
อิมโฮเตป ทำหน้าที่ เป็นอัครเสนาบดีของฟาโรห์โจเสร์ (Djoser) ฟาโรห์องค์ที่ 1 หรือที่ 2 ของราชวงศ์ที่ 3 ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเมมฟิส อิมโฮเตปเป็นบุคคลคนแรกที่บันทึกประวัติศาสตร์ของชาวไอยคุปต์ไว้ และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะมีความสามารถรอบด้าน ทั้งการเป็นนักเขียน หมอ หรือเป็นนักบวช อิมโฮเตปเป็นนักบวชที่เรียนรู้หลักคำสอนจากเฮลีออโปลีเทน และเป็นผู้ค้นพบหลักวิชาดาราศาสตร์และสถาปัตยกรรม
ด้วยความฉลาดปราดเปรื่องของอิมโฮเตปที่มีเหนือบุคคลอื่นๆ จึงทำให้ประชาชนทั้งหลายเชื่อถือว่าเขาจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับเทพองค์สำคัญ อย่างเช่น เทพปตาฮ์และเทพธอธ อย่างแน่นอน
ชาวไอยคุปต์ทุกสมัยล้วนรู้จักผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมของอิมโฮเตปที่มีชื่อว่า ‘พีระมิดขั้นบันได หรือ มาสตาบาแห่งโจเสร์’ ที่สักการา ใกล้ๆกับเมืองเมมฟิส พีระมิดชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่สร้างจากก้อนหินปูนที่ขนย้ายมาจากเมืองตูรา (Tura) บนริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนิล อีกทั้ง ยังเป็นพีระมิดแห่งแรกที่ก่อสร้างด้วยหินล้วนๆเพียงอย่างเดียว ลักษณะของพีระมิดนี้จะมีลักษณะเป็นขั้นบันไดขนาดใหญ่ ซึ่งมีไว้เพื่อให้กษัตริย์ขึ้นไปบนท้องฟ้า บริเวณโดยรอบแวดล้อมด้วยวิหาร ที่มีไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นสถานที่ที่ใช้เฉลิมฉลองของกษัตริย์มากมาย
อิมโฮเตปมีสัญลักษณ์เป็นนักบวชโกนศีรษะ ด้วยท่านั่งหรือท่าคุกเข่าบนม้วนกระดาษปาปิรุส ซึ่งแสดงถึงแหล่งของความรู้ ส่วนการแต่งกายนั้น บางครั้งก็จะสวมกระโปรงยาวอย่างนักบวช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธ์ทางศาสนา
เทวีเสลเคต(Selket) หรือเสร์คูเอต (Serquet) เทวีแห่งแมงป่อง

เทวีเสลเคต(Selket) หรือเสร์คูเอต (Serquet) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘เทวีแมงป่อง’ เป็นผู้มีชื่อเสียงขึ้นมาเนื่องจากราชาแมงป่อง ซึ่งเป็นกษัตริยก่อนราชวงศ์ เทวีเสลเคตเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพระนางคือหนึ่งในเทวีผู้มีหน้าที่พิทักษ์ต้นน้ำทั้งสี่แห่งแม่น้ำนิล หน้าที่สำคัญของเทวีเสลเคต คือ การเฝ้างูอาโปฟิส ซึ่งเป็นศัตรูของเทพราที่ถูกจองจำอย่างแน่นหนาไว้ใต้พิภพ
เทวีเสลเคต เป็นชายาของเทพเนเฆบคาอู (Nekhebkau) เทพแห่งงูใหญ่ ผู้มีแขนเป็นมนุษย์ ในบางครั้งก็กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในเหล่าปีศาจซึ่งอาศัยอยู่ใต้โลก เทวีเสลเคตสวรรคตเนื่องจากถูกมัดด้วยโซ่ แต่พระสวามีของเธอก็มาคอยให้อาหารแก่วิญญาณของผู้ตายเรื่อยไป
เทวีไอสิส (Isis) เทพแห่งอียิปต์


เทวีไอสิส (Isis) เทพแห่งอียิปต์ ถือเป็นหนึ่งในเทพของตำนานเทพเจ้าแห่งไอยคุปต์ บางตำรากล่าวไว้ว่า เทวีไอซิส(Isis) เป็นธิดาของเทพและเทพีนุต แต่บางตำรากลับบอกว่า เทพีไอซิสเป็นธิดาของเทพรากับเทพีนุต(หรือ เทพีนัต) ตามที่จะขอกล่าวถึงดังต่อไปนี้
ต้นกำเนิดของเทวีไอซิสเริ่มขึ้นหลังจากที่เทพราได้อภิเษกกับเทพีนุตแล้ว เทพรามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้โอรสธิดา แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้า เทพีนุตก็ไม่ทรงครรภ์เสียที ทำให้เทพราทรงพิโรธ และลงมือสาปให้เทพีนุตไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกเลย เทพีนุตทรงเสียใจเป็นอย่างมาก จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเทพธอทผู้ทรงความรอบรู้ ซึ่งเดิมทีแล้วเทพธอทได้ตกหลุมรักเทพีนุตมาโดยตลอด
