมากไปแล้ว ท่านจึงตัดสินใจเผด็จศึกขั้นเด็ดขาดโดยการจัดหาพรานป่าฝีมือดีหลายคน มาช่วยกันออกไปล่าเสือด้วยปืนและจั่นดัก พรานป่าต่างล่าเสือกันอย่างเอาจริงเอาจัง เด็ดขาด และทำให้เสือล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เสือที่เหลือก็เกิดความกลัวจนหนีเตลิดเข้าป่าลึกกันไปหมด เมื่อเสือหมดไป ชาวบ้านก็หายจากอาการอกสั่นขวัญหาย และสามารถกลับมาทำอาชีพอย่างสงบสุขได้ดังเดิมอีกครั้ง
แต่ปัญหาเรื่องเสือก่อกวนเพิ่งสงบลงไปยังไม่ทันไร ก็มีข่าวลือเรื่องเสือสมิงมาทำให้ชาวบ้านเกิดอาการอกสั่นขวัญเสียกันอีกครั้งใหม่ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้น เป็นเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสไปที่บริเวณนั้นพอดี พระองค์ได้ทรงบันทึกเรื่องราวตามพระราชนิพนธ์ ไว้ว่า
“…ราษฎรชาวเมืองเชื่อถือกลัวเสือสมิงกันมาก เล่ากันว่าที่เมืองเขมรมีอาจารย์ทำน้ำมันเสือสมิงได้ ศิษย์ได้ลักน้ำมันนั้นทาตัวเข้า กลายเป็นเสือสมิงไปถึง ๓ คน พลัดเข้ามาในแขวงเมืองจันทบุรี ตัวหนึ่งเป็นเสือดุร้าย เที่ยวขบกัดคนตายที่พลิ้ว ๒ คน ที่ปากจั่น ๑ คน ที่ป่าสีเซ็น ๒ คน รวม ๕ คน อาจารย์เที่ยวตาม ได้บอกชาวบ้านว่าศิษย์สามคนลักน้ำมันเสือสมิงทาตัวเข้า กลายเป็นเสือไปทั้งสามคน บิดามารดาของศิษย์นั้นเขาจะเอาลูกของเขา จึงมาเที่ยวตามหา แล้วสั่งไว้ว่าใครพบปะเสือนี้แล้วให้เอาไม้คานตี ฤๅมิฉะนั้นให้เอากะลาครอบรอยเท้าเสือนั้น ก็จะกลับเป็นคนได้ แต่วิธีจะแก้นี้ทำได้ก็แต่เมื่อเสือนั้นยังไม่ทันกินคน รังควานทับเสียแล้ว ถึงจะทำวิธีที่บอกก็ไม่อาจกลับเป็นคนได้”
หลังจากอ่านไปแล้วก็ไม่อาจจะวางใจได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เหตุเพราะอาจารย์ที่ว่านี้ เหตุใดจึงคิดจะทาน้ำมันที่ตัวคนเพื่อกลายให้เป็นเสือขึ้นมา เขาทำไปเพื่อประโยชน์อะไร เรื่องราวยังคงเป็นที่สงสัยว่าเหตุใดเสือลูกศิษย์จึงต้องวิ่งข้ามชายแดนมาไกลเท่านี้ ทำไมจึงไม่อยู่ที่เขมรเหมือนเดิม อีกอย่างที่ยังเป็นข้อสงสัยกันก็คือ เหตุใดเมื่อเสือกินคนไปแล้ว จึงไม่สามารถกลับคืนร่างเดิมได้ คำถามทั้งหมดยังคงไม่มีคำตอบ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงปักใจเชื่อในข่าวลือที่มีคนกล่าวถึงนี้เท่าไร อีกทั้งยังทรงบันทึกข้อความต่อไปอีกว่า
“…เหมือนเมื่อครั้งก่อนเรามาสัตหีบครั้งหนึ่ง น้ำจืดในเรือหมด ต้องเกณฑ์ให้ทหารขึ้นไปตักน้ำที่หนองบนบกไกลฝั่งประมาณ ๓ เส้น พวกชาวบ้านบอกว่าที่นี่มีเสือสมิงมาเที่ยวอยู่ พระสงฆ์ผู้เป็นอาจารย์มาติดตามเวลากลางคืน แล้วก็ไปนั่งอยู่ที่ใต้ต้นตาลริมหนองน้ำนั้น คอยจะแก้ศิษย์ซึ่งกลับเป็นคน ในเวลานั้นก็ยังอยู่ พวกทหารพากันกลัว กลับมาเล่าจนเรารู้ เราอยากจะให้ไปตามตัวลงมาให้เห็นหน้าอาจารย์สักหน่อยหนึ่ง ก็เป็นเวลาดึกเสียแล้ว ครั้นเวลาเช้าก็ไปเสียจากสัตหีบ ท่านขรัวอาจารย์นั้นป่านนี้เสือมันจะเอาไปกินเสียแล้วฤๅอย่างไรก็ไม่รู้ “

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น