เทพธอทให้คำแนะนำพร้อมยื่นข้อเสนอแก่เทพีนุตว่า หากพระองค์สามารถมีโอรสธิดาให้เทพราได้ พระนางจะต้องมอบความรักให้แก่เทพธอท เทพีนุตตอบตกลงในคำนั้น เทพธอทจึงได้ไปท้าพนันกับเทพคอนชูผู้เป็นเทพพระจันทร์ซึ่งรักการพนันเป็นชีวิตจิตใจ เทพธอททำทีแสร้งเดินหมากกันกับเทพคอนชูจนหลงลืมวันคืน ซึ่งเทพคอนชูไม่ทันรู้เล่ห์กล จึงเปล่งแสงอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งแสงมีมากพอเท่ากับแสงจากพระอาทิตย์จำนวน 5 วัน เทพธอทจึงยกเลิกการเล่นหมากกับเทพคอนชู
หลังจากนั้นเป็นต้นมา แสงจากเทพคอนชูจึงมีไม่มากเพียงพอ ทำให้เทพคอนชูจำเป็นต้องลดแสงลงบ้างในเวลาตอนกลางคืน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของข้างขึ้นข้างแรมในปัจจุบันนั่นเอง ตั้งแต่นั้นมา เทพธอทก็นำแสงที่นอกเหนือจากแสงอาทิตย์ของเทพรา มาสร้างเป็นวันจำนวน 5 วัน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เทพีนุตตั้งครรถ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เทพีนุตให้กำเนิดเหล่าเทพเทพีจำนวน 5 องค์ อันได้แก่
1. วันที่หนึ่ง เทพีนุตให้กำเนิด เทพโอซีริส ผู้เป็นเทพกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้การถือกำเนิดครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วทั้งสรวงสวรรค์
2. วันที่สอง เทพีนุตให้กำเนิด เทพฮามาร์คิส หรือ สฟิงซ์ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งรุ่งอรุณและเป็นเทพนักรบ
3. วันที่สาม เทพีนุตให้กำเนิด เทพเซต ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งความชั่วร้าย เนื่องจาก เทพเซตถือกำเนิดในช่วงเวลาที่เป็นฤกษ์ร้าย และฉีกครรภ์ของพระมารดาออกมา
4. วันที่สี่ เทพีนุตให้กำเนิด เทพีไอซิส ผู้เป็นเทพีแห่งความรักและไสยศาสตร์
5. วันที่ห้า เทพีนุตให้กำเนิด เทพีเนฟธิส ผู้เป็นเทพีผู้คุ้มครองวิญญาณคนตาย
ในเวลาต่อมาเทพีไอซิส และเทพโอซิริส นั้นหลงรักกันมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในครรภ์ของเทพีนุตผู้เป็นมารดา ทั้งสองจึงเติบโตมาด้วยกันและเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กัน สำหรับเทพโอซิริสนั้นทรงเป็นผู้มีวิสัยการเป็นผู้นำและมีความเก่งกล้าสามารถเหนือใคร ส่วนเทพีไอซิสนั้นเป็นผู้เก่งกาจด้านมนตราทุกประการ อีกทั้งยังมีสติปัญญาอันแสนชาญฉลาดยิ่งนัก
จนกระทั่งในครั้งหนึ่ง เทพีไอซิสคิดอยากจะให้เทพโอซิริสได้ขึ้นครองบัลลังก์ไอยคุปต์ นางจึงใช้สติปัญญาของตนล่อลวงเทพรา จนทำให้เทพราหลงบอกพระนามจริงแก่เทพีไอซิส ซึ่งหากผู้ใดล่วงรู้ จะทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงต้องยอมสละบัลลังก์และมอบฤทธิ์ให้แก่เทพโอซิริส
เมื่อเทพโอซิริสได้ขึ้นตำแหน่งเป็นเทพราชาแล้ว พระองค์จึงจัดอภิเษกสมรสให้ตนเองและเทพีไอซิส และแต่งตั้งให้เทพีไอซิสเป็นพระราชินีเคียงคู่พระองค์ ซึ่งในสมัยของเทพโอซิริสและเทพีไอซิส เป็นช่วงเวลาที่อียิปต์รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทั้งสองพระองคืรงสั่งสอนประชาชนให้เรียนรู้อารยธรรม และการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆมากมาย ทำให้เหล่าราษฏรทั้งหลายต่างเคารพนับถือในเทพเทพีทั้งสองเป็นอย่างมาก
เรื่องราวความรักและความรุ่งเรืองของเทพทั้งสอง อยู่ในสายตาของเทพเซตผู้มีความอิจฉาริษยาเทพผู้พี่นี้มาตลอด เทพเซตคิดว่าตนจะต้องขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาให้ได้ จึงทำการสังหารเทพโอซิริส แล้วใส่โลงลอยตามแม่น้ำไนล์ไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เทพีไอซิสกับเทพโอซิริสต้องแยกจากกัน พระนางจึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก
เมื่อเทพโอซิริสสิ้นพระชนม์ลง เทพเซตก็ยึดบัลลังก์และตั้งตัวเป็นใหญ่แทนที่ แต่เส้นทางของเทพเซตผู้ชั่วร้ายก็ไม่ได้ราบรื่นสมใจ เพราะเทพีไอซิสทรงตั้งครรภ์
ด้วยความรักอันแสนยิ่งใหญ่ ทำให้เทพีไอซิสตัดสินใจตามหาร่องรอยของพระสวามีไปทั่วไอยคุปต์ด้วยความยากลำบาก และทรงคลอดโอรสที่ให้ชื่อว่า เทพโฮรัส หรือ เทพฮอรัส ออกมากลางทาง ทำให้เทพีไอซิสจำใจต้องมอบโอรสให้เทพีบูโตช่วยดูแลด้วยใจห่วงหา เพราะพระนางจำเป็นต้องออกตามหาเพื่อนำพระศพของพระสวามีมาประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อให้เทพโอซิริสสามารถเดินทางไปยังดินแดนแห่งความตายได้
ในที่สุด เทพีไอซิสก็พบพระศพของสวามี หลังจากที่ตามหามานานแสนนาน แต่เทพเซตผู้ชั่วร้ายก็สามารถตามหาพระศพเจอเช่นกัน เทพเซตจึงทำการฉีกศพเทพโอซิริสจนขาดวิ่นและโยนศพนั้นทิ้งไปทั่วไอยคุปต์ ทำให้เทพีไอซิสต้องออกตามหาพระศพของสวามีอีกครั้งอย่างยากเย็นยิ่งกว่าเก่า โชคร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อเทพเซตได้ส่งงูร้ายตามไปสังหารเทพโฮรัสที่ยังเป็นเพียงแค่ทารกจนตาย เพื่อที่จะได้ขจัดเสี้ยนหนามที่ขวางทางการขึ้นเป็นราชาให้หมดไป
อย่างไรก็ตาม เหล่าทวยเทพได้มาบอกข่าวดีกับเทพีไอซิสว่า เทพโฮรัสจะทรงฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง และครั้งนี้จะเก่งกล้าสามารถเป็นที่สุด จนถึงขั้นสามารถสังหารเทพเซตลงได้ ขอให้พระนางไม่ต้องเป็นกังวล และติดตามหาพระศพของสวามีต่อไปเถิด
เทพีไอซิสต้องการแก้เผ็ดเทพเซตจึงแปลงกายเป็นเทพีเนฟธิส เพื่อขอคำสาบานจากเทพเซตว่าจะไม่ทำร้ายโอรสของพระนางอีก จนกว่าโอรสของพระนางทำร้ายท่าน ซึ่งจะทำให้เทพโฮรัสสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ครั้งอย่างสำเร็จและปลอดภัยจนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เทพเซตคิดว่าเทพีเนฟธิสเป็นผู้พูด เทพเซตจึงตกปากรับคำสาบานนั้นไป ทันใดนั้นเอง เทพีไอซิสแปลงกายกลับสู่ร่างเดิม ทำให้เทพเซตโกรธแค้นเป็นอย่างมาก
หลังจากที่ติดตามหาชิ้นส่วนของเทพโอซิริสมาตลอดหลายปีด้วยความทุกข์ทรมานใจ เทพีไอซิสก็สามารถตามหาชิ้นส่วนได้จนครบ และนำชิ้นส่วนกลับมาประกอบพิธีศพได้อีกครั้ง โดยมีเทพอานูบิส เทพแห่งความตาย (โอรสที่เกิดจากเทพีเนฟธิสผู้หลงรักเทพโอซิริส โดยพระนางได้แปลงกายเป็นเทพีไอซิส และมอมสุราเทพโอซิริสจนเกิดเป็นเทพอานูบิสขึ้นมา แต่บางตำราก็ว่า เทพอานูบิสเป็นโอรสของเทพีเนฟธิสกับเทพเซตนั่นเอง) เป็นผู้ทำพิธีศพให้ โดยพิธีศพมีการพันผ้ารอบศและลงน้ำยา จนก่อให้เกิดเป็นมัมมี่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากประกอบพิธีศพแล้ว เทพโอซิริสก็สามารถไปถึงดินแดนแห่งความตายได้ พระองค์ได้ขึ้นเป็นใหญ่ถึงขนาดเป็นราชาแห่งโลกของคนตาย
เมื่อเทพโฮรัส (พระองค์มีสัญลักษณ์ คือ นกฟีนิกซ์วิหคอมตะ) ได้ฟื้นขึ้นจากตาย เวลาแห่งการล้างแค้นก็มาถึงเสียที เทพทั้งหลายทั้งเทพบิดา เทพมารดา และเหล่าทวยเทพอีกมากมาย ได้พากันสั่งสอนสิ่งต่างๆให้แก่เทพโฮรัส จนพระองค์นั้นเก่งกาจมากขึ้นเรื่อยๆทั้งบู๊และบุ๋น และในที่สุด เทพโฮรัสก็สามารถปราบเทพเซตลงได้ตามคำทำนาย จากนั้นจึงขึ้นเป็นเทพกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งไอยคุปต์ เพื่อครอบครองบัลลังก์อย่างชอบธรรม
ผู้คนในอียิปต์เชื่อกันว่า หากบูชาเทพองค์ใดองค์หนึ่งในเทพที่กล่าวมานี้ ก็จะต้องบูชาเทพทั้งสององค์ร่วมด้วย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์สืบต่อกันมาว่า ฟาโรห์ที่สิ้นพระชนม์ไปแทนเทพโอซิริส ก็คือ องค์รานีคือเทพีไอซิส และฟาโรห์องค์ถัดมา ก็คือ เทพโฮรัส
ลักษณะของเทวีไอซิสมีสัญลักษณ์แทนพระองค์ได้หลายแบบ โดยพระนางอาจเป็นมนุษย์ที่มีศีรษะเป็นวัว หรืออาจมีดวงจันทร์สวมอยู่บนศีรษะ บางครั้งก็จะสวมมงกุฎรูปดอกบัว นอกจากนี้จะมีหูเป็นข้าวโพด หรือถือขาแพะเอาไว้ในมือ ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป็นลักษณะของรูปปั้น ก็มักจะสังเกตเป็นรูปของพระมารดากำลังให้นมเทพเจ้าฮฮรัสอยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการคุ้มครองเด็กจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนบนศีรษะก็จะมีเขาสองเขา และมีวงสุริยะอยู่ตรงกลาง
เทพฮอรัส (Horus) เทพแห่งอียิปต์

เทพฮอรัส(Horus) เป็นพระโอรสของเทพโอซีริส และเทวีไอซิส และเป็นพระสวามีของเทวีฮาธอร์ พระองค์ทรงเป็นเทพที่เกิดมาจากการรวมกันเทพสองสิ่ง ได้แก่ เทพนกเหยี่ยว และ เทพแห่งแสงสว่าง
เทพฮอรัสทรงมีพระเนตรข้างขวาเป็น ดวงอาทิตย์ และมีพระเนตรข้างซ้ายเป็น ดวงจันทร์ อีกทั้งยังมีศีรษะที่เป็นนกเหยี่ยวเป็นสัญลักษณ์ พระองค์จะทรงสวมมงกุฎสองชั้นหรือแกะสลักเป็นรูปวงสุริยะที่มีปีกอยู่ที่รั้ววิหารประจำพระองค์ ซึ่งก็คือ นกเหยี่ยวที่กำลังโบยบินอยู่เหนือการต่อสู้ของฟาโรห์นั่นเอง ที่อุ้งเล็บจะมีแส้แห่งความซื่อสัตย์จงรักภักดี และแหวนแห่งความเป็นอมตะนิจนิรันดร์อยู่ด้วย
เทพฮอรัสทรงมีพระนามมากมาย ตามแต่ละท้องที่จะเรียกสักการะและตามความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น เทพฮาโรเอริส(Haroeris) ฮอรัส เบฮ์เดตี(Horus Behdety) ฮาราเคต ฮาร์มาฆิส(Harmakhis) และ ฮาร์สีเอสิส(Harsiesis) เป็นต้น
เทพโอซีริส (Osiris) เทพแห่งสันติ ของชาวอียิปต์

เทพโอซีริส เป็นเทพรุ่นแรกสุดของชาวอียิปต์ เทพองค์นี้ได้ชื่อว่ารังเกียจความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งความรังเกียจเช่นนี้ก็กลายมาเป็นเรื่องที่แสนลำบากใจในภายหลัง
ในเวลาต่อมา เมื่อท้าวเธอได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นเทพผู้ปกครองอียิปต์ พระองค์ทรงพบว่า มีชาวเมืองมากมายที่เป็นพวกป่าเถื่อนแบบบริสุทธิ์ และไร้ซึ่งความดี อีกทั้งยังไม่สามารถมีความคิดเป็นของตนเองได้ เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นขาดความรู้ และไร้ศีลธรรม กระนั้นแล้ว โอซิริสจึงพยายามโน้มน้าวจิตใจของบรรดาประชาชนทั้งหลายจนในที่สุด คนเหล่านั้นก็หันมาเชื่อฟังในกฎระเบียบของพระองค์ได้
เชื่อหรือไม่ว่า วิธีที่พระองค์สอนนั้นยึดหลักสันติวิธีเพียงอย่างเดียว โดยพระองค์ทำให้ชาวเมืองรู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และก่อร่างเป็นสังคมขึ้น การบริหารสังคมก็ทำด้วยวินัยและศีลธรรม อีกทั้งโอซิริสยังสอนให้ชาวเมืองรู้จักการเพาะปลูกทั่วไปเพื่อยังชีพ สอนให้ทำขนมปังเป็นอาหาร และยังสอนให้หมักไวน์และเบียร์เพื่อเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ในงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อความสนุกสนานอีกด้วย นอกจากนี้ โอซิริยังสอนชาวบ้านด้านการสร้างแบบแปลงเมือง สร้างวัดวาอาราม สร้างเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้บูชา และสร้างเสียงดนตรีไว้ขับกล่อมเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน
การปกครองของโอซิริสและมเหสีที่มีชื่อว่า ไอซิส (Isis) ในประเทศอียิปต์ กลายเป็นความยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักกันไปทั้งโลก และในขณะนั้น โอซิริสก็มีความตั้งใจว่า พระองค์จะเผยแพร่อารยธรรมของพระองค์ให้ก้าวไกลไปทั่วโลก
แต่เนื่องจากพระองค์เป็นคนที่เกลียดความรุนแรงเป็นทุนเดิม การเผยแพร่อารยธรรมของพระองค์ในครั้งนี้ จึงไม่ได้มีการใช้กำลังทางทหารเลย พระองค์ทรงใช้แต่เพียงเวทมนตร์ของดนตรีและบทเพลงของพระองค์ในการเผยแพร่อารยธรรมเท่านั้น ในท้ายที่สุด โอซิริสก็สามารถเผยแพร่ความเจริญของอารยธรรมตนให้กับส่วนต่างๆ ของโลกจนครบ
ส่วนในประเทศอียิปต์ตอนที่โอซิริสไม่อยู่นั้น ราชินีไอซิสก็ได้รับงานสานต่อจากพระสวามี โดยนางได้มีการสอนผู้หญิงอียิปต์ให้รู้จักการปั่นด้ายและทอผ้า ส่วนผู้ชายก็สอนให้รู้จักการรักษาคนป่วย ไอซิสได้คิดค้นพิธีการแต่งงาน ซึ่งทำให้ผู้หญิงและผู้ชายสามารถแบ่งปันความสุขและแรงงานระหว่างกันและกันได้
ภายใต้การปกครองของโอซิริสและไอซิสนั้นดูเหมือนจะมีแต่ความรุ่งเรืองและเต็มไปด้วยสันติสุข แต่จริงๆแล้วนั้นยังมีเซท (Set) ผู้เป็นน้องชายทรยศของโอซิริสอยู่อีก ซึ่งเขาผู้นี้เป็นผู้ที่ทำให้ยุคทองที่มีค่านี้ต้องล่มสลายลงไป
เซทได้รวบรวมบุคคลที่มีจิตใจริษยาพยาบาทให้เข้าพวกกันเป็นจำนวนมาก และต่างพากันคิดหาอุบายขึ้นมาเพื่อฆ่าโอซิริส จนสุดท้ายก็สำเร็จ พวกเขาได้จัดการเอาพระศพของโอซิริสยัดใส่โลง แล้วเอาไปถ่วงลงในแม่น้ำไนล์ แต่ทว่าโลงพระศพกลับลอยออกไปทางปากแม่น้ำและออกสู่ทะเลจนไปเกยขึ้นที่ฝั่งฟีเนียเซียแทน
ฝ่ายราชินีไอซิสผู้โศกเศร้าก็พยายามหาวิธีเพื่อติดตามหาพระศพของพระสวามี จนในที่สุดก็สามารถพบและได้ช่วยชุบชีวิตของพระองค์จนฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้
เพราะความผิดพลาดที่พระองค์ไม่ปรารถนาที่จะใช้กำลังรุนแรง จึงทำให้พระองค์ผิดพลาดครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากพระองค์ตัดสินใจไม่ลงโทษเซท แตกลับยังทรงปล่อยเอาไว้ให้เป็นเสี้ยนหนามต่อไป ในไม่ช้า เซทก็พยายามวางแผนฆ่าพระองค์อีกครั้ง แต่คราวนี้ได้สับพระศพของพระองค์ออกเป็นส่วนๆ ถึงสิบสี่ชิ้น และคาดว่าคราวนี้คงจะไม่สามารถชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างแน่นอน จากนั้นเซทก็นำเอาชิ้นส่วนเหล่านี้ไปโปรยจนทั่วอียิปต์
เมื่อไอซิสรู้เข้า ก็เกิดความเศร้าเสียใจยิ่งนัก นางจึงพยายามที่จะติดตามหาชิ้นส่วนของพระสวามีตามสถานที่ต่างๆเพื่อนำกลับมาประกอบเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง อีกทั้งยังคิดค้นเทคนิคการดองศพเพื่อที่จะชุบชีวิตของโอซิริสขึ้นมาให้ได้เป็นครั้งที่สอง
แต่เนื่องจากคราวนี้ โอซิริสกลับได้รับการเลือกให้เป็นผู้ปกครองดินแดนแห่งความตายนิรันดร์ ทำให้แม้ว่าไอซิสจะสามารถตามหาชิ้นส่วนของพระองค์จนครบ พระองค์ก็ไม่อาจคืนชีพมาปกครองอียิปต์ในรูปของมนุษย์ได้อีกต่อไปอียิปต์ในความดูแลของพระองค์จึงเหลือแต่เพียงเรื่องของการอำนวยผลแห่งความอุดมของดินและสายน้ำ ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดชีวิตของแม่น้ำไนล์เท่านั้น
ส่วนเซทผู้ริษยา ที่ฆ่าพี่ชายของตนจนโอซิริสกลายเป็นผู้ปกครองดินแดนแห่งความตายนิรันดร์ไปแล้ว ก็ยังไม่ลดละความริษยาลงเลยแม้แต่น้อย แต่ยังคงจ้องจะตามล้างตามผลาญ ด้วยการนำเอาความแห้งแล้ง และพายุทรายมารบกวนอียิปต์อยู่ตลอดเวลา
ส่วนไอซิสก็กลายเป็นราชินีหม้าย ที่เต็มไปด้วยความเศร้ากับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของพระสวามี นางจึงมีชะตากรรมสุดท้ายที่ไร้ความสุข และเมื่อโอรสของพระองค์กับโอซิริส ที่ชื่อว่า โฮรัส (Horus) ประสูติออกมา โฮรัสก็คิดที่จะแก้แค้นเซทให้แก่บิดาของตน แต่พระนางก็ทรงห้ามไว้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นตามนโยบายของพระสวามี แต่คราวนี้โฮรัสเกิดบันดาลโทสะจนฟาดดาบตัดศีรษะของพระมารดา จนนางสิ้นใจลงทันที
พระนางไอซิสที่สิ้นชีพไปแล้ว ก็กลายไปเป็นเทวีที่ช่วยให้คนตายได้ไปพบกับโอซิริส ดังนั้น คนดีคนไหนที่กำลังจะตาย ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร เพราะเทวีคู่นี้จะเป็นผู้นำทางคุณให้ไปสู่นิรันดร์กาล
เทพรา (Ra) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ของชาวอียิปต์

Ra,Amen(ดวงอาทิตย์-สุริยเทพ) หรือ “เทพเจ้ารา” เป็นเทพสูงสุด หรือ สุริยเทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งเฮลิโอโปลิส นครสิริยะ ความหมายของคำว่า”รา” ก็คือ ผู้สรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ และเป็นคำแรกที่นำถูก ใช้คู่กับคำว่า “ซัน” ซึ่งแปลว่า ดวงอาทิตย์ ภายหลังจึงได้กลายมาเป็นพระนามของเทพเจ้า
เทพเจ้าราถูกเปรียบเปรยไปในหลายทิศทาง ทำให้มีสัญลักษณ์และพระนามเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น บางคนกล่าวว่า รา-ฮารัคเต เป็นเทพเจ้าที่มีศีรษะเป็นหัวเหยี่ยว และสวมมงกุฎที่เป็นแผ่นวงกลมรูปดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังปกคลุมด้วยงูเห่าบนศีรษะที่กำลังแผ่แม่เบี้ย ส่วน ฮารัคเต มีความหมายว่า เทพฮอรัสแห่งขอบฟ้ากว้างไกล หรือหมายถึง ต้นกำเนิดของพระอาทิตย์นั่นเอง นอกจากนี้ เทพเจ้า รา-ฮารัคเต ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นสุริยเทพแห่งเฮลิโอโปลิส ซึ่งชาวไอยคุปต์ยกย่องนับถือตลอดมา
เทพเจ้ารา ได้รับยกย่องว่าเป็นพระบิดาและราชาแห่งเทพยดาทั้งหลาย อีกทั้งยังเชื่อกันว่า พระเสโทและน้ำพระเนตรของพระองค์ เป็นจุดก่อกำเนิดให้เกิดมาเป็นมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ความเชื่อตามตำนานเล่าขานเอาไว้ว่า เทพเจ้าราทรงเป็นผู้ปกครองโลกที่พระองค์ทรงเนรมิตขึ้นมาเอง ภายหลัง พระองค์ได้ทรงแปลงกายเป็นมนุษย์ เพื่อไปทำหน้าที่เป็นฟาโรห์พระองค์แรก และดูแลปกครองอาณาจักรไอยคุปต์จนเติบโตและเจริญรุ่งเรืองสืบมา
เวลาผ่านไป เมื่อพระองค์ทรงชราภาพและไม่แข็งแกร่งดังเดิม ทำให้มีประชาชนบางกลุ่มคิดคดทรยศต่อพระองค์ ทำให้พระองค์ตัดสินใจใช้ตาไฟเพื่อลงโทษ และทำลายชีวิตกลุ่มประชาชนดังกล่าวให้มอดไหม้ อย่างไรก็ตาม ได้มีบุคคลอื่นๆทูลเสนอความคิดเห็นว่า แม้การกระทำของพระองค์จะสามารถปราบคนชั่วได้ แต่ก็อาจจะมีผลทำให้บุคคลผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนตามไปด้วยได้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงเนรมิต เทวีฮาเอทร์ ซึ่งมีเป็นร่างสิงโตเพศเมียตัวใหญ่ และมีนิสัยดุร้าย ให้ออกไปตามล่ากลุ่มมนุษย์ผู้กระทำผิดเหล่านั้น
สิงโตตัวนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ และได้ฉีกเนื้อมนุษย์ผู้กระทำผิด พร้อมทั้งดื่มเลือดเป็นอาหาร จนในที่สุดการกระทำของสิงโตก็ลุกลามไปเป็นการล่าเหยื่อมนุษย์บริสุทธิ์อย่างเมามัน เมื่อเทพเจ้าราทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างมากกับการกระทำที่พระองค์ทำผิดไป พระองค์พร้อมด้วยเหล่าเทพยดาจึงทรงเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์และได้กลายเป็นดวงดาวต่าง ๆประดับท้องฟ้า ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดกำเนิดให้สวรรค์กับโลกแยกจากกัน
ยังมีตำนานเล่าต่ออีกว่า ดวงอาทิตย์หรือเทพเจ้าราจะเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ซึ่งพาดผ่านขอบฟ้าในทุกๆวัน โดยมีพาหนะเป็นเรือแมนเจ็ต เทพเจ้าราจะเดินทางพร้อมด้วยเหล่าเทพเจ้าอื่นๆ ที่จะคอยทำหน้าที่ปกป้องและทำลายศัตรูที่เข้ามาขัดขวางการข้ามขอบฟ้าในทุกวัน โดยมีพญางูยักษ์เอเป็ป ซึ่งอาศัยอยู่ในวังน้ำลึกของแม่น้ำไนล์ เป็นหัวหน้ากลุ่มศัตรูของเทพเจ้ารา
เทพเจ้ารานั้นสามารถเปลี่ยนร่างไปมาได้ โดยหากเทพเจ้าราทรงเกิดขึ้นตอนเช้าจะมีลักษณะเป็นเด็ก ตอนกลางวันจะมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนตอนเย็นจะมีลักษณะเป็นคนชรา และจะต้องตายในคืนนั้น ซึ่งเรื่องเล่านี้เกี่ยวพันกันกับตำนานของเทพเจ้าราในขณะที่ทรงปกครองโลก ตำรากล่าวไว้ว่า
เมื่อใดที่เทพเจ้าราเสด็จเดินทางโดยเรือในยามรัตติกาล พระองค์ก็จะจำแลงกายโดยเปลี่ยนศีรษะเป็นรูปหัวแกะ และพระองค์ก็ยังทรงมีพระนามอีกชื่อหนึ่งว่า “อัฟ-รา” หรือ “อัฟ” ซึ่งแปลว่า ซากศพของคนตาย พระองค์ทรงเดินทางตลอดเวลายาวนานสิบสองชั่วโมงในช่วงเวลาแห่งความมืด โดยเรือที่ทรงประทับ คือ “เมเซ็ค เค็ต” (เรือยามราตรี) หากกล่าวถึงความเชื่อของชาวไอยคุปต์แล้ว พวกเขาจะเห็นตรงกันว่า เมื่อฟาโรห์และมนุษย์ตายไปแล้ววิญญาณของพวกเขาจะไปอยู่ในรูปของดวงดาว ซึ่งจะมีหน้าที่ในการรับใช้หรือเป็นลูกเรือสุริยะ ดวงดาวทั้งหลายนี้ไม่ได้หายไปในช่วงเวลากลางวัน แต่จะไม่สามารถมองเห็นได้แม้ว่าพวกมันจะอยู่ที่เดิม ทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากแสงของดวงอาทิตย์ที่สาดส่องมาบดบังเหล่าดวงดาวไว้นั่นเอง
ทั่วทั้งอาณาจักรไอยคุปต์ต่างพากันสรรเสริญและเคารพบูชาเทพเจ้าราดันทั้งสิ้น เพราะพระองค์ถือเป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล รวมไปถึงหมู่มวลเทพยดาทั้งหลาย ในสมัยยุคอาณาจักรเดิม ที่มีบรรดาฟาโรห์ปกครองอาณาจักรไอยคุปต์ กษัตริย์เหล่านี้มักจะอ้างตนว่าเป็นโอรสของเทพเจ้าราเสมอ และมักจะสวมเครื่องรางรูปพระเนตร ซึ่งหมายถึงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์และสูงสุด อันแสดงถึงสัญลักษณ์ของเทพเจ้าราเอาไว้ด้วย
เทพบาเตส (Bastet) เทพเจ้าแห่งความรัก และความอุดมสมบูรณ์ ของอียิปต์

.jpg)
“Bastet” (เทวีบัสเตต) เป็นเทพเจ้าที่ชาวอียิปต์นับถือ เทพเจ้าองค์นี้มีกายเป็นคน แต่มีศีรษะเป็นแมว และถือเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก และความอุดมสมบูรณ์
ความเชื่อของชาวอียิปต์กล่าวไว้ว่า นอกจากแมวจะเป็นสัตว์ที่มีไว้จับหนูในโรงนาแล้ว แมวยังทำหน้าที่จับหนูบนเรือสินค้าได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นความเชื่อขึ้นมาว่า เมื่อเรือเดินสินค้าเข้าเทียบท่า แมวจึงเดินลงไปจากเรือ และไม่ได้กลับขึ้นเรืออีก ซึ่งเป็นผลให้แมวถูกขนายพันธุ์ไปทั่วโลกได้นั่นเอง
ชาวอียิปต์โบราณนั้นนับถือแมวเป็นอย่างมาก หากผู้ใดฆ่าแมวจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก และถือว่าแมวเป็นสัตว์เทพเจ้าของอียิปต์โบราณ หากบ้านใดมีแมวเสียชีวิตในบ้าน จะต้องนำเอาศพแมวเหล่านั้นไปทำมัมมี่ด้วย (ความเชื่อเดิมกล่าวไว้ว่า มัมมี่คนจะทำกับบุคคลที่เป็นราชวงศ์และขุนนางเท่านั้น) ซึ่งหากคุณต้องการเห็นมัมมี่แมว สามารถหาดูได้ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆในประเทศอังกฤษ
ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้ จึงทำให้บุคคลที่ต้องการยึดอำนาจการปกครองอาณาจักรอียิปต์โบราณ ออกอุบาย “อุ้มแมวไปรบ” ซึ่งส่งผลให้พวกทหารอียิปต์ไม่สามารถสู้ศัตรูได้ (แมวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรบ แต่อียิปต์ไม่ได้ล่มสลายเพราะแมว) และแม้ว่าอียิปต์โบราณจะหมดยุคไปแล้ว แต่ชาวอียิปต์ในสมัยก่อนก็ยังคงนับถือบูชาแมวเช่นเดิม ถึงขนาดที่หากชาวโรมันคนไหนฆ่าแมว ก็ยังต้องถูกพวกอียิปต์ลงทัณฑ์เลย
เวลาผ่านไปจนล่วงเข้าสู่ยุคกลางในยุโรป ก็เกิดมีความเชื่อเรื่องแม่มดและความชั่วร้ายต่างๆเข้ามา ชาวยุโรปในยุคที่ว่านี้กล่าวอ้างว่า แมวโดยเฉพาะแมวดำเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด เพราะฉะนั้น หากบุคคลใดเลี้ยงแมว ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดร้าย และหากบุคคลนั้นเป็นคนแก่ด้วยแล้ว บุคคลพวกนี้ก็มักจะโดนทำโทษโดยการเผาทั้งเป็นร่วมกันทั้งคนและแมว เมื่อแมวถูกฆ่าเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้หนูมีปริมาณมากขึ้น และเกิดเป็นโรคระบาดอย่างหนักในยุโรปสมัยนั้น
ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกัน ชาวเอเชียอย่างชาวญี่ปุ่นและชาวจีน ก็เริ่มหันมาเลี้ยงแมวกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ ในประเทศญี่ปุ่น ยังใช้แมวเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำโชคอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากตุ๊กตา “แมวกวัก” ที่มักวางโชว์กันหน้าร้านค้า เพื่อใช้กวักเรียกลูกค้าหรือกวักเงินให้ไหลมาเทมานั่นเอง
ส่วนชาวจีนก็เชื่อกันว่า แมวเป็นสัตว์นำโชคเช่นกัน เนื่องจากเมื่อแมวเข้ามาอยู่ในบ้านของมนุษย์คนใด ก็ต่อเมื่อมันพอใจที่จะอยู่เท่านั้น และเมื่อมันเข้ามาอยู่ในบ้านกับเจ้าของบ้านแล้ว ก็มักจะนำโชคลาภเข้ามาสู่เจ้าของบ้านได้เสมอ
เทพอานูบิส (Anubis) เทพแห่งความตายของชาวอียิปต์


อานูบิส (Anubis) เป็นหนึ่งในเทพเจ้าของชาวอียิปต์ ซึ่งเทพเจ้าองค์นี้มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของชาวอียิปต์อย่างยิ่ง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก อานูบิสเป็นเทพแห่งความตาย และเป็นเทพสำคัญในการทำมัมมี่ ในพิธีการทำศพของชาวอียิปต์โบราณ และโลกหลังความตายของมนุษย์ จึงมีเทพองค์นี้ประกอบอยู่ในเรื่องราวและมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก
การนับถือเทพอานูบิสมีที่มาจากเมือง อาบิโดส (Abydos) ที่อยู่ทางตอนเหนือของอียิปต์ แต่มีศูนย์กลางของความเชื่อดังกล่าวนี้อยู่ที่เมืองไซโนโปลิส (Cynopolis) ที่ตั้งอยู่ในอียิปต์ตอนเหนือ
เชื่อกันว่า พิธีกรรมการนับถือเทพอานูบิสมีมาอย่างยาวนานมากแล้ว และมีการสร้างรูปปั้นหมาในสีดำหรือสีทอง ขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของเทพองค์นี้อยู่บ้างด้วย ลักษณะของเทพอานูบิสเป็นเทพที่มีลำตัวเป็นมนุษย์ แต่มีส่วนศีรษะไปจนถึงคอเป็นหมาในสีดำ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าการที่ลักษณะของเทพอานูบิสมีใบหน้าเป็นหมาใน ก็เพราะสัตว์ชนิดนี้มักจะหากินในช่วงกลางคืน และพบได้บ่อยแถวๆสุสานของคนตาย ด้วยเหตุนี้ เทพอานูบิสจึงถูกชาวอียิปต์นับถือกันในนามเทพผู้พิทักษ์คนตายและสุสานนั่นเอง ส่วนอาวุธในมือของเทพอานูบิส เป็นคทา คนบางคนอาจเรียกเทพองค์นี้ว่า อันปุ (Anpu)
เทพอานูบิสมีหน้าที่หลัก คือ การนำดวงวิญญาณของคนตายไปสู่ยมโลก ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิญญาณผู้นั้นได้รับผลกรรมที่ตนได้ทำเอาไว้ก่อนตาย ต่อหน้าองค์เทพโอซิริส (Osiris) โดยการตัดสินจะทำโดย เทพอานูบิสจะวางหัวใจของผู้ตายเอาไว้บนตาชั่งข้างหนึ่ง และวางขนนกได้รับมาจากเทพมูอาท (Muat) เอาไว้ที่ตาชั่งข้างหนึ่ง หากหัวใจของผู้ตายมีน้ำหนักเบากว่าขนนก แสดงว่าผู้ตายเคยทำกรรมอันเป็นกุศลไว้มาตั้งแต่ตอนที่คนผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งสมควรที่จะได้รับพรให้มีชีวิตเป็นนิรันดร์จากเทพโอชิริส และเดินทางไปอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า “Fields of the Reed” หรือสวรรค์ของชาวอียิปต์นั่นเอง ในทางตรงกันข้าม คนที่มีน้ำหนักของหัวใจมากกว่าขนนก ก็จะถูกสัตว์ที่เป็นอสูรที่มีนามว่า อัมมุท (Ammut) กลืนกินหัวใจของดวงวิญญาณดวงนั้นเข้าไปทันที ทำให้ดวงวิญญาณดวงนั้นสูญสลายหายไปตลอดกาล และถือว่าเป็นการตายแบบถาวรที่ไม่สามารถฟื้นคืนชีพกลับคืนมาได้อีก
กล่าวถึงตำนานความเป็นมาเป็นไปของเทพอานูบิสกันบ้าง มีความเชื่อกันว่า อานูบิส เป็นโอรสระหว่างเทพเซต (Set) และ เทพีเนฟทิส (Nephtys) ซึ่งถือเป็นหลานของเทพโอซิริส (Osiris) และ เทพีไอซิส (Isis) ด้วย แต่บางตำราก็ได้กล่าวไว้ว่า เทพอานูบิสเคารพนับถือเทพีไอซิสเสมือนเป็นแม่แท้ๆของตนเอง ส่วนที่มาของมัมมี่ก็เริ่มต้นมาจากเทพองค์นี้นี่เอง โดยกล่าวอ้างไปถึงตำนานของเทพโอซิริส ในครั้งที่เทพเซ็ตกำลังตามล่าเทพโอซิริสและเทพีไอซิส เทพโอซริสได้ถูกเทพเซตสังหารไป และมีอานูบิสผู้นี้คอยรับอาสาเป็นผู้ดูแลรักษาพระศพของเทพโอซิริส เทพอานูบิสจึงได้สัญญากับพระมารดาทั้งสองว่าตนเองจะเป็นผู้ดูแลร่างของโอซิริสไว้ให้ปลอดภัยเอง ว่าแล้ว เทพอานูบิสได้ใช้ขี้ผึงสูตรเฉพาะที่ตนเองสร้างขึ้นมา บวกกับผ้าลินินสีขาวที่ทอขึ้นจากฝีมือของเทพีไอซิส และเนฟทีส มาห่อหุ้มศพร่างนั้นเอาไว้ จากตำนานที่กล่าวมานี้เอง ทำให้เทพอานูบิสถูกนับถือให้เป็นเทพผู้พิทักษ์คนตายและคอยนำทางวิญญาณไปสู่โลกหลังความตาย ทำให้ในสมัยโบราณ นักบวชที่ทำพิธีกรรมเกี่ยวกับศพจะสวมหน้ากากที่มีลักษณะเป็นรูปหมาใน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการบูชาเทพอานูบิสนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